วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

SCCกำไรพุ่ง9.97พันล้าน กูรูเชียร์ซื้อเป้า540บาท

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: SCCกำไรพุ่ง9.97พันล้าน
กูรูเชียร์ซื้อเป้า540บาท
ข่าวหน้าหนึ่ง วันพุธที่ 30 เมษายน 2557
ผู้เข้าชม : 19 คน
วันนี้ “ปูนใหญ่” แจ้งงบไตรมาส 1/57 ลุ้นโชว์กำไรสุทธิ 9.97 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% อานิสงส์ธุรกิจปิโตรเคมีเติบโต รับส่วนต่างราคาปรับตัวสูงขึ้นและปริมาณการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น คาดรายได้ทะลุ 1.13 แสนล้านบาท แนะซื้อเป้า 540 บาท



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (30 เม.ย. 57) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC จะประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 1/57 โดยบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) คาดว่า SCC จะประกาศกำไรสุทธิไตรมาส 1/57 ที่ 9.97 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 22% จากไตรมาส 4/56 โดยผลประกอบการที่จะดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากธุรกิจปิโตรเคมี (ส่วนต่างราคาปรับตัวสูงขึ้นและปริมาณการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น) และธุรกิจซีเมนต์ (ราคาและปริมาณการขายที่สูงขึ้น)

ขณะที่กำไรสุทธิที่ดีขึ้นจากไตรมาส 4/56 มาจากทุกธุรกิจหลัก ทั้งนี้ กำไรของธุรกิจปิโตรเคมีและธุรกิจกระดาษที่เพิ่มขึ้นมากจากไตรมาส 4/56 มาจากการเทียบฐานต่ำจากการปิดซ่อมโรงงาน 2 แห่ง ขณะที่ไตรมาสหนึ่งเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของธุรกิจซีเมนต์ ดังนั้น จึงแนะนำ "ซื้อ" ให้ราคาเป้าหมาย 500 บาท/หุ้น

บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) คาดว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 1/57 SCC จะมีกำไรสุทธิ 9,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.5% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 12.4% จากปีก่อน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากธุรกิจปิโตรเคมีมีรายได้เพิ่มขึ้นหลังโรงงานปิโตรเคมี (MOC) กลับมาเดินเครื่องเต็มที่หลังหยุดซ่อมใหญ่ตามแผน 45 วันในไตรมาส 4/56 และส่วนต่างระหว่างราคาปิโตรเคมีและวัตถุดิบ (Margin) เพิ่มขึ้น ธุรกิจซีเมนต์มีกำไรเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลและราคาขายปูนปรับขึ้นต่อเนื่อง

ส่วนธุรกิจกระดาษคาดกำไรฟื้นตัวจากไตรมาสก่อนเล็กน้อยตามฤดูกาล แต่ชะลอตัวจากปีก่อนตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ ยังคงคาดการณ์กำไรปกติปี 2557 อยู่ที่ 37,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% จากปีก่อน หลักๆ มาจาก Margin ธุรกิจปิโตรเคมีที่เพิ่มขึ้นจากแนวโน้มต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง ราคาหุ้นปัจจุบันเทรดที่ P/E 13.6 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต 14-15 เท่า และมีอัพไซด์ 10.3% จึงยังแนะนำ "ซื้อ"

ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) ประเมินว่าธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างช่วงไตรมาส 1/57 ของ SCC ยังคงมีอัตราการเติบโตขึ้นได้เล็กน้อยเทียบกับช่วงไตรมาส 1/56 จากโครงการก่อสร้างในประเทศที่ดำเนินการต่อเนื่องมาจากปีก่อน รวมไปถึงการขยายฐานธุรกิจไปต่างประเทศ โดยราคาวัสดุก่อสร้างส่วนใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงคาดว่า SCC จะมีกำไรจากธุรกิจดังกล่าวใกล้เคียงกับไตรมาส 1/56

ทั้งนี้ แนวโน้มธุรกิจที่ยังคงเติบโตได้ดีตามการขยายตัวของเศรษฐกิจในอาเซียน เชื่อว่าปี 2557 SCC จะมีกำไรเติบโต 7% จากปีก่อน เป็น 39,342 ล้านบาท โดยฝ่ายวิจัยกำหนด Fair Value ด้วยวิธี DCF จะให้ราคาเหมาะสมที่ 520 บาท เทียบเท่า PER 15.86 เท่า มี Upside อีก 22% แนะนำ “ซื้อ”

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ระบุว่า คาดไตรมาส 1/57 รายได้ของ SCC ยังเติบโต โดยปิโตรเคมียังหนุนผลประกอบการ คาดรายได้อยู่ที่ 1.13 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิไตรมาส 1/57 คาดว่าจะอยู่ที่ 9.34 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากไตรมาสก่อน และ 6% จากปีก่อน ซึ่งยังคงได้รับแรงหนุนจากธุรกิจปิโตรเคมีที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากสัญญาณเศรษฐกิจในหลายประเทศส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น โดย HDPE-Naphtha Spread ยังคงอยู่ในระดับที่สูง 620-640 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ส่วนธุรกิจปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้จากโครงการที่ยังมีการดำเนินการก่อสร้างอยู่

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยทางการเมืองที่ยังกดดันอยู่ ทำให้การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนชะลอตัว ซึ่งจะเห็นความชัดเจนในครึ่งหลังปี 2557 นอกจากนี้ ยังมีแผนการที่จะขยายธุรกิจใน Regional อย่างต่อเนื่องโดยจะเป็นลักษณะ M&A หรือ Joint Venture เพื่อต่อยอดและขยายฐานธุรกิจเดิม ยังคงแนะนำซื้อ ที่ราคาเป้า 540 บาท บนฐาน Avg P/BV ที่ 3 เท่า

บริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) คาดกำไรไตรมาส 1/57 ของ SCC ยังโดดเด่น และเติบโตเท่ากับ 9,588 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากไตรมาสก่อน และ 9% จากปีก่อน แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง โดยได้แรงหนุนสำคัญจากธุรกิจปิโตรเคมีที่เข้าสู่วัฏจักรขาขึ้น

ส่วนธุรกิจปูนซีเมนต์-วัสดุก่อสร้างยังมีการเติบโตแม้ไม่โดดเด่น จากการก่อสร้างในโครงการต่างๆ ยังต่อเนื่อง แนวโน้มผลประกอบการในปี 2557 คาดกำไรจะยังเติบโต 5% สู่ระดับ 38,514 ล้านบาท ได้แรงหนุนจากธุรกิจปิโตรเคมีที่เข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ขณะที่ชัพพลายใหม่เพิ่มไม่มากเพียง 3% ยังคงตั้งเป้าลงทุนปีนี้ 4-5 หมื่นล้านบาท ภายใต้แผน 5 ปี ลงทุน 2-2.5 แสนล้านบาท เน้นภูมิภาคอาเซียนสนับสนุนการเติบโตระยะยาว คงคำแนะนำซื้อ ราคาเป้าหมาย 500 บาท

posted from Bloggeroid

วันอังคารที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557

ประชุมผู้ถือหุ้น‘บินไทย’ป่วน

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: ประชุมผู้ถือหุ้น‘บินไทย’ป่วน

บริษัทจดทะเบียน วันพุธที่ 30 เมษายน 2557
ผู้เข้าชม : 7 คน
ผู้ถือหุ้น THAI ป่วน วอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม ประท้วงค่าตอบแทนบอร์ด พร้อมยื่นข้อเสนอปรับโครงสร้างกรรมการเหลือแค่ 8 คน ประธานบอร์ดคนใหม่วอนทุกฝ่ายร่วมมือนำ THAI ฝ่าวิกฤติ หวังกลับมาเป็นที่ยอมรับอีกครั้ง



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2557 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) วานนี้ (29 เม.ย.) ได้เกิดเหตุวุ่นวายในช่วงแรกของการประชุม เนื่องจากผู้ถือหุ้นรายหนึ่งเสนอให้ THAI ปรับโครงสร้างบอร์ด จากปัจจุบัน 15 คน เหลือเพียง 8-9 คน เช่นเดียวกับสายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ เพราะเห็นว่าค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบอร์ดสูงเกินไป โดยได้ค่าตอบแทนเฉลี่ยคนละ 1.5-1.6 ล้านบาทต่อปี และควรมอบให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาปรับปรุง THAI พร้อมทั้งเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นร่วมกับวอล์กเอาต์ออกจากห้องประชุม เพื่อให้องค์ประชุมเหลือน้อยกว่า 25 คน จนไม่สามารถเปิดการประชุมได้ ซึ่งผู้ถือหุ้นบางส่วนได้พากันลุกออกจากห้องประชุม

อย่างไรก็ตามพบว่าผู้ถือหุ้นบางส่วนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว และมีการแสดงความเห็นโต้ตอบกัน เช่น นางนิลุบล บัวน้อย ผู้ถือหุ้นรายหนึ่งแสดงความเห็นว่า ขอให้ผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมอย่างสงบ และให้ประธานดำเนินการประชุมต่อไป เพื่อช่วยกันหาทางออกให้กับ THAI ดีกว่าใช้อารมณ์ตัดสิน และใช้วิธีประท้วงแบบพวกมากลากไป

นอกจากนี้ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ยังแสดงความเห็นโจมตีนายอำพน และไม่ต้องการให้กลับมาดำรงตำแหน่งกรรมการ THAI ต่อไป เนื่องจากนายอำพนเป็นต้นเหตุที่ทำให้ THAI ขาดทุนนับหมื่นล้านบาท รวมทั้งนโยบายการจัดหาเครื่องบิน ซึ่งปี 2556 เป็นปีที่ THAI จัดหาเครื่องบินสูงสุดนับแต่ก่อตั้งบริษัท คือ 17 ลำ แต่กลับขาดทุนเกือบทุกเส้นทาง

ด้านพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) THAI ได้กล่าวกับผู้ถือหุ้นว่า อยากให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่นในลักษณะการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างผู้ถือหุ้นกับผู้บริหาร และไม่อยากให้โต้ตอบกันมากเกินไปจนหมดเวลา

ทั้งนี้ ตนรับทราบปัญหาของ THAI มาโดยตลอด ซึ่งหลังจากได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานบอร์ดเมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมาพบว่า THAI กำลังเผชิญสภาวะการแข่งขันสูงมากและสถานการณ์ต่างๆ ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งการทำงานมีลักษณะราชการสูงเกินไป จึงได้ปรับนโยบายการทำงาน และปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะประเมินผลภายใน 6 เดือนว่าโครงสร้างใหม่ทำให้การดำเนินงานดีขึ้นหรือไม่

นอกจากนี้เรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบทำคือ การเสริมสร้างความเชื่อมั่นของลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน ให้กลับคืนมา และต้องเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างบอร์ด ฝ่ายบริหารและพนักงาน เพื่อให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่น

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวต่อว่า จากปัญหาผลประกอบการปี 2556 ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยขาดทุนสุทธิถึง 12,000 ล้านบาท และเมื่อพิจารณาผลประกอบการในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าไม่มีความคงที่ จึงต้องปรับปรุงการดำเนินธุรกิจ โดยแผนการดำเนินงานปี 2557 คือ เร่งเพิ่มรายได้จากธุรกิจหลักและธุรกิจเสริมแบบเชิงรุก จัดเครือข่ายการบินให้เหมาะสม บริหารค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับสภาพการที่เปลี่ยนแปลง ทำงานให้รวดเร็วทันต่อสถานการณ์ เช่น การปรับค่าโดยสาร และการสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

“THAI เป็นสายการบินแห่งชาติที่เราภาคภูมิใจ ผมอยากให้ THAI กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ให้ทั่วโลกยอมรับเราอีกครั้ง จึงขอให้ทุกฝ่ายในองค์กรร่วมมือกัน ช่วยกันแก้ปัญหา และช่วยป้องกันการแทรกแซงจากภายนอก เพราะผมเห็นว่า THAI ยังมีความแข็งแกร่ง มีบุคลากรที่มีความสามารถ ถ้าเราช่วยกันก็จะฝ่าฟันอุปสรรคไปได้” พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

posted from Bloggeroid

วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2557

บัวหลวงไล่เก็บ PCSGH อัพไซด์สูง50เปอร์เซ็นต์

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: บัวหลวงไล่เก็บ PCSGH
อัพไซด์สูง50เปอร์เซ็นต์
ข่าวหน้าหนึ่ง วันจันทร์ที่ 28 เมษายน 2557
ผู้เข้าชม : 17 คน
กองทุนบัวหลวงทยอยเก็บ พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ปโฮลดิ้ง หรือ PCSGH ดันราคาทะลุ 10 บาท สูงกว่าจองที่ 8.6 บาท วอลุ่มทะลักวันละ 300-400 ล้านบาท โบรกฯมองอัพไซด์ยังสูงกว่า 50% โดดเด่นสุดในหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ เป้าหมาย 15.96 บาท



แหล่งข่าวจากที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า ช่วงตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา บรรดากองทุนรวมเข้ามาทยอยเก็บหุ้นบริษัท พี.ซี.เอส.แมชีน กรุ๊ปโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ PCSGH เป็นจำนวนมาก หลังจากราคาหุ้นต่ำกว่าไอพีโอ 8.60 บาท โดยเป็นที่รู้กันว่ากองทุนบัวหลวงเป็นรายที่เก็บเข้าพอร์ตมากที่สุด จากปัจจุบันที่ถืออยู่แล้วประมาณ 1.6%

“กองทุนบัวหลวงเข้ามาเก็บ PCSGH มากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่จะเก็บให้ได้ไม่ต่ำกว่า 5% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ขณะที่โบรกเกอร์ให้ราคาเป้าหมายไว้ 15 บาท ยังมีอัพไซด์เหลืออีกกว่า 50%”

สาเหตุที่กองทุนเข้ามาให้ความสนใจกับหุ้น PCSGH เนื่องจากหุ้นตัวนี้ PE ยังต่ำ เพียงแค่ 11 เท่า และยังเป็นผู้นำผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของประเทศ มีมาร์จิ้นจากการขายสูงกว่า 30% ขณะที่แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์คาดว่าจะฟื้นตัวภายในครึ่งปีหลังนี้

ดังนั้น จึงเข้ามาทยอยเก็บหุ้นเข้าพอร์ต โดยเริ่มเก็บมาตั้งแต่ช่วงวันที่ 11 เม.ย.เป็นต้นมา สังเกตได้จากวอลุ่มการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นเป็นระดับ 300-400 ล้านบาทต่อวัน จากปกติซื้อขายกันเพียง 10-20 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมากว่า 15-17% มายืนอยู่ที่ 10.40 บาท เมื่อวันที่ 24 เม.ย. จากราคาจองที่ 8.60 บาท

สำหรับรายชื่อผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย 1.นายศิริพงษ์ รุ่งโรจน์กิติยศ ถือ 37.41% 2.นางวรรณา เรามานะชัย ถือ 37.41% 3.กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว ถือ 1.11% 4.นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ถือ 0.99% 5.AIA Company Limited-TIGER ถือ 0.97% 6.น.ส.ศุภกัณญา สาธิตธาดา ถือ 0.77% 7.RBC INVESTOR SERVICES TRUST ถือ 0.68%

8.AIA Company Limited-APEX ถือ 0.65% 9.HSBC (SINGAPORE) NOMINEES PTE LTD ถือ 0.65% 10.บริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา จำกัด (มหาชน) ถือ 0.65% 11.น.ส.จันทร์จรัส อ่อนละมัย ถือ 0.59% และ 12.กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว 75/25 ถือ 0.52%

ด้านนักวิเคราะห์ แนะนำซื้อ PCSGH กำหนด Fair Value อิง PER ระดับ 10-12 เท่า เทียบเท่าค่าเฉลี่ย PER ของกลุ่มยานยนต์ จะให้มูลค่าเหมาะสมสิ้นปี 2557 ของ PCSGH อยู่ที่ 13.30-15.96 บาทต่อหุ้น

โดยคาดยอดขายของ PCSGH เติบโตเฉลี่ย 5.4% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า (ปี 2556-2558) ประสิทธิภาพการทำกำไรโดดเด่นสุดในกลุ่มฯ มี Net Margin สูงเหนือ 30% ประสิทธิภาพการทำกำไรที่ดีเยี่ยมผ่านกิจกรรมลดต้นทุน ส่งผลให้ Gross Margin เฉลี่ยสูงกว่า 35% โดดเด่นมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ในตลาดระดับ 17%

นอกจากนี้ ยังได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากบีโอไอ ทำให้ไม่มีภาระด้านภาษี คาด Net Profit Margin ปรับเพิ่มเป็น 32% ในปี 2556 เป็น 32.3% ในปี 2558 เป็นแรงผลักดันให้ปี 2556 มีกำไรสุทธิ 1,813 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 2,006 ล้านบาท ในปี 2558 แต่ผลจากการเพิ่มทุน จะส่งผล Dilution Effect ต่อ EPS ทำให้ Fully Diluted EPS ปี 2556 เท่ากับ 1.27 บาท/หุ้น ลดลง 14.3% yoy แต่จะเพิ่มขึ้น 4.6% เป็น 1.33 บาท/หุ้น ในปี 2557 อิงPER ระดับ 10-12 เท่า ให้มูลค่าเหมาะสมสิ้นปี 2557 อยู่ที่ 13.30-15.96 บาท

posted from Bloggeroid

JASบุ๊คกำไร3หมื่นล้าน ขายอินฟราฯฟันด์มิ.ย.นี้ ปีนี้ลูกค้า 1.7 ล้านราย ขึ้นเบอร์ 1 บรอดแบนด์

JASบุ๊คกำไร3หมื่นล้าน
ขายอินฟราฯฟันด์มิ.ย.นี้
ปีนี้ลูกค้า 1.7 ล้านราย ขึ้นเบอร์ 1 บรอดแบนด์
ข่าวหน้าหนึ่ง วันจันทร์ที่ 28 เมษายน 2557
ผู้เข้าชม : 10 คน
"JAS" จ่อขายกองทุนอินฟราฯ 7 หมื่นล้านบาทเดือนมิ.ย.นี้ คาดได้กำไรจากขายสินทรัพย์เข้ากองทุนราว 3 หมื่นล้านบาท ดันกำไรปีนี้เติบโตกว่าปีก่อน ตั้งเป้าสิ้นปีนี้มีลูกค้า 1.7 ล้านราย ขึ้นเบอร์ 1 ธุรกิจบรอดแบนด์ โบรกฯแนะ “ซื้อ” เป้า 11.20 บาท





นายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เปิดเผยว่า การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) สำหรับธุรกิจบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต มูลค่า 70,000 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถจัดตั้งได้ในช่วงเดือนมิ.ย. 2557 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

โดยบริษัทคาดว่าจะมีกำไรจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนฯประมาณ 30,000 ล้านบาท และบริษัทมีแผนนำเงินกำไรจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนฯไปใช้ขยายธุรกิจจำนวน 10,000 ล้านบาท ทำให้คาดว่าปีนี้จะใช้งบลงทุนเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปกติ 1,500-2,000 ล้านบาท เป็น 3,000-4,000 ล้านบาท เพื่อขยายโครงข่ายเพิ่มเติมในจุดที่ประชากรไม่หนาแน่นทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ส่วนที่เหลือบริษัทจะนำไปจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นและผู้ที่ถือหน่วยลงทุน

"บริษัทคาดว่าจะมีกำไรจากการนำสินทรัพย์ขายเข้ากองทุน IFF ประมาณ 30,000 ล้านบาท แต่จะทยอยบันทึกเป็นกำไรพิเศษกี่ปีขึ้นอยู่กับก.ล.ต.และผู้ตรวจสอบบัญชี จะทำให้กำไรของบริษัทในปีนี้สูงขึ้นจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,002.51 ล้านบาท" นายพิชญ์ กล่าว

นายพิชญ์ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้นำในตลาดบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่การให้บริการมากที่สุดในประเทศ ดังนั้นบริษัทจึงมีแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนฯให้มีขึ้น เพราะเชื่อว่าการระดมทุนในการจัดตั้งกองทุนฯดังกล่าวจะประสบความสำเร็จด้วยดี

ทั้งนี้ เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาและขยายโครงข่ายการให้บริการอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งยังเป็นการรองรับการขยายตัวไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีโครงข่าย หรือการขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทมีการเติบโตในอนาคตอย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามโครงข่ายที่จะนำไปขายเข้ากองทุนฯมีลูกค้าใช้งานอยู่ประมาณ 1.6-1.7 ล้านรายซึ่งกลุ่มบริษัทเช่ากลับมาใช้งาน คงเหลือให้ผู้ประกอบการรายอื่นมาเช่าไม่มาก

นอกจากนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายในปีนี้จะขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ในธุรกิจบรอดแบนด์ระบบ ADSL จากปีก่อนที่อยู่ในอันดับที่ 2 รองจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE โดยในไตรมาส 1/2557 บริษัทมีลูกค้าใหม่ของบริการบรอดแบนด์ประมาณ 60,000 ราย และคาดว่าทั้งปีจะมีลูกค้าใหม่สุทธิเพิ่มขึ้น 230,000-240,000 ราย ทำให้คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีฐานลูกค้ารวมเพิ่มเป็น 1.7 ล้านราย จากปีก่อนมีฐานลูกค้าอยู่ที่ 1.4 ล้านราย ขณะที่ลูกค้าธุรกิจบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสง (FTTX) อยู่ที่ 20,000 ราย

ส่วนธุรกิจ Wifi ที่ทำสัญญาให้บริการกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ตั้งเป้าหมายมีลูกค้า Wifi อยู่ที่ 600,000 ราย ขณะเดียวกันมีการหารือกับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ซึ่งคาดว่าเร็วๆ นี้จะได้ข้อสรุปในการร่วมมือกัน

นายพิชญ์ กล่าวว่า บริษัทมีโอกาสเติบโตในธุรกิจบรอดแบนด์ต่อไปได้อีกมาก เนื่องจากในปี 2555 สัดส่วนการใช้บริการบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงต่อครัวเรือนในประเทศไทยมีเพียง 18.9% เท่านั้น ซึ่งไม่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีสัดส่วนการใช้บริการมากกว่า 50%

บริษัทหลักทรัพย์ เคเคเทรด จำกัด ระบุว่า ในปี 2557 JAS ตั้งเป้าหมายลูกค้า Broadband Internet 1.5 ล้านราย ทำให้ประมาณการรายได้เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน เป็น 12,266 ล้านบาท ในจำนวนนี้รายได้บริการ Broadband Internet มีสัดส่วน 86% และมีฐานรายได้แตะ 10,000 ล้านบาทเป็นปีแรก จากการเติบโตของจำนวนลูกค้าและการขยายพื้นที่ให้บริการ คาดว่าผลการดำเนินงานจากธุรกิจปกติจะมีกำไร 3,289 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน

ขณะที่ตามประมาณการคาดว่าปีนี้กระแสเงินสดจากธุรกิจปกติเพิ่มขึ้น 5% และมีกระแสเงินสดปี 2557-2559 เพิ่มขึ้นต่อปี 7% หากจัดตั้ง IFF มูลค่า 60,000-70,000 ล้านบาท สำเร็จ JAS น่าจะได้รับเงินสุทธิราว 25,000-30,000 ล้านบาท รองรับการลงทุนและจ่ายเงินปันผลสูงขึ้น คาดปีนี้จ่ายเงินปันผลหุ้นละ 0.28 บาท ให้ผลตอบแทน 3% ดังนั้นแนะนำ “ซื้อ” มูลค่าเหมาะสม 11.20 บาท

posted from Bloggeroid

โจรกลับใจไม่ใช่พระเอก

‘โจรกลับใจ’ ไม่ใช่พระเอก

คอลัมน์ วันจันทร์ที่ 28 เมษายน 2557 
ผู้เข้าชม : 9 คน 

            สัปดาห์ที่ผ่านมามีทั้งสัญญาณดีและร้ายต่อสถานการณ์บ้านเมือง สัญญาณร้ายคือการฆาตกรรม “ไม้หนึ่ง ก.กุนที” กวีแกนนำเสื้อแดง ซึ่งน่าวิตกว่าเป็นการ “เก็บ” ตามบัญชีดำ ซ้ำปฏิกิริยาที่สะท้อนออกมายังชี้ว่าคนไทย 2 ฝ่ายเกลียดชังกันรุนแรง ในขณะที่ฝ่ายหนึ่งโกรธแค้น อีกฝ่ายกลับสะใจ

            แต่ก็มีสัญญาณดีที่ศาลรัฐธรรมนูญเลื่อนวินิจฉัยถอดถอนนายกฯ ออกไปหลังวันที่ 6 พ.ค. ซึ่งเปรียบเสมือนเลื่อน “ดีเดย์แตกหัก” ถัดจากนั้น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็ทำเซอร์ไพรส์ เสนอทางออก “ปฏิรูปพร้อมเลือกตั้ง” ยอมรับว่ารัฐประหาร ศาล ม็อบ ล้วนไม่ใช่ทางออก

           ไม่ใช่เวลาที่จะโทษกันไปกันมาว่าเป็นความผิดของใคร เพราะทุกคนล้วนมีส่วนทำให้ประเทศมาอยู่ตรงนี้  รวมทั้งผมและพรรคประชาธิปัตย์ด้วย”

           แหม น้ำตาจะไหล หล่อ เท่ ดี มีสปิริตเสียกระไร ประเทศไทยเห็นแสงสว่างรำไร ไชโย

           แต่เอ๊ะ ก็เพราะ ปชป.ไม่ลงเลือกตั้งไม่ใช่หรือ สถานการณ์จึงลุกลามมาถึงวันนี้ ที่เป่านกหวีดปรี๊ดๆ ก็สมาชิกพรรคทั้งนั้นไม่ใช่หรือ ป่วนเมืองมา 6 เดือน เมื่อถึงทางตันดันทุรังไม่ไหว ไหงโดดเรือมาโชว์หล่อ ขอเป็นผู้นำการปฏิรูป เป็นพระเอกแต่ผู้เดียว

           ประวัติศาสตร์จะจารึกว่าบ้านเมืองพ้นวิกฤตเพราะอภิสิทธิ์เป็นตัวกลาง อย่างนั้นหรือ

           พูดอย่างนี้ไม่ใช่คัดค้านสิ่งที่อภิสิทธิ์เสนอ เห็นด้วยสิครับ ถ้าจะกลับสู่แนวทางที่ถูกต้องตามครรลองประชาธิปไตย หาทางออกให้ประเทศ เจรจาหาทางเลือกตั้งอย่างมีเงื่อนไข เลือกตั้งเพื่อปฏิรูป แม้ยังไม่รู้จะลงเอยอย่างไร แต่ก็ดีกว่าไปสู่สงครามกลางเมืองที่เห็นอยู่ข้างหน้า

          แต่บอกก่อนนะว่าคุณคือโจรกลับใจ ไม่ใช่พระเอก แล้วก็ยังไว้วางใจไม่ได้ว่าจะเล่นเล่ห์อะไรอีกหรือเปล่า

          การพลิกท่าทีของขั้วอำนาจเก่าที่มุ่ง “โค่นระบอบทักษิณ” ไม่ได้เกิดจากความเต็มใจ แต่เพราะเห็นว่าดันต่อไปไม่ได้ จะฉิบหายกันทุกฝ่าย สมมติศาลไม่แยแสใคร สั่งถอดถอนยิ่งลักษณ์ นำไปสู่นายกฯ คนกลาง ก็สามารถทำได้ อ้างได้ว่านี่คืออำนาจศาลทุกคนต้องเชื่อฟัง ศาลอยู่เหนืออำนาจ 3 ฝ่าย อย่างบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อ้าง แต่แนวโน้มคือเสื้อแดงไม่ยอมแน่ จะต้องลุกฮือต่อต้าน ทำให้เกิด failed state ย้อนรอยกัน สิ่งที่ตามมาคือสงครามกลางเมือง โดยคนทั้งสองข้างที่ไม่มีใครห้ามได้ จะลากอาวุธออกมาฆ่าฟันกันเอง

          ซึ่งภาคธุรกิจ คนทำมาหากิน ไม่อยากเห็นแน่ กระแสยับยั้งสงครามกลางเมืองจึงก่อตัวขึ้นทั้งเงียบๆ และเปิดเผย ขั้วอำนาจเก่าจึงขยาด ไม่กล้าแตกหัก แต่ก็ยังไม่รู้จะเอาอย่างไร จะเลือกแนวทางกลุ่มเฒ่าทารกเสนอพระบรมราชโองการหรือ ก็เท่ากับดึงสถาบันสูงสุดลงมาคลุกการเมือง

          หมากที่อภิสิทธิ์เดิน หรือใครให้อภิสิทธิ์เดิน จึงฉลาดมาก เท่ากับสถานการณ์สร้างโจรเป็นวีรบุรุษ แต่ไม่ว่ากัน ถ้าจริงใจ ถ้าทำสำเร็จ ตบมือให้ด้วยซ้ำ เพราะประเทศจะหาทางออกได้ ก็ต้องมีตัวกลางของแต่ละฝ่าย โน้มน้าวจูงใจไปสู่การเจรจา

          เอาสิครับ ถ้าทำสำเร็จ ตกลงวันเลือกตั้งได้ เจรจาตั้งเงื่อนไขปฏิรูปได้ สมมติตั้งสภาปฏิรูป เลือกตั้งรัฐบาลชั่วคราว อภิสิทธิ์ก็จะได้ลงเลือกตั้งอย่างสง่าผ่าเผย ให้สัมภาษณ์ BBC, CNN โดยไม่ต้องพึ่งปี๊บ ถ้าประชาชนนิยมก็เอาตำแหน่งนายกฯไป

          เพียงแต่ยังไว้วางใจไม่ได้ เพราะไม่ใช่ความตระหนัก ความเต็มใจ อย่างที่พูดไปแล้ว สถานการณ์ยังพร้อมจะพลิกไปพลิกมา อยู่ที่ความเข้มแข็งของสังคม ว่าจะช่วยกันประคองให้สองฝ่ายหาทางลงได้หรือเปล่า

ใบตองแห้ง

27 เม.ย.57

วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2557

ราคาหุ้นรายตัวไตรมาสแรก ปี 2557 รายงานพิเศษ วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2557 

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: ราคาหุ้นรายตัวไตรมาสแรก ปี 2557

รายงานพิเศษ วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2557
ผู้เข้าชม : 206 คน
ผลพวงจากปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อ ผสมโรงกับตัวเลขเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้หนังสือพิมพ์ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ทำการรวบรวมข้อมูลความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในช่วงไตรมาส 1 ปี 57 เพื่อเปรียบเทียบราคาหุ้นว่าหุ้นตัวไหนปรับตัวขึ้นโดดเด่น และหุ้นตัวไหนปรับตัวลงแรงอย่างไม่คาดคิด เพราะในสถานการณ์ที่มีความผันผวนตลอดเวลา ข้อมูลตัวเลขจะเป็นเครื่องมือนำทางให้แก่นักลงทุนได้ดีที่สุด

ถึงกระนั้นต้องพึงระลึกไว้เสมอว่า หุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงบางตัวเกิดจากการเข้ามาเล่นเก็งกำไรเกินความเหมาะสม ซึ่งเป็นผลมาจากนักลงทุนรายย่อยหันมาลงทุนในหุ้นขนาดเล็กแทนหุ้นขนาดใหญ่ เพื่อลดความเสี่ยงจากแรงเทขายของนักลงทุนสถาบันในประเทศและต่างประเทศ

ผลดังกล่าวทำให้หุ้นมากหน้าหลายตาเข้ามาติดอยู่ในโผหุ้นขึ้นแรงหุ้นลงแรงเป็นจำนวนมาก และการเรียงลำดับในครั้งนี้ไม่ได้นำเอาผลประกอบการของบริษัทเป็นที่ตั้ง ดังนั้นข้อมูลที่ปรากฏจึงเป็นการเทียบเคียงด้านเดียวเท่านั้น ไม่ได้บ่งชี้ว่า ราคาหุ้นแพงเกินพื้นฐาน หรือถูกกว่าพื้นฐาน แต่เป็นการหยิบยกความเคลื่อนไหวของหุ้นมาอธิบายให้นักลงทุนทราบเท่านั้น

สำหรับหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงสุด 3 อันดับแรกของ SET พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงเกิน 70% คือ 1) บริษัท แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MAX โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ 0.15 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 0.35 บาท เปลี่ยนแปลง 0.20 บาท หรือ เปลี่ยนแปลง 133.33% น่าจะเป็นผลมาจากความเชื่อที่ว่า บริษัทกำลังจะเทิร์นอะราวด์ หลังตัวเลขขาดทุนน้อยลง

ส่วนอันดับ 2) บริษัท สหมิตรถังแก๊ส จำกัด (มหาชน) หรือ SMPC โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ 20.20 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 38 บาท เปลี่ยนแปลง 17.80 บาท หรือ เปลี่ยนแปลง 88.12% โดยหลังจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้พ้นเหตุอาจถูกเพิกถอน และเปิดให้ซื้อขายตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 56 ก็มีนักลงทุนเข้ามาไล่ซื้อหุ้นเป็นจำนวนมาก ประกอบกับกำไรปี 56 เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้นักลงทุนเข้าไปไล่ซื้อหุ้นกันคึกคัก

ขณะที่อันดับ 3) บริษัท แอสเซท ไบร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ ABC โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ 3.20 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค.57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 5.50 บาท เปลี่ยนแปลง 2.30 บาท หรือ เปลี่ยนแปลง 71.88% มีการพูดถึงสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงนั้น น่าจะมาจากผู้ถือหุ้นใหญ่โยนหุ้นกันเอง เพราะหุ้นส่วนใหญ่อยู่ในมือเจ้าของ นักลงทุนรายย่อยไม่มีสิทธิ์ได้เป็นเจ้าของ

ส่วนหุ้นที่ปรับตัวลงแรงสุด 3 อันดับแรกของ SET พบว่า ติดลบสูงกว่า 30% คือ 1) บริษัทหลักทรัพย์ เออีซี จำกัด (มหาชน) หรือ AEC โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ 10.80 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 1.49 บาท ลบไป 9.31 บาท หรือลงไป 86.20% คงมาจากผลประกอบการปี 56 ที่ออกมาขาดทุน ส่งผลให้นักลงทุนหมดความเชื่อมั่น จึงมีแรงเทขายหุ้นออกมาเรื่อยๆ

ส่วนอันดับ 2) บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ INSURE โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ 68 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 44 บาท ลบไป 24 บาท หรือลงไป 35.29% 3) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มิลเลียนแนร์ หรือ MIPF โดยวันที่ 27ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ 18.70 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 12.80 บาท ลบไป 5.90 บาท หรือลงไป 31.55%

ในส่วนนี้มีประเด็นให้นักลงทุนขบคิดมากนิดหนึ่ง เพราะหุ้นที่เอ่ยถึงแต่ละตัวมีปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาดฯน้อยมาก และบางตัวก็เป็นกองทุนอสังหาฯที่อายุงวดลงเรื่อยๆ ขณะที่อันดับถัดลงมามีทั้งหุ้นหลากหลายประเภทคละเคล้ากันไป

นอกจากนี้เมื่อพิจารณาหุ้นขนาดเล็กอย่างกลุ่ม mai พบว่า หุ้น 3 อันดับแรกมีการเปลี่ยนแปลงเกินกว่า 40% คือ 1) บริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ L&E โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ 20.20 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 34.75 บาท เปลี่ยนแปลง 14.55 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 72.03% ล้วนเป็นผลมาจากผลประกอบการของบริษัทเติบโตแข็งแกร่ง

ส่วนอันดับ 2) บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IRCP โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ 6.50 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 9.60 บาท เปลี่ยนแปลง 3.10 บาท หรือ เปลี่ยนแปลง 47.69% ล้วนเป็นผลมาจากผลประกอบการที่เติบโตแข็งแกร่ง 3) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ 17.70 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 25.50 บาท เปลี่ยนแปลง 7.80 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 44.07% ล้วนเป็นผลมาจากผลประกอบการที่เติบโตแข็งแกร่ง

ตรงนี้เป็นการย้ำว่า หุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงของตลาด mai อิงกับผลประกอบการเป็นหลัก

ส่วนหุ้นที่ปรับตัวลงมากสุดใน mai 3 อันดับแรกพบว่า ปรับตัวลงเกินกว่า 15% คือ 1) บริษัท ไฮโดรเท็ค จำกัด (มหาชน) หรือ HYDRO โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 4.02 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 2.64 บาท ลดลงไป 1.38 บาท หรือ เปลี่ยนแปลง 34.33% เป็นไปตามผลประกอบการปี 56 ที่มีผลขาดทุนเกิดขึ้น

ส่วนอันดับ 2) บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 0.83 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 0.55 บาท ลบไป 0.28 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 33.73% ได้รับผลกระทบจากผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องเช่นกัน 3) บริษัท โอเชี่ยน คอมเมิรช จำกัด (มหาชน) หรือ OCEAN โดยวันที่ 27 ธ.ค. 56 ราคาหุ้นอยู่ที่ระดับ 1.08 บาท ขณะที่วันที่ 31 มี.ค. 57 ราคาหุ้นอยู่ที่ 0.88 บาท ลบไป 0.20 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 18.52% ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมากๆ เพราะผลประกอบการปีนี้พลิกกลับมามีกำไร แต่ราคาหุ้นกลับปรับตัวลงเรื่อยๆ

เหล่านี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่นักลงทุนต้องทำการสแกนอีกชั้นหนึ่ง เพื่อหาข้อสรุปที่ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่งว่า การขึ้นลงของหุ้นสมเหตุสมผลแค่ไหน โดยมีสัดส่วนทางการเงิน แผนธุรกิจ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเป็นเกณฑ์ชี้วัด นอกเหนือจากราคาหุ้นที่แปรปรวนไปมา

posted from Bloggeroid

IEC ในกำมือจอมปั้นคนล่าสุด รายงานพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน 2557 

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: IEC ในกำมือจอมปั้นคนล่าสุด

รายงานพิเศษ วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน 2557
ผู้เข้าชม : 246 คน
เมื่อวานนี้ (9 เมษายน 2557) หุ้นเพิ่มทุน บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) หรือ IEC จำนวน 3,306,.46 ล้านหุ้น จะเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นวันแรก โดยหุ้นเพิ่มทุน IEC ดังกล่าวจัดสรรเพื่อการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิ (IEC-W1) 3,306,468,692 หน่วย แปลงเป็นหุ้นสามัญ 3,306,468,692 หุ้น ในอัตรา 1 ใบสำคัญแสดงสิทธิ ต่อ 1 หุ้นสามัญ ราคาใช้สิทธิ 0.027 บาทต่อหุ้น ทำให้ IEC มีหุ้นสามัญเพิ่มเป็น 123,618,438,692 หุ้น และมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 12,361,843,869.20 บาท ราคาพาร์ 0.10 บาทต่อหุ้น แต่ราคาตลาด ล่าสุด อยู่ที่ 0.03 บาท

คำถามสำคัญก็คือ หลังการเพิ่มทุนระลอกใหม่นี้แล้ว ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทล่าสุด จะอยู่ที่เท่าใด เพราะตัวเลขส่วนผู้ถือหุ้นล่าสุดสิ้นเดือนธันวาคม 2556 ของ IEC อยู่ที่ 1,499.10 ล้านบาท

หากคิดอย่างเถรตรง โดยยึดเอาตัวเลขส่วนผู้ถือหุ้นเดิม บวกกับจำนวนหุ้นเพิ่มทุนใหม่และราคาแปลงสิทธิ 0.027 บาท ที่ต่ำกว่าพาร์ (0.10 บาท) ซึ่งจะมีส่วนต่ำมูลค่าหุ้นประมาณ 214.37 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้น IEC น่าจะลดลงเหลือเพียง 1,257.73 ล้านบาทเท่านั้น

คำถามที่นักลงทุนทั่วไปต้องการทราบและทำความเข้าใจแรกสุดก็คือ วิศวกรรมการเงินล่าสุดของ IEC จะนำบริษัทไปในทิศทางใด ภายใต้ผู้บริหารปัจจุบัน ภายใต้ประธานกรรมการ นายภูษณ ปรีย์มาโนช อดีตซีอีโอของค่ายมือถือยูคอม เพราะอดีตอันโชกโชนของบริษัท บอกให้รู้ว่า ความระหกระเหินทางการเงินของบริษัทนั้น ไม่เคยทำให้ฐานะของบริษัทกระเตื้องขึ้นหรือมีอนาคตให้นักลงทุนชื่นใจเอาเสียเลย แตกต่างจากประวัติเก่าแก่ยาวนานเกือบ 100 ปี

จากอดีตของบริษัทที่เคยรุ่งเรืองในด้านงานวิศวกรรม มาสู่บริษัทในเครือปูนซีเมนต์ไทย ก่อนที่จะถูกขายออกมาให้กลุ่มพันธมิตรทุนใหม่สนธิ ลิ้มทองกุล และทักษิณ ชินวัตร ที่แต่งตัวพาเข้าตลาดหลักทรัพย์พร้อมกับแผนธุรกิจอันสวยหรูของธุรกิจโทรคมนาคมในปี 2535 ในยุคฟองสบู่เศรษฐกิจไทยเริ่มก่อตัวขึ้นกับกระแสโลกาภิวัตน์ พร้อมกับสร้างตำนานลือลั่นของการสร้างราคากันรอบแล้วรอบเล่าก่อนที่บริษัทจะประสบภัยพิบัติทางการเงินในช่วงฟองสบู่เศรษฐกิจแตกภายใต้กำมือของเดอะ เอ็ม กรุ๊ป ของสนธิ ลิ้มทองกุล

นับจากปี 2540 เป็นต้นมา ชะตากรรมของ IEC ลุ่มดอนไปมาโดยตลอด และต่อมาเมื่อหลุดจากมือของกลุ่มสนธิ ลิ้มทองกุล บริษัทนี้ก็ตกเป็นเหยื่ออันโอชะของนักล่ากิจการที่ทำตัวเป็นนักปั้นกิจการที่เทิร์นอะราวด์คนแล้วคนเล่า กลุ่มแล้วกลุ่มเล่า ที่หมุนเวียนกันเข้ามาสร้างความฝันกลางวันหลอกลวงนักลงทุน พร้อมกับแผนธุรกิจที่เลื่อนลอย จนกระทั่งขาดทุนต่อเนื่องยาวนาน ราคาหุ้นของบริษัทต่ำติดพื้นมายาวนานจนถึงปัจจุบัน

การที่ราคาหุ้นค่อนข้างต่ำ เป็นสาเหตุให้บริษัทตกเป็นเหยื่อของการซื้อขายกิจากรได้ง่ายมาก และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ทิศทางธุรกิจของบริษัทเอาแน่นอนไม่ได้ชัดเจน มีแต่การปั้นข่าวของผู้บริหารว่าจะไปปั้นกิจการใหม่ที่มีอนาคต ท่ามกลางทุนที่ร่อยหรอจนเพิ่มทุนหลายครั้งในหลายปีมานี้

นักล่ากิจการแบบจับเสือมือเปล่าหลายราย พยายามอวดภูมิความรู้ทางด้านวิศวกรรมการเงิน เพื่อสร้างกลแกมหุ้นยุคใหม่ เริ่มต้นจากการเข้าไปซื้อกิจการ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ ซึ่งดูเหมือนดีในระยะสั้น เมื่อทำการยอมตัดหนี้จ่ายให้ธนาคาร ทำดิวดิลิเจนท์ (Due diligence) กับบริษัทในต่างประเทศเพื่อเข้าไปซื้อกิจการ เพื่อสร้างสตอรี่ว่าจะนำธุรกิจดี ๆ เข้ามาใส่เสมือน “เอาเนื้อดีมาใส่โครงเน่า” แต่ท้ายสุดก็มักลงเอยด้วยการแตกแยกกัน เพราะพันธมิตรที่เข้ามาแตกคอกันเองจากผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว เป็นกรณีศึกษาหลายครั้งจนแทบซ้ำซาก

ผลพวงของการที่มีผู้ถือหุ้นผลัดเปลี่ยนเวียนเทียนกันเข้ามามากรายในหลายปีมานี้ ทำให้ตัวเลขผู้ถือหุ้นล่าสุดของบริษัท มีสภาพเสมือหุ้นที่ไร้เจ้าของที่แท้จริง เพราะข้อมูลที่ปรากฏเป็นทางการในทะเบียนของตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า ไม่มีผู้ถือหุ้นรายใดที่ถือหุ้นเกินกว่า 5% เลยแม้แต่น้อย และหากคิดตามทฤษฎีแล้ว การถือหุ้นของบริษัททั้งหมดเป็นการถือหุ้นโดยรายย่อย 100% เลยทีเดียวจากจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด 15,327 ราย

หากพิจารณาจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่กระจัดกระจายอย่างมากแล้ว ฐานะของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท ก็ดูเหมือนว่า จะไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริงของผู้ถือหุ้นแต่อย่างเป็นเพียงพันธมิตรของกลุ่มผู้ถือหุ้นรายสำคัญไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่เกาะตัวกันเหนียวแน่นกว่าผู้ถือหุ้นอื่นๆ

สภาพของความไม่ชัดเจนทางธุรกิจ และการที่ยังคลำทางไม่ถูกในการปั้นธุรกิจ “แห่งอนาคต” ทำให้ผลประกอบการของบริษัทในรอบหลายปีมานี้ ขาดทุนต่อเนื่องจนกระทั่งส่วนผู้ถือหุ้นใกล้ติดลบ ต้องเรียกเพิ่มทุนในปี 2555 และ 2556 ปีละครั้ง แต่การเพิ่มทุนก็ไม่ได้ช่วยให้รายได้ของบริษัทดีขึ้น หากลดลงสวนทางกันอย่างชัดเจน

ความหวังว่าจะมีการเทิร์นอะราวด์ของบริษัท กลายเป็นความว่างเปล่าครั้งแล้วครั้งเล่า ส่งผลต่อความศรัทธาของราคาหุ้นอย่างยืดยาว

จนกระทั่งการปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจใหม่ ที่ลงมือกระทำตั้งแต่ต้นปี 2556 มุ่งย้ายการสร้างรายได้ผ่ายธุรกิจพลังงานทางเลือกซึ่งมีการลงทุนถึง 5 โครงการนั่นเอง ทำให้ IEC ดูมีอนาคตเพิ่มมากขึ้น และกลับมาทำกำไรเป็นปีแรกในรอบหลายปีนี้ในสิ้นสุดปี 2556 ในขณะที่โครงการใหม่ก็จะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปอีกนานหลายปี เป็นฐานรายได้ใหม่มาชดเชยรายได้จากธุรกิจไอที และวิศวกรรมที่อนาคตไม่เหลือให้ชื่นชมได้อีก




การดำเนินการลงทุนในโครงการด้านพลังงานโดยเฉพาะโรงไฟฟ้านั้น ถือว่าเป็นย่างก้าวที่มีความโดดเด่น และมีอนาคต แต่ก็มีธรรมชาติสำคัญคือมีลักษณะเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินทุนค่อนข้างสูง (capital intensive) ดังนั้น ปัญหาเรื่องสภาพคล่องและทุนหมุนเวียนดำเนินการจึงเป็นประเด็นสำคัญ ที่ทำให้การเพิ่มทุน หรือการปรับโครงสร้างหนี้เป็นสิ่งที่เป็นหลักสำคัญเฉพาะหน้าที่ผู้บริหารของ IEC จะต้องฝ่าข้ามไปให้ได้

ยุคของวิศวกรรมการเงินเพื่อสร้างราคาหุ้นเป็นสำคัญ (บางช่วงถึงขั้นที่บริษัททำการซื้อขายหุ้นเพื่อทำกำไรเสียเองก็เคยปรากฏ ทั้งที่ไม่ใช่บริษัทเพื่อการนี้โดยเฉพาะ) ของ IEC อาจจะผ่านไปแล้ว แต่วิศวกรรมการเงินเพื่อการสร้างความยั่งยืนในอนาคต จากการทำธุรกิจพลังงาน ก็ยังมีความจำเป็นที่ไม่อาจเลี่ยงพ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การลงทุนบางโครงการยังไม่สร้างรายได้อย่างแท้จริง หรือยังไม่แล้วเสร็จ หรือยังต้องการทุนเริ่มต้นไปสำหรับการเจรจาเพื่อให้ได้มา

รูปแบบหนึ่งที่ได้ตัดสินใจไปแล้ว และได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น คือ การออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) เพื่อนำเงินที่จะได้จากการจำหน่ายหุ้น PP ดังกล่าวบริษัทจะนำไปใช้ในโครงการต่างๆ ที่เคยได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นไว้แล้วในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2556 ที่ผ่านมา อาทิ การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ การลงทุนในพลังงานทางเลือกหรืออื่นๆ เงินทุนหมุนเวียนในโครงการ ICT และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกลุ่มบริษัท

ความจำเป็นต้องทำวิศวกรรมการเงิน ที่จะต้องทำทั้งก่อนและหลังการเพิ่มทุน เพราะการเพิ่มทุนที่ผ่านมา รวมทั้งครั้งล่าสุด เป็นการเพิ่มทุนที่ต่ำกว่าราคาพาร์ ซึ่งทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง และขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้น แม้จะได้เงินสดเข้ามาแก้ปัญหาสภาพคล่องในระยะเฉพาะหน้าได้บ้างเป็นการชั่วคราว

ปัจจุบัน IEC ยังมีตัวเลขขาดทุนสะสม 2,900 ล้านบาท และมีส่วนต่ำมูลค่าหุ้น 7,587 ล้านบาท ทำให้บริษัทไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ บริษัทวางแผนว่า จะล้างขาดทุนสะสมและส่วนต่ำมูลค่าหุ้น โดยการลดจำนวนหุ้นผู้ถือหุ้นเดิม 8.1 หุ้นเดิม เหลือ 1 หุ้น ซึ่งมีความจำเป็นเพราะ จะทำให้การขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้นเพื่อดำเนิน โครงการพลังงานทดแทนโครงการใหม่มูลค่าการลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ หลังจากลดทุนแล้ว บริษัทเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจง (PP) ในราคาไม่ต่ำกว่าพาร์ 10 สตางค์ ทำให้ไม่มีส่วนต่ำมูลค่าหุ้นอีกต่อไป ซึ่งเท่ากับว่า โอกาสที่จะเห็นราคาหุ้นของ IEC ผันผวนขึ้นลงไปกับข่าวและข่าวลือว่าด้วยวิศวกรรมการเงิน จะยังเกิดขึ้นในอนาคตให้เห็นได้อีก

การกระทำดังกล่าว รวมทั้งโอกาสสร้างรายได้ใหม่จากธุรกิจพลังงานอันเป็นเส้นทางที่เชื่อว่าเดินมาถูกต้อง ทำให้นายภูษณ ในฐานะประธานกรรมการ IEC เชื่อมั่นว่า ในปี 2557 บริษัทคาดว่า จะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) อยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาท โดยระบุว่า ในช่วงไตรมาส 1/2557 ที่ผ่านมา ผลประกอบการของบริษัทเป็นบวก แต่คำพูดดังกล่าวยังต้องได้รับการพิสูจน์ว่า กำไรสุทธิของบริษัทนั้นจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ แล้วก็ต้องการลงลึกในรายละเอียดด้วยว่า กำไรที่เกิดขึ้น เป็นกำไรจากการดำเนินงานปกติ หรือกำไรพิเศษ

ที่ผ่านมา แม้ว่า ปี 2556 ทางIEC จะบันทึกกำไรสุทธิให้นักลงทุนได้ชื่นใจชัดเจนเป็นปีแรก แต่หากลงลึกในรายละเอียด จะเห็นว่า รายได้ที่ปรากฏนั้น เป็นแค่มายาภาพ เนื่องจากรายได้รวม 774.36 ล้านบาทนั้น เป็นรายได้จากการโอนกลับขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้ถึง 316.37 หรือประมาณ 40%เลยทีเดียว ในขณะที่สภาพคล่องของบริษัทก็ยังไม่ได้ดีเด่มากนัก เพราะ อัตราส่วนทุนหมุนเวียนมีเพียงแค่ 1.15 เท่าเท่านั้นเอง แม้จะสามารถลดหนี้สินไปได้มากก็ตาม ดังนั้นจึงไม่ได้พิสูจน์อะไรชัดเจนเลยว่าบริษัทมีความแข็งแกร่งทางการเงินพร้อมจะเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจว่ากำลังเทิร์นอะราวด์จริงจัง

ปฏิบัติการวิศวกรรมทางการเงินของ IEC ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในปีนี้ รวมทั้งโครงการลงทุนพลังงานทางเลือกที่จะดำเนินไปพร้อมกัน ถือเป็นสิ่งที่นักลงทุนที่ชื่นชอบหุ้นราคาต่ำกว่า 10 สตางค์ ต้องเรียนรู้ที่จะอดทนรอคอย เหมือนอย่างที่รอคอยกันมาหลายนานกว่า 1 ทศวรรษเพื่อรอการฟื้นตัวจริงจัง

เพียงตั้งความหวังว่า ครั้งนี้ จะไม่เป็นความว่างเปล่า หรือโครงการเลื่อนลอยเหมือนเดิมอีก ก็เป็นเรื่องที่คุ้มค่าที่จะรอคอย

คำถามอยู่เพียงแค่ว่าผู้บริหารที่อาสาเข้ามาเป็น “จอมปั้น” รุ่นล่าสุด จะทำให้ผิดหวังอีกครั้งหรือไม่เท่านั้น

posted from Bloggeroid

PICNI สู่ชีวิตยุคที่สาม รายงานพิเศษ วันศุกร์ที่ 25 เมษายน 2557 

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: PICNI สู่ชีวิตยุคที่สาม

รายงานพิเศษ วันศุกร์ที่ 25 เมษายน 2557
ผู้เข้าชม : 2 คน
ปฏิบัติการตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อกลับมาซื้อขายรอบใหม่ ซึ่งกินเวลาอีกนาน อาจจะเป็นปลายปี 2557 หรือ 2558 ของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่คนใหม่ บริษัทจัดจำหน่ายแก๊สหุงต้มที่ผ่านมรสุมการเงินมาแล้ว 2 ระลอก บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PICNI ได้รุกคืบหน้าไปอีกก้าวในสัปดาห์นี้

วันที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติให้นำเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาดำเนินการควบรวมกิจการ ระหว่าง PICNI และบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด (WG) โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างบริษัททั้งสองขึ้นมาเพื่อศึกษา และดำเนินการในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการประสานงาน การบริหารจัดการ การพนักงาน ระบบบัญชี และระบบภายในอื่นๆ เพื่อจัดโครงสร้างบริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นภายหลังการควบรวม

แนวทางควบรวมกิจการดังกล่าว มองได้ 2 มุมพร้อมกันคือ มุมแรก เป็นการเติมสินทรัพย์ของ WG เข้ามาเพื่อให้ PICNI เติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะจากข้อมูลนั้น ปรากฏว่า ล่าสุด สินทรัพย์ในส่วนของ WG มีอยู่ประมาณ 5 พันล้านบาท ในขณะที่สินทรัพย์ทั้งหมดของ PICNI มีอยู่เพียงแค่ประมาณ 2.5 พันล้านบาทเท่านั้น หากนำสินทรัพย์มารวมกันจะมี มูลค่ามากถึง 7.5 พันล้านบาท เลยทีเดียว

มุมที่สองคือ การนำเอา WG เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนมหาชนทางประตูหลังอย่างแนบเนียนผ่านการควบรวมกิจการ หลังจากที่ PICNI ได้รับอนุมัติให้ออกจากแผนฟื้นฟูเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2557 ที่ผ่านมานี้เอง

หากขั้นตอนนี้บรรลุผล ก็หมายความว่า ยุคที่ 3 ของบริษัทนี้(นับจากยุคก่อตั้ง หรือยุคที่ 2 ของภายใต้ชื่อ PICNI) ได้เริ่มต้นขึ้น เพื่อกลับมาแข็งแกร่งรอบใหม่ หลังจากถูกมรสุมทางการเงินจากมหากาพย์ฉ้อฉลอันเป็นฝันร้ายของนักลงทุนกระหน่ำอย่างรุนแรง จนกระทั่งถูกพักการซื้อขายบนกระดานหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯนานหลายปีจนถึงปัจจุบัน

PICNI เดิมชื่อบริษัท บีจีอีเอส เอ็นจิเนียริ่ง ซีสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจวิศวกรรมประเภทรับเหมาก่อสร้าง เช่น งานระบบปรับอากาศ ระบบไฟฟ้า และระบบป้องกันอัคคีภัย แต่ต่อมาประสบปัญหาทางการเงินรุนแรงหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 จนได้ยื่นขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ในวันที่ 22 ตุลาคม 2544 ซึ่งเปิดทางให้กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหม่

ผู้ลงทุนรายใหม่ คือ บริษัท ยูเนี่ยนแก๊ส แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด โดยตระกูลลาภวิสุทธิสิน ได้เข้ามาฟื้นฟูกิจการ พร้อมทั้งเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น บริษัท ปิคนิคแก๊ส แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด (มหาชน) โดยการซื้อทรัพย์สินจาก บริษัท ยูเนียนแก๊ส แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด เข้ามาในกิจการ และเริ่มประกอบธุรกิจค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวในวันที่ 1 เมษายน 2546 ซึ่งต่อมาบริษัทได้รับคำสั่งจากศาลล้มละลายกลางให้ยกเลิกการฟื้นฟูกิจการในวันที่ 18 กันยายน 2546 และ เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ปิคนิคแก๊ส แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) และเปลี่ยนอีกครั้งเป็นชื่อปัจจุบัน

เส้นทางการดำเนินธุรกิจของ PICNI เริ่มต้นจากการระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ และการสร้างหนี้โดยอาศัยฐานทุนเป็นเครื่องมืออ้างอิง พร้อมกับใช้วิศวกรรมการเงินหลายระลอก เพื่อนำไปสร้างทรัพย์สินทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยการเข้าซื้อกิจการเข้ามาใต้ร่มธง ในช่วงปี 2547-2548 ประหนึ่งใช้เงินต่อเงิน

การเพิ่มทุนของบริษัทหลายระลอกจากระดับ 350 ล้านบาท เป็น 750 ล้านบาท แล้วก็ตามมาด้วย 1,296.18 ล้านบาท 2,955.35 ล้านบาท และ 4,453.45 ล้านบาท หรือ 10 กว่าภายในช่วงระยะเวลา 3 ปี รวมทั้งตราสารอื่นๆ เพิ่มเติม ทำให้สินปี 2548 PICNI มีสินทรัพย์รวมมากถึง 11,857 ล้านบาท และมีหนี้สินรวม 8,574 ล้านบาท ส่วนรายได้อยู่ที่ 20,598 ล้านบาท

การเติบโตอย่างก้าวกระโดด ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดคำถามในความแข็งแกร่งทางการเงินของกิจการเท่านั้น หากยังนำมาซึ่งการกล่าวโทษผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้อง ถึง 8 ราย ทั้งการการตั้งค่าความนิยม (good will) ของราคาสินทรัพย์สูงถึง 1,049 ล้านบาท การตกแต่งบัญชีทำสัญญาและรับรู้รายได้ บันทึกเป็นการให้เช่าถังแก๊สไม่ถูกต้อง มูลค่าแต่ละรายการนับ 1,000 ล้านบาท โอนสินทรัพย์บางส่วนโดยทุจริต รวมทั้งการทุจริตยักยอกเงินและหุ้นบริษัทที่เกี่ยวข้อง จนมีการสั่งอายัดทรัพย์สินของผู้ที่ถูกกล่าวโทษ ซึ่งแม้ว่าศาลชั้นต้นสั่งยกฟ้องในปี 2549 แต่ต่อมา ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษากลับเมื่อต้นปี 2555

คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2548 ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้บริหารหลักและพวกอีก 8 ราย ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนของโรงบรรจุแก๊ส ในกรณีเกี่ยวกับการกระทำความผิดข้างต้น

ความเสื่อมโทรมดังกล่าว ซึ่งเกิดจากฟางเส้นสุดท้ายของยุคตระกูลลาภวิสุทธิสินในปี 2549 เมื่อมีการก่อหนี้จากการออกตั๋วบี/อีของบริษัทขายให้กับบรรดาบริษัทจัดการกองทุนรวมหลายแห่ง ทำให้ บลจ.หลายรายขาดทุนกันป่นปี้เพราะถูกบังคับให้รับสภาพหนี้ที่ไม่มีการจ่ายเป็นเงินสด จนต้องตั้งสำรองหนี้สูญจำนวนมาก รวมทั้งหนี้สินอีกประมาณ 7 พันล้านบาทโดยเจ้าหนี้หลักคือธนาคารกรุงไทยและธนาคารยูโอบี ส่งผลให้ นายสุริยา ลาภวิสุทธิสิน ซึ่งอยู่เบื้องหลังดีลธุรกิจทั้งหมด หายหน้าไปจากประเทศไทย พร้อมทิ้งซากของ PICNI ซึ่งแม้จะถูกพักการซื้อขาย แต่ก็ยังดำเนินการทางธุรกิจในขีดจำกัดต่อไปได้

หลังจากนั้น PICNI ได้ตกอยู่ในฐานะเหยื่อของการเทคโอเวอร์กิจการของนักลงทุนหลายราย ที่แวะเวียนเข้ามา “ทึ้งซากแพะ” เพื่อแก้ปัญหาแผนฟื้นฟูกิจการโดยเฉพาะหนี้ 1,700 ล้านบาท ซึ่งกำหนดโดยกลุ่มเจ้าหนี้ เช่นกลุ่มนายพิมล ศรีวิกรม์ กลุ่ม TSF และกลุ่มพล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อย่างเอาเป็นเอาตาย แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลุ่มหลังสุดก็เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ

กลุ่ม พล.ต.อ.สมยศ (ช่วงหนึ่งเรียกว่ากลุ่มเวิลด์แก๊ส) เข้ามาพัวพันกับ PICNI ด้วยประวัติอันวกวน โดยอ้างตนเป็นเจ้าของ WG ผ่านบริษัท แอสเซ็ท มิลเลียน จำกัด หรือ AMC (พล.ต.ท.สมยศ ระบุว่า ตนถือหุ้น 50% ใน AMC ส่วนอีกอีก 49% ถือโดยต่างชาติ) ซึ่งก็มีปัญหากฎหมายกับอดีตเจ้าหนี้รายอื่นๆ ของนายสุริยามาก่อน จนถึงขั้นขึ้นศาลฟ้องร้องกันไปมาหลายคดี แต่ท้ายสุดสำนักงานอัยการพิเศษ คดีพิเศษ 4 ก็ตัดสินให้กลุ่ม พล.ต.อ.สมยศชนะคดีในวันที่ 16 มกราคม 2556 ทำให้การเจรจาเพื่อหาทางออกให้กับ PICNI เริ่มต้นจริงจัง

กลุ่มใหม่นี้ได้วางเงินมัดจำเพื่อทำแผนฟื้นฟูกิจการทันทีภายใน 7 วัน จำนวน 50 ล้านบาท ส่วนที่เหลือของ 1,700 ล้านบาทชำระภายใน 120 วัน และแปลงหนี้อีก 100 ล้านของเจ้าหนี้เป็นทุน มีสัดส่วนถือหุ้นประมาณ 5% ของทุนจดทะเบียนใหม่ภายในเดือนตุลาคม 2556 ส่งผลให้กลายเป็นผู้พื้นฟูแผนกิจการ PICNI จนกระทั่งสามารถออกจากแผนฟื้นฟูมาได้ และเริ่มขั้นตอนต่อไปล่าสุดนี้

แนวทางของเดิมกลุ่มพล.ต.อ. สมยศคือ พยายามดำเนินการให้หุ้น PICNI กลับมาซื้อขายก่อน จากนั้นก็ค่อยแต่งตัวให้ WG เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก่อนที่จะนำเวิลด์แก๊ส และ PICNI ควบรวมกิจการ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กิจการ แต่การตัดสินใจล่าสุด มีการเปลี่ยนแปลงไปโดยควบรวมกันโดยไม่ต้องรอแต่งตัว WG เข้าตลาดเสียก่อนตามเดิม

ตามแผนนี้ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ (ดูตารางประกอบ) โดยมีเป้าหมายชัดเจนคือ “ยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว” นับแต่การสร้างสินทรัพย์จากการควบรวมกิจการ พร้อมไปกับการเจรจาเจ้าหนี้ และผู้ถือหุ้นเดิมที่คัดค้าน รวมทั้งการกลับมาทำกำไรโดยรวดเร็วเพื่อสร้างมูลค่ากิจการรวมตลอดถึง การปรับโครงสร้างกิจการ โครงสร้างหนี้ และโครงสร้างทุนธุรกิจค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวในประเทศเวียดนาม ของปิคนิค อินเตอร์ เสียใหม่ซึ่งมีทั้งฟื้นฟูกลับมาทำ หรือขายทิ้งออกไป

กระบวนการควบรวม PICNI และ WG ตามแผนที่กำหนด



ควบรวมกิจการ

ตั้งบริษัทขึ้นใหม่ มีทุนจดทะเบียนเท่ากับ 2,760,565,700 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจานวนทั้งสิ้น 2,760,565,700 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ซึ่งเท่ากับทุนชำระแล้วทั้งหมดของ PICNI และของ WG รวมกัน



จัดสรรโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่

จัดสรรหุ้นของบริษัทใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นของ PICNI และผู้ถือหุ้นของ WG ในอัตราส่วนดังนี้ 1 หุ้นเดิมใน PICNI ต่อ 0.452795821 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นเดิมใน WG ต่อ 70.729660964 หุ้นในบริษัทใหม่

แต่งตั้งที่ปรึกษาการเงินอิสระ

แต่งตั้งบริษัท แคปปิตอล แอ๊ดแวนเทจ จำกัด เป็นที่ปรึกษาการเงินอิสระ เพื่อให้ความเห็นแก่ผู้ถือหุ้นในการพิจารณาลงมติเกี่ยวกับการควบรวมบริษัท

ขออนุมัติผู้ถือหุ้นให้ความเห็นชอบการควบรวมบริษัท

PICNI และ WG จัดประชุมผู้ถือหุ้น โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้นของแต่ละบริษัทต้องมีมติอนุมัติการควบบริษัท ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนเสียงทั้งหมดที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง

จัดให้มีผู้ซื้อหุ้นทำเทนเดอร์ ออฟเฟอร์ สำหรับผู้ที่คัดค้านการควบรวมกิจการ โดยกำหนดช่วงเวลารับซื้อหุ้นทั้งหมด 14 วันนับแต่วันที่ผู้ถือหุ้นที่คัดค้านได้รับคำเสนอซื้อ



นายพิศาล พุ่มพันธุ์ม่วง ได้แสดงเจตจำนงในการเป็นผู้รับซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นของบริษัทที่คัดค้านการควบรวมบริษัท ในราคาที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยครั้งสุดท้ายก่อนวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2557 ของบริษัท ราคารับซื้อจะไม่เกินกว่า 1 บาทต่อหุ้น

ดำเนินการขอความเห็นชอบจากเจ้าหนี้เงินกู้ยืมตามสัญญาเงินกู้ยืมกับสถาบันการเงิน หรือคู่สัญญาตามสัญญาใดๆ ที่อาจมีเหตุผิดนัดอันเนื่องมาจากการควบรวมบริษัท

PICNI และ WG ต้องแจ้งให้เจ้าหนี้ (ทั้งเจ้าหนี้เงินกู้ยืม เจ้าหนี้การค้า หรือเจ้าหนี้อื่นๆ) ภายใน 14 วันนับแต่วันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ PICNI และ WG มีมติอนุมัติการควบรวมบริษัท เกี่ยวกับการที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของตนมีมติควบรวมบริษัท เพื่อให้เจ้าหนี้มีโอกาสคัดค้าน ซึ่งจะต้องกระทำภายใน 2 เดือนนับแต่วันที่ที่เจ้าหนี้ได้รับหนังสือแจ้งมติ และให้ PICNI และ WG มีหน้าที่ในการโฆษณามติทางหนังสือพิมพ์ภายในกำหนด 14 วันนั้นด้วย





การดำเนินการทั้งหมดนี้ มีข้อกำหนดเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ PICNI และ WG ได้มีมติอนุมัติการควบบริษัท เว้นแต่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วมดังกล่าวลงมติให้ขยายเวลาออกไปแต่เมื่อรวมเวลาทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 1 ปี

หลังจากนั้นแล้ว บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวม ได้กลายเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เรียบร้อย บริษัทใหม่จะต้องยื่นคำขอเพื่อให้หุ้นสามัญของบริษัทใหม่กลับมาซื้อขายได้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อปลดปล่อยนักลงทุนรายย่อยที่มีอยู่ 9,583 ราย ได้รับประโยชน์กลับคืนจากการถือใบหุ้นที่เคยไร้ค่า ไม่ต้องถูกแช่แข็งอีกต่อไป

สำหรับรายละเอียดทางการเงินก่อนการเพิ่มทุน ปัจจุบัน PICNI มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 2,000.00

ล้านบาท ราคาพาร์หุ้นละ 1 บาท มีตราสินค้าปิคนิคแก๊สเป็นทรัพย์สินทางปัญญา มีคลังเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลว 2 แห่งที่สมุทรสงคราม มีความจุสูงสุด 1,870 ตัน และที่อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ซึ่งมีความจุสูงสุด 180 ตัน มีบริษัทย่อยทั้งหมด 2 บริษัท ได้แก่ (1) Picnic Corporation (Singapore) Pte. Ltd. ค้าปิโตรเลียมเหลว และ (2) บริษัท ปิคนิค มารีน จำกัด บริการขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลวทางเรือ และมีบริษัทร่วม 1 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอ็นเนซอล จำกัด ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า และพลังงานความร้อน

ส่วน WG มีทุนจดทะเบียน 760.56 ล้านบาท ราคาพาร์หุ้นละ 29 บาท มีทรัพย์สินเป็นเครื่องหมายการค้า "เวิลด์แก๊ส" มีคลังเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลว 2 แห่ง ที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งมีความจุสูงสุด 2,780 ตัน และ ที่ตำบลท่าพระ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีความจุสูงสุด 60 ตัน มีบริษัทย่อย 2 บริษัท ได้แก่ (1) บริษัท อุตสาหกรรม เอส.ซี.เอส. จำกัด ค้าปิโตรเลียมเหลว และ (2) บริษัท อีเกิ้ล อินเตอร์ทรานส์ จำกัด บริการขนส่งก๊าซปิโตรเลียมเหลว และมีบริษัทร่วมอีก 1 บริษัท ได้แก่ บริษัท สอง ส. ปิโตรเลียม จำกัด ทำธุรกิจสถานีบริการ แต่มีแผนที่จะสร้างคลังเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลวเพิ่มอีก 4 แห่ง ได้แก่ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา, อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์, อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น

ไม่มีใครรู้อนาคตว่า PICNI ภายใต้นายตำรวจใหญ่นักลงทุน “ขาใหญ่” อย่างกลุ่ม พล.ต.อ.สมยศ จะกลับมาฟื้นกิจการแข็งแกร่งได้อีกครั้งมากน้อยเพียงใด แต่ขั้นตอนของการต่อสู้แย่งชิงกิจการอันยาวนาน ด้วยต้นทุนไม่ใช่น้อย ทำให้มองเห็นชัดเจนว่า ยุคที่สองของบริษัทกำลังจะผ่านไปเป็นอดีตที่ผ่านเลย และเริ่มต้นยุคที่สามอย่างเป็นทางการได้เสียที

posted from Bloggeroid

วันอาทิตย์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2557


posted from Bloggeroid

3 ค่ายมือถือ ADVANC-DTAC-TRUE พร้อมแข่งประมูลคลื่น1800MHz หลัง กทค. เคาะราคาตั้งต้นประมูลที่ 11,600 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต เตรียมนำเข้าบอร์ด กสทช. 23 เม.ย.นี้ พร้อมเปิดประมูลกลาง ส.ค.นี้

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: ADVANC-DTAC-TRUEพร้อมลุย

บริษัทจดทะเบียน วันจันทร์ที่ 21 เมษายน 2557
ผู้เข้าชม : 11 คน
3 ค่ายมือถือ ADVANC-DTAC-TRUE พร้อมแข่งประมูลคลื่น 1800MHz หลัง กทค. เคาะราคาตั้งต้นประมูลที่ 11,600 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต เตรียมนำเข้าบอร์ด กสทช. 23 เม.ย.นี้ พร้อมเปิดประมูลกลาง ส.ค.นี้

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทค. เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2557 ที่ผ่านมาว่า ในที่ประชุมมีมติสรุปการกำหนดราคาเริ่มต้นประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz ที่ 464 ล้านบาทต่อ 1MHz ดังนั้น 1 ใบอนุญาต 12.5MHz ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 11,600 ล้านบาท เคาะประมูลครั้งละ 580 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5% ของราคาเริ่มต้นประมูล

สำหรับขั้นตอนต่อไปจะนำข้อสรุปจากบอร์ด กทค. นำเสนอต่อบอร์ด กสทช. พิจารณาในวันที่ 23 เม.ย.นี้ จากนั้นจะนำไปทำประชาพิจารณ์ 45 วัน และปรับแก้ร่างประกาศฯ ตามความเห็นสาธารณะ และส่งให้บอร์ด กสทช.พิจารณาอีกครั้ง คาดสามารถกำหนดระยะเวลาการยื่นซื้อเอกสารขอเข้าประมูลได้ในเดือนก.ค. 2557 และสามารถเปิดประมูลได้ในช่วงกลางเดือนส.ค. 2557 ส่วนคลื่นความถี่ 900MHz คาดจะกำหนดราคาเริ่มต้นประมูลได้ในเดือนพ.ค. 2557 และเปิดประมูลในเดือนพ.ย. 2557

นายวิเชียร เมฆตระการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะเข้าประมูลทั้งคลื่น 1800MHz และคลื่น 900MHz ซึ่งสำหรับราคาเริ่มต้นประมูลคลื่น 1800MHz ที่ 11,600 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาตนั้นไม่ว่าจะเป็นราคาเท่าใดก็เป็นราคาที่ทุกคนต้องเข้าประมูล เนื่องจากคลื่นความถี่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจโทรคมนาคม โดยคลื่นความถี่ 1800MHz ที่บริษัทจะเข้าประมูลนั้นจะนำมาทำ 4G

ก่อนหน้านี้ นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมมากที่จะลงประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz และคลื่นความถี่ 900MHz ของ กสทช.ที่จะมีการประมูลเกิดขึ้นในปีนี้ เช่นเดียวกับ นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ในปีนี้บริษัทจะเข้าประมูลคลื่น 1800MHz และคาดหวังประมูลให้ได้ เนื่องจากความได้เปรียบและเสียเปรียบของผู้ประกอบการโทรคมนาคมอยู่ที่แบนด์วิธ

แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม กล่าวว่า การประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ราคาเริ่มต้น 11,600 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาตนั้นคาดว่าการแข่งขันจะรุนแรง ราคาประมูลน่าจะขึ้นไปค่อนข้างสูง เนื่องจากผู้ประกอบการโทรคมนาคมแต่ละรายก็อยากได้เพื่อมาทำ 4G

นายฉัตรชัย จินดารัตน์ นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ราคาเริ่มต้นประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz ที่ 11,600 ล้านบาท ต่อ 1 ใบอนุญาต จำนวน 12.5 MHz นั้น เมื่อคิดเป็นจำนวน 5 MHz จะอยู่ที่ 4,640 ล้านบาท ซึ่งราคาเริ่มต้นดังกล่าวถือถูกกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 5,000 ล้านบาท ต่อ 5 MHz ขณะที่กำหนดให้ครอบคลุม 40% ของจำนวนประชากรใน 4 ปี ทำได้ไม่ยากนัก เนื่องจากไม่ต้องลงทุนโครงข่าย และทำการตลาดมากเท่ากับคลื่น 2.1 GHz โดยต้นทุนในการตัดจำหน่ายใบอนุญาตคลื่น 1800MHz อยู่ที่ 3,500-4,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่สามารถประหยัดต้นทุนจากส่วนแบ่งรายได้ใบอนุญาตฯ ราว 10,000 ล้านบาทต่อปี โดยมองว่าราคาหุ้นของ ADVANC, DTAC และ TRUE ตอบสนองประเด็นนี้ไปแล้ว

posted from Bloggeroid

คาดICHIวิ่งทะยาน18บาท ปีนี้ลุ้นกำไร1.3พันล้าน

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: ICHIวิ่งทะยาน18บาท
ปีนี้ลุ้นกำไร1.3พันล้าน
ข่าวหน้าหนึ่ง วันจันทร์ที่ 21 เมษายน 2557
ผู้เข้าชม : 12 คน
"อิชิตัน" เทรดวันแรกวิ่งทะยาน 18 บาท ยืนเหนือราคาไอพีโอ 13 บาท สะท้อนธุรกิจโตต่อเนื่อง คาดปี 57 กำไรสุทธิพุ่งทะลัก1.3 พันล้านบาท "ตัน” เชื่อมีนักลงทุนตามเก็บต่อในกระดานหวังลงทุนยาว พร้อมย้ำกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมไม่ทิ้งหุ้น



แหล่งข่าวจากวงการเงิน เปิดเผยว่า หุ้นของบริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI ที่เข้าซื้อขาย (เทรด) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หรือ SET ในวันแรกในวันที่ 21 เม.ย. 2557 นี้ จะมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ระดับ 18 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาเสนอขายราคาขาย IPO ที่ 13 บาทได้ เนื่องจากมองว่า ICHI เป็นหุ้นที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง มีแนวโน้มกำไรสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่ากำไรสุทธิปี 2557 จะเติบโตที่ระดับ 1,300 ล้านบาท และคาดว่าอัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) จะอยู่ที่ 16-18 เท่า โดยประเมินกำไรต่อหุ้น (EPS) เท่ากับ 1 บาท

นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนขาใหญ่อีกจำนวนมากที่พลาดได้หุ้นไอพีโอในช่วงที่เปิดให้จองซื้อขาย จึงมีความเป็นไปได้สูงที่นักลงทุนขาใหญ่จะเข้ามารอเก็บหุ้นในกระดานในวันแรกที่เปิดเทรดในวันนี้ ทำให้ราคาหุ้นมีโอกาสปรับตัวสูงกว่าราคาไอพีโอได้อย่างแน่นอน

ด้านนายทรงกลด วงศ์ไชย ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หุ้น ICHI เข้าเทรดวันนี้ ราคาหุ้นน่าจะยืนเหนือราคาจองที่ 13 บาทต่อหุ้นได้ ซึ่งประเมินราคาเหมาะสมของหุ้น ICHI ที่ 16.10 บาท โดยคาดการณ์กำไรสุทธิของ ICHI ในปี 2557 มีแนวโน้มเติบโต 24% จากปี 2556 ที่มีกำไรสุทธิ 884 ล้านบาท จากการขยายกำลังการผลิตเพิ่มอย่างต่อเนื่อง และกลยุทธ์เชิงรุกทางการตลาดของ ICHI ที่มีความแปลกใหม่และโดดเด่น ซึ่งสามารถผลักดันยอดขายและรายได้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI กล่าวว่า การซื้อขายหุ้น ICHI ในวันนี้มั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับดีจากนักลงทุน ทำให้สามารถยืนเหนือราคาจองที่ 13 บาทต่อหุ้นได้ เหตุเพราะธุรกิจชัดเจนมีความใกล้ชิดผู้บริโภค ประกอบกับการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชาเขียวที่มีทิศทางการเติบโตโดดเด่น ภายในเวลาเพียง 2 ปี บริษัทสามารถก้าวขึ้นสู่ผู้นำตลาดชาพร้อมดื่มอันดับ 1 ในปี 2556 มีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) สูงถึง 42%

นอกจากนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราไม่ต่ำกว่า 40% ของกำไรสุทธิ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ซึ่งจะส่งผลทำให้นักลงทุนเข้ามาซื้อหุ้นในกระดานเพิ่มเติม และเพื่อลงทุนหวังผลตอบแทนในระยะยาว

ขณะที่ประสิทธิภาพการทำกำไรอยู่ในอัตราสูงจากการควบคุมต้นทุนการผลิตและบริหารงบประมาณการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทสามารถทำกำไรเติบโตต่อเนื่องทุกปี โดยในปี 2556 มีอัตรากำไรเบื้องต้นอยู่ที่ 14% และคาดว่าในปีนี้อัตรากำไรเบื้องต้นจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ตามสัดส่วนการปรับลดการว่าจ้างผลิต (OEM) ที่เดิมมีสัดส่วน 25% และกำลังจะลดลงเนื่องจากโรงงานเฟส 2 จะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงปลายไตรมาส 2/2557 และจะส่งผลให้บริษัทฯมีกำลังการผลิตแบบขวดเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านขวดต่อปีและ 200 ล้านกล่องต่อปี (จากเดิม 600 ล้านขวดต่อปีและ 200 ล้านกล่องต่อปี)

อีกทั้งบริษัทยังมีแผนเดินหน้าขยายธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มเติมเพื่อเตรียมพร้อมการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสในการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในอนาคต ล่าสุดผลประกอบการปี 2556 บริษัทมีรายได้จากการขาย 6,484 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,577 ล้านบาท หรือเติบโต 65.96% และมีกำไรสุทธิ 884 ล้านบาท (ไม่รวมรายการจากอุทกภัยและการดำเนินงานที่ยกเลิก) เพิ่มขึ้น 578 ล้านบาท หรือเติบโต 188.89%

นายตัน กล่าวต่อว่า กลุ่มตนเองและคุณอิง ภาสกรนที คือกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมรายใหญ่สุด มีสัดส่วนการถือหุ้น 60.4% ตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ปริมาณหุ้นที่ห้ามขาย (Silent Period) ขั้นต่ำ 55% โดยหุ้นของกลุ่มตนเองและนางอิง ภาสกรนที 51% ติด Silent Period ถูกห้ามขายเป็นระยะเวลา 1 ปี ส่วนอีก 4% ที่เหลือที่ติด Silent Period เป็นของผู้บริหารท่านอื่น ซึ่งกลุ่มตนเองและนางอิง ภาสกรนที และผู้บริหารท่านอื่น มีความตั้งใจจะถือหุ้นทั้งหมดในระยะยาวและไม่มีแผนจะลดสัดส่วนการถือหุ้นอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ICHI เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 300 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท หรือคิดเป็น 23.1% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหลักทรัพย์ ปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียน 1,300 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,300 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท โดยเป็นทุนชำระแล้วจำนวน 1 พันล้านบาท เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้จำนวน 3,900 ล้านบาท จะนำไปขยายโรงงานเฟส 2 และเป็นเงินหมุนเวียนในธุรกิจจำนวน 1,400 ล้านบาท ชำระหนี้เงินกู้กรรมการและสถาบันการเงินจำนวน 2,500 ล้านบาท

บริษัทหลักทรัพย์ เคเคเทรด จำกัด ระบุว่า ประเมินมูลค่าเหมาะสมหุ้น ICHI ที่ 16.40 บาท (P/E ปี 57 ที่ 16 เท่า) ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของการประเมินด้วยวิธีอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) ที่ 20 บาท กับวิธีคิดลดกระแสเงินสด (DCF) ที่ 12.80 บาท

อีกทั้งคาดว่าผลการดำเนินงานปี 2557 ของ ICHI มีแนวโน้มเติบโตสูงจาก 3 ปัจจัย ประกอบด้วย 1.การเติบโตของตลาดชาพร้อมดื่มคาดโต 15% จากปีก่อน ซึ่ง ICHI มีส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่ง 2.การลดสัดส่วนการจ้างผลิตสินค้าภายนอก (OEM) ทำให้อัตราการทำกำไรสูงขึ้น และ 3.การนำเงินเพิ่มทุน IPO ไปชำระหนี้เงินกู้ทำให้ภาระดอกเบี้ยจ่ายลดลง

โดยคาดว่า ICHI จะมียอดขายราว 7,400 ล้านบาท เติบโต 15% จากปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 1,300 ล้านบาท เติบโต 47% จากปีก่อน คิดเป็นกำไรสุทธิต่อหุ้น (Fully Diluted) 1 บาท โดยคาดว่า ICHI จะจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 40 สตางค์ หรือคิดเป็นผลตอบแทนจากเงินปันผล 3% ขณะที่ผลประกอบการช่วง 5 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตสูงต่อเนื่องเฉลี่ย 25% ต่อปี จากการเติบโตของตลาดชาพร้อมดื่มตามกระแสการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ และการลดสัดส่วนการจ้างผลิตทำให้บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้น

ส่วนบริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ราคาพื้นฐานปี 2557 ของหุ้น ICHI จะอยู่ที่ 17.45 บาทต่อหุ้น โดยคาดว่ากำไรสุทธิปี 2557 ของ ICHI เพิ่มขึ้น 28.43% จากปีก่อนอยู่ที่ 1,135.06 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของยอดขาย 15.32% จากปีก่อน จากการเพิ่มสายการผลิตขวดขึ้น 2 สาย ส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตขวดเพิ่มขึ้นอีก 400 ล้านขวดต่อปี รวมสิ้นปี 2557 ICHI จะสามารถผลิตขวดได้ทั้งหมด 1,000 ล้านขวดต่อปี และผลิตกล่องได้ทั้งหมด 200 ล้านกล่องต่อปี

สำหรับอัตรากำไรขั้นต้นคาดว่าจะอยู่ที่ 33.36% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 31.76% เนื่องจากบริษัทจะมีสัดส่วน OEM ลดลงอยู่ที่ 11.05% ซึ่งทำให้ประหยัดต้นทุนต่อขวดได้มากขึ้น ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขาย คาดยังคงมีสัดส่วนต่อยอดขายเพิ่มขึ้นมาที่ 15% เนื่องจากการรุกตลาดเพื่อส่งเสริมการขายโดยการโฆษณาหรือทำโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม ทั้งการขายแบบค้าปลีกและค้าส่ง

อย่างไรก็ตามในปี 2557 บริษัทยังได้รับประโยชน์จากดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง โดยการนำเงินที่ได้จากการระดมทุนหุ้น IPO มาชำระหนี้จากสถาบันการเงิน 1,500 ล้านบาท และชำระหนี้จากกรรมการอีก 1,000 ล้านบาท ส่งผลให้ดอกเบี้ยจ่ายปี 2557 ลดลงถึง 42.54% จากปีก่อนอยู่ที่ 92.86 ล้านบาท ดังนั้นปี 2557 จะมีกำไรสุทธิเพิ่มมากขึ้นถึง 28.43% จากปีก่อน โดยประเมินกำไรต่อหุ้น (ESP) ปี 2557 เท่ากับ 0.87 บาท และเงินปันผลต่อหุ้น 0.35 บาท

posted from Bloggeroid

ผลประกอบการที่สร้างความผิดหวังจากกูเกิ้ลและไอบีเอ็ม อาจจะทำให้นักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากแรงเทขายหุ้นเทคโนโลยีอย่างรุนแร

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: เกิดความวิตกต่อบริษัทไอที

ต่างประเทศ วันศุกร์ที่ 18 เมษายน 2557
ผู้เข้าชม : 12 คน
รอยเตอร์ส - ผลประกอบการที่สร้างความผิดหวังจากกูเกิ้ลและไอบีเอ็ม อาจจะทำให้นักลงทุนที่ได้รับผลกระทบจากแรงเทขายหุ้นเทคโนโลยีอย่างรุนแรงเมื่อเร็วๆ นี้มีความวิตก ซึ่งย้ำให้เห็นถึงความท้าทายที่บริษัทไอทีและบริษัทอินเตอร์เน็ตต้องเผชิญเมื่อหลายบริษัทกำลังจะรายงานผลประกอบการในสัปดาห์ที่จะมาถึง



ทั้งกูเกิ้ลและไอบีเอ็มซึ่งเป็นตัววัดอุตสาหกรรมเทคโนโลยี มีรายได้ในช่วงไตรมาสเดือนมีนาคม ต่ำกว่าที่วอลล์สตรีทคาดการณ์ไว้ โดยกูเกิ้ลมีกำไรไตรมาสหนึ่ง 6.27 ดอลลาร์ต่อหุ้น จาก 6 ดอลลาร์ในปีก่อนหน้า และรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 19% เป็น 15,42 0 ล้านดอลลาร์ จาก 12,950 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้า

ส่วนไอบีเอ็มโทษว่าเป็นเพราะยอดขายฮาร์ดแวร์ลดลงจึงทำให้รายได้ไตรมาสหนึ่งต่ำสุดในรอบ 5 ปี โดยยอดขายในตลาดเกิดใหม่ทั้งหมด ลดลง 11%

ตัวเลขนี้ชี้ว่าบริษัทเทคโนโลยีอื่นๆ ที่พึ่งพาการใช้จ่ายของบริษัท อย่างเช่น โอราเคิล ซิสโก้ อีเอ็มซี และฮิวเลตต์ แพคการ์ด กำลังจะเดือดร้อนเช่นกัน บริษัทเหล่านี้จะแถลงผลประกอบการในเดือนนี้หรือในเดือนหน้า แต่บริษัทเหล่านี้ก็เหมือนกับไอบีเอ็มคือได้กระเสือกกระสนที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตโดยเฉพาะในจีนซึ่งเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวลงหลังจากที่โตมากเป็นเวลาหลายปี

การใช้จ่ายของบริษัทโดยทั่วไปได้กลายเป็นข้างแรมสำหรับยักษ์ใหญ่คอมพิวเตอร์แบบดั้งเดิม เนื่องจากบริษัทใหญ่ๆ และแม้แต่รัฐบาล ได้หันไปหาบริการซอฟต์แวร์ และบริการคลาวด์อื่นๆ มากขึ้น แทนที่จะยังคงเก็บอินฟราสตรัคเจอร์เทคโนโลยีในบริษัทไว้ หลายบริษัทซึ่งรวมถึงไอบีเอ็มมและโอราเคิลจึงถูกคู่แข่งที่มีอายุน้อยกว่าทิ้งห่างเมื่อมีการใช้จ่ายไปกับบริการใหม่อย่างเช่น บิ๊ก ดาต้า คลาวด์ และบริการที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในโลกไซเบอร์

ผลประกอบการที่ไม่ดีของกูเกิ้ลและไอบีเอ็ม เมื่อวันพุธที่ผ่านมาอาจเปลี่ยนแปลงอารมณ์ของนักลงทุนได้เพียงเล็กน้อยหลังจากที่หุ้นเทคโนโลยีปรับตัวลงเมื่อเร็วๆ นี้ โดยนับตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม ดัชนีแนสแดคได้ปรับตัวลงกว่า 6%

จากข้อมูลของทอมสัน รอยเตอร์ส เมื่อนำผลประกอบการล่าสุดของไอบีเอ็มและกูเกิ้ลเข้ามาพิจารณาแล้ว กำไรของบริษัทเทคโนโลยีในช่วงไตรมาสหนึ่งได้ลดลงประมาณสองในสามนับตั้งแต่ต้นปี

เมื่อวันที่ 1 มกราคม นักวิเคราะห์คาดการณ์เฉลี่ยว่ากำไรของบริษัทเทคโนโลยีจะโตประมาณ 7% แต่ในขณะนี้ นักวิเคราะห์คาดการณ์เฉลี่ยว่าจะโตแค่ 2.4% เท่านั้น และนั่นยังถือว่ากำไรของบริษัทเทคโนโลยีโตลดลงจากไตรมาสสี่ 10.3% แต่ดีกว่าไตรมาสแรกของปี 2556 เมื่อกำไรของบริษัทเทคโนโลยีลดลงประมาณ 1.2%

ซามีต ซิงห์ นักวิเคราะห์บริษัท บี.ไรเลย์ แอนด์ โค กล่าวว่า ประชาชนกำลังพยายามเปลี่ยนไปใช้ระบบการส่งใหม่ๆ ทางโทรศัพท์มือถือ และเป็นความท้าทายสำหรับบริษัทส่วนใหญ่ในช่วงสองปีข้างหน้า

posted from Bloggeroid

วันศุกร์ที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2557

AOTลั่นสงกรานต์ผู้โดยสารพุ่ง8%

AOTลั่นสงกรานต์ผู้โดยสารพุ่ง8%

Back
AOTลั่นสงกรานต์ผู้โดยสารพุ่ง8%



วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2557 เวลา 00:00:00 น.
จำนวนผู้อ่าน 6 คน


AOT คาดช่วงสงกรานต์ผู้โดยสาร 6 ท่าอากาศยาน เพิ่ม 8% เที่ยวบินเพิ่ม 15% ขณะสนามบินดอนเมืองจ่อชงแผนพัฒนาเฟส 4 วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท เล็งสร้างอาคารผู้โดยสาร 3 เชื่อมระบบรถไฟสีแดง-สีเขียว

 

นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยถึงปริมาณการเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 9-18 เมษายนนี้ ว่า มีผู้โดยสารมาใช้บริการท่าอากาศยาน 6 แห่งของ AOT รวม  2.73 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8% มีเที่ยวบินรวม 18,440 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 15%  โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมืองมีผู้โดยสารรวม 2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5% มีเที่ยวบิน 13,600 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 12%  ภูเก็ตมีผู้โดยสาร 350,000 คน เพิ่มขึ้น 15% มีเที่ยวบิน 2,300 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 20% ส่วนเชียงใหม่ เชียงราย และหาดใหญ่ มีผู้โดยสาร 343,000 คน เพิ่มขึ้น 38% มีเที่ยวบิน 2,540 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้น 35%

ว่าที่เรืออากาศโทจตุรงคพล สดมณี ผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง AOT เปิดเผยว่า ล่าสุดมีแนวคิดพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 4 วงเงินลงทุนเกือบ 20,000 ล้านบาท  โดยจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ในรูปแบบ Juntion Terminal บริเวณที่ว่างระหว่างอาคารจอดรถ 7 ชั้น กับอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ วงเงินลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาท พร้อมทำการปรับปรุงอาคารคลังสินค้า 3, 4 เป็นสำนักงาน (Airport office) ศูนย์การเรียนรู้ โรงเรียนด้านการบินต่างๆ และช้อปปิ้งมอลล์ วงเงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะมีการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) AOT เพื่อขออนุมัติแผนดำเนินงานและการลงทุนต่อไป

สำหรับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 (Juntion Terminal) จะให้เป็นอาคารสำหรับการเชื่อมต่อระบบราง คือ รถไฟชานเมืองสายสีแดงและรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยภายในอาคารจะมีระบบอัตโนมัติให้ผู้โดยสารสามารถเช็กอิน โหลดสัมภาระเอง ด้านล่างของอาคารจะเป็นศูนย์รวมระบบขนส่งทุกประเภท มีพื้นที่ใช้สอยรวมประมาณ 1.5 แสนตารางเมตร

ว่าที่เรืออากาศโทจตุรงคพล  กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าแผนการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง เฟส 3 วงเงินลงทุน 7,000 ล้านบาท ว่า จะมีการปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร 1 ใหม่ทั้งหมด เปลี่ยนบันไดเลื่อน ระบบสายพานกระเป๋า ซื้อเครื่อง X-ray ใหม่ และย้ายไปติดตั้งด้านหลังเช็กอิน วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มทยอยปิดเคาน์เตอร์เช็กอิน แถว 1-4 ไปให้บริการที่อาคาร 2 ที่จะแล้วเสร็จตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้

นอกจากนี้ จะมีการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ (Overlay) รันเวย์  ปรับปรุงระบบไฟสนามบิน ปรับปรุงอาคารเทียบเครื่องบิน North Corridor, South Corridor, อาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข 6, ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารในประเทศหลังเก่า เพื่อรองรับเครื่องบินที่เปลี่ยนสถานที่บินลง (divert) หรือศูนย์กรณีอากาศยานเกิดอุบัติเหตุ  เป็นต้น คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2559 ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้เป็น 39 ล้านคนต่อปี ขณะปี 2558 คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารมาใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองรวม 22 ล้านคน เติบโตจากปี 2557 ที่คาดว่าจะมีผู้โดยสารรวม 19 ล้านคน



< Back

Copyright © 2012 ข่าวหุ้น. All rights reserved.

กูรูกสิกร มองศก.การเมืองทำสงกรานต์หงอย เงินสะพัดลดลงถึง 12.4%

กูรูกสิกร มองศก.การเมืองทำสงกรานต์หงอย เงินสะพัดลดลงถึง 12.4%

Back
กูรูกสิกร มองศก.การเมืองทำสงกรานต์หงอย เงินสะพัดลดลงถึง 12.4%



วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2557 เวลา 17:09:01 น.
จำนวนผู้อ่าน 328 คน


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทย ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2557 (ไม่รวมผู้ที่เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิมในต่างจังหวัด) โดยดำเนินการเก็บข้อมูลในช่วงระหว่างวันที่ 18 – 25 มี.ค. 57 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,132 คนทั่วประเทศ พบว่านอกจากการเมืองไทยและเศรษฐกิจยังเป็นประเด็นที่ทำให้ช่วงสงกรานต์ปีนี้ไม่คึกคักยังมีสภาวะที่ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นด้วย

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 80.6% จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ไม่มีแผนเดินทางท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจ อันดับ 1 คือ สภาวะค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่สูงขึ้นในปัจจุบัน รองลงมา ได้แก่ ความแออัดในแหล่งท่องเที่ยว เนื่องจากในเทศกาลสงกรานต์มีผู้คนจำนวนมากเดินทางท่องเที่ยว ส่งผลให้การจราจรตามเส้นทางหลักคับคั่งและติดขัด  

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประเมินว่า ในช่วงวันหยุด 4 วันของเทศกาลสงกรานต์ปีนี้จะมีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศจำนวนประมาณ 4.2 ล้านคน และมีการจับจ่ายใช้สอยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท ลดลง 12.4% เมื่อเทียบปี 56 ซึ่งมีเม็ดเงินสะพัดมูลค่า 2.2 หมื่นล้านบาท



< Back

วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2557

SAMARTไตรมาส1เด้ง ได้ดีSIMขายมือถือทะลัก ข่าวหน้าหนึ่ง วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2557 

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: SAMARTไตรมาส1เด้ง
ได้ดีSIMขายมือถือทะลัก
ข่าวหน้าหนึ่ง วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2557
ผู้เข้าชม : 7 คน
"SAMART" แย้มงบไตรมาส 1/57 แจ่ม รับอานิสงส์ SIM มียอดขายมือถือทะลัก ลั่นไตรมาส 2-3 โตกว่านี้ หลังทีวีดิจิตอลหนุน พร้อมดันบริษัทย่อย "OTO" ขายไอพีโอ 80 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 5.40 บาท จ่อเข้าเทรด mai วันที่ 15 พ.ค.นี้


นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART กล่าวว่า ผลการดำเนินของบริษัทในช่วงไตรมาส 1/2557 เติบโตดี เนื่องจากในเดือน มี.ค. 2557 เพียงเดือนเดียว บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) หรือ SIM มียอดขายโทรศัพท์มือถือกว่า 1,000 ล้านบาท ประกอบกับในช่วงหลังสงกรานต์นี้บริษัทเตรียมออกโทรศัพท์มือถือใหม่จำนวนหลายรุ่น

ขณะที่ด้านธุรกิจให้บริการโทรศัพท์มือถือบนโครงข่ายเสมือน (MVNO) ในปัจจุบันบริษัทมียอดลูกค้าอยู่ที่ 600,000-700,000 รายแล้ว ส่วนสัญญาให้บริการโทรศัพท์มือถือบนโครงข่ายเสมือน (MVNO) ใหม่ กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT จำนวน 2.88 ล้านเลขหมายนั้น ทาง TOT ไม่ได้ต่อรองเรื่องใดๆ กับบริษัท เนื่องจากเรื่องต่างๆ ได้ผ่านบอร์ด TOT ไปหมดแล้ว โดยในขณะนี้เหลือเพียง TOT ชี้แจงข้อมูลต่อสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเม.ย.นี้

ขณะเดียวกันในช่วงไตรมาส 2/2557 และไตรมาส 3/2557 คาดว่าแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทจะเติบโตดีกว่าไตรมาส 1/2557 เนื่องจากบริษัทได้รับแรงหนุนจากธุรกิจสื่อทีวีดิจิตอลที่จะสามารถทำรายได้จากการขายกล่องรับสัญญาณ set top box เข้ามา โดยขณะนี้มียอดขายกล่องดังกล่าวแล้วเกือบ 100,000 กล่อง และมั่นใจว่าจะสามารถเป็นไปตามเป้าหมายทั้งปีนี้อยู่ที่ 1 ล้านกล่อง เนื่องจากกสทช.สนับสนุนด้วยการแจกคูปอง ทำให้ประชาชนจะนำคูปองมาใช้สิทธิ์ในการซื้อกล่อง set top box อย่างแน่นอน

ดังนั้นในปี 2557 บริษัทยังคงเป้าหมายรายได้รวมของกลุ่มสามารถไว้ที่ 30,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 22,434 ล้านบาท นอกจากนี้บริษัทมีแผนเข้าซื้อกิจการ 2-3 ธุรกิจ โดยเป็นธุรกิจที่มีขนาด 100-1,000 ล้านบาท คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 3 เดือนนี้

นายวัฒน์ชัย กล่าวต่อว่า บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ OTO ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SAMART โดย OTO ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการศูนย์บริการครบวงจร คุณภาพสูง มีการการเติบโตที่แข็งแกร่ง และยังสามารถเติบโตต่อได้ในต่างประเทศ เตรียมเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 15 พ.ค.นี้

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ (10 เม.ย. 57) บริษัทได้เซ็นสัญญาแต่งตั้งให้บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด เป็นผู้จัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ และมีผู้จัดจำหน่ายฯร่วมอีก 3 ราย ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด (มหาชน), บริษัทหลักทรัพย์ แอพเพิล เวลธ์ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต จำกัด (มหาชน) จำนวน 80 ล้านหุ้น

โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 20 ล้านหุ้น เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นของ SAMART ตามสัดส่วนที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถือหุ้นใน SAMART (Pre-emptive Right) โดยมีสัดส่วนหุ้นสามัญเดิมของ SAMART 50.3165 หุ้นต่อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ OTO 1 หุ้น ซึ่งผู้ถือหุ้นสามัญของ SAMART มีสิทธิจองซื้อหุ้น OTO ได้ไม่เกินกว่าสิทธิ ซึ่งจะทำการเสนอขายในวันที่ 28 เม.ย.-2 พ.ค. 2557

ส่วนที่ 2 เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่น้อยกว่า 50 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเดิมที่ SAMART ถืออยู่ใน OTO จำนวนไม่เกิน 10 ล้านหุ้น รวมทั้งหุ้นที่เหลือจากการเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นของ SAMART ในส่วนแรก จะเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป ในวันที่ 6-8 พ.ค. 2557 โดยหลังเพิ่มทุน และ IPO จะมีทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็น 280 ล้านบาท จากก่อนเพิ่มทุน และ IPO มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 210 ล้านบาท

สำหรับราคาเสนอขายทั้ง 2 ส่วน อยู่ที่ 5.40 บาทต่อหุ้น ดังนั้นจะได้เงินจากการระดมทุนในครั้งนี้รวมทั้งสิ้น 430 ล้านบาท เพื่อนำไปรองรับการขยายการลงทุนในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงนำไปเป็นใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า เป้าหมายต่อจากนี้ นอกจากการขยายฐานลูกค้าและครองความเป็นผู้นำในธุรกิจศูนย์บริการข้อมูลในประเทศไทยแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) อยู่ที่ 22% ยังตั้งเป้าหมายในการขยายบริการสู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV

ส่วนในปี 2557 ตั้งเป้าหมายรายได้ของ OTO เติบโตกว่า 30% จากปี 2556 ที่มีรายได้อยู่ประมาณ 700-800 ล้านบาท ส่วนในต่างประเทศนั้น ปัจจุบัน OTO ได้เปิดสาขาที่ประเทศกัมพูชา 1 สาขา และมีลูกค้าแล้ว ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้มีแผนเปิดสาขาในประเทศเมียนมาร์เพิ่มอีก 1 สาขา โดยเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาหลายราย

นางสุกัญญา วนิชจักร์วงศ์ กรรมการผู้จัดการ OTO กล่าวว่า บริษัทมีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพิจารณาจากผลกำไรในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ ซึ่งในปี 2554 มีกำไร 38.57 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 4.21%, ปี 2555 มีกำไร 74.57 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 8.31% และปี 2556 มีกำไร 89.66 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 12.96%

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ OTO กล่าวว่า การทำบุ๊คบิลด์ของ OTO มีการตอบสนองอย่างดี มีดีมานด์มากกว่า 5 เท่าของหุ้นเพิ่มทุนที่เสนอขาย ดังนั้นมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าการจำหน่ายหุ้นสามัญครั้งนี้จะได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องด้วยปัจจัยพื้นฐานของ OTO ที่แข็งแกร่ง

บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ประเมินว่า กำไรปี 2557 ของ SAMART ที่ 1,725 ล้านบาท เติบโต 18% จากปีก่อน คิดเป็นระดับกำไรสูงที่สุดในรอบ 8 ปีของบริษัท โดยได้อานิสงส์เชิงบวกต่อเนื่องจากการเติบโตของบริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) หรือ SIM และบริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ SAMTEL ขณะที่บริษัทย่อยอื่นๆ ที่เคยขาดทุนกลับมามีกำไรก้าวกระโดด เช่น Samart engineering ที่คาดว่ายอดขายกล่อง Set-top-box และเสาสัญญาณ TV Digital ขับเคลื่อนกำไรใน 2-3 ปีข้างหน้า และธุรกิจในกัมพูชาสร้างรายได้ประจำ และไม่มีคู่แข่ง อย่างไรก็ตามในกรณี Base case ของเรายังค่อนข้างอนุรักษนิยมเนื่องจากยังต่ำกว่าเป้าหมายบริษัทที่คาดกำไรระดับสูงสุดใหม่ที่กว่า 2,000 ล้านบาท หรือเติบโตไม่ต่ำกว่า 36%

นอกจากนี้ SAMART จะจัดประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 29 เม.ย. 2557 เพื่อขอมติอนุมัติการออกหุ้นกู้มูลค่า 5,000 ล้านบาท เนื่องจากมีต้นทุนต่ำกว่าการกู้เงินจากสถาบันการเงิน เราประเมินเงินลงทุนดังกล่าวเป็นมูลค่าที่มีนัยสำคัญ ซึ่งบริษัทยังไม่เปิดเผยรายละเอียดของโครงการที่จะลงทุน โดยคาดโครงการที่มีศักยภาพสูงที่จะเป็นไปได้คือโรงไฟฟ้าในกลุ่มประเทศ CLMV โดยในกัมพูชามีโอกาสเป็นไปได้สูงสุด เนื่องจากเป็นประเทศที่ SAMART มีความคุ้นเคยในการทำธุรกิจดีอยู่แล้ว และเป็นประเทศที่ยังมีทรัพยากรที่ยังไม่ถูกใช้ประโยชน์อีกจำนวนมาก การลงทุนดังกล่าวเป็นไปได้ทั้งในรูปของการลงทุนใหม่ หรือซื้อกิจการอื่นที่ทำอยู่แล้ว แต่บริษัทให้ข้อมูลว่าหากจะซื้อกิจการต้องสามารถทำกำไรได้ทันที ซึ่งจะเป็นบวกต่อกำไร คาดว่าจะเห็นภาพชัดเจนในไตรมาส 2/2557

ทั้งนี้ จากผลของประมาณการกรณี Worst case ยังคงมี Upside gain ค่อนข้างสูงที่ 31% สำหรับปี 2557 และ 16% สำหรับปี 2558 สะท้อน Downside risk ของราคาตลาดที่จำกัด ขณะที่ราคายังมีความ Undervalued ค่อนข้างมาก โดยปัจจุบันราคาของ SAMART ซื้อขายที่ PER 2557 ต่ำที่เพียง 10 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย PER 5 ปีย้อนหลังที่ 11 เท่า โดยราคาหุ้นเคยซื้อขายสูงสุดที่ระดับ PER 20 เท่าในปี 2556 จากความคาดหวังผลประกอบการที่กลับมาเติบโตสูง ขณะที่ปี 2557 ผลประกอบการยังเติบโตสูงต่อเนื่องจากปี 2556 แต่ระดับ PER กลับต่ำกว่ามากจึงเป็นโอกาสของการลงทุน และคาดเงินปันผลปี 2557 ที่ 1.03 บาท/หุ้น เป็นผลตอบแทน 6% ดังนั้น แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 24.40 บาท ขณะที่กรณีดีที่สุดราคาเป้าหมายจะอยู่ที่ 30 บาท

posted from Bloggeroid

แบงก์กำไร4.81หมื่นล. กสิกรไทยเพิ่มมากสุด ไตรมาส 1/57 พาเหรดตั้งสำรองเพิ่ม ข่าวหน้าหนึ่ง วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2557 

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: แบงก์กำไร4.81หมื่นล.
กสิกรไทยเพิ่มมากสุด
ไตรมาส 1/57 พาเหรดตั้งสำรองเพิ่ม
ข่าวหน้าหนึ่ง วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2557
ผู้เข้าชม : 13 คน
ธนาคารพาณิชย์ 9 แห่ง เตรียมงานรายผลประกอบการไตรมาส 1 คาดกำไรสุทธิรวมกันกว่า 4.81 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/56 ราว 1.7% แต่ลดลง 5.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เผย “กสิกรไทย” กำไรเติบโตมากสุด 11.3% ส่วนแชมป์กำไรสูงสุดยังเป็นไทยพาณิชย์ 1.2 หมื่นล้านบาท


นางสาวธนินี สถิรเรืองชัย นักวิเคราะห์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) มองว่า กำไรสุทธิรวมของธนาคาร 9 แห่งจะอยู่ที่ 4.81 หมื่นล้านบาท ลดลง 5.4% จากปีก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้น 1.7% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยสาเหตุหลักที่สนับสนุนกำไรในไตรมาสนี้ ได้แก่ การที่สินเชื่อโตเล็กน้อย 8.8% จากปีก่อนหน้า และ 0.5% จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอัตรากำไรที่บางลง และการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น

“เชื่อว่า KBANK จะเป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่กำไรจะโตทั้งช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และไตรมาส 4/56 ซึ่งมีสาเหตุมาจากรายการพิเศษ non-NII ที่เกี่ยวข้องกับ FX แม้ว่าจะมีการตั้งสำรองในระดับที่สูงเพื่อดูแล NPL ที่กำลังเพิ่มขึ้น และสินเชื่อที่โตช้าเนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ โดยสินเชื่อที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และการเติบโตของ non-NII จะช่วยสนับสนุนให้กำไรโตขึ้นในไตรมาสที่ 1/57” นางสาวธนินี กล่าว

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) จะมีกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 1/57 อยู่ที่ 1.20 หมื่นล้านบาท ลดลง 8% จากไตรมาส 1/56 แต่เพิ่มขึ้น 2.7% จากไตรมาส 4/56 โดยกำไรที่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนนั้นจะมาจาก non-NII ที่ลดลง และการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นในขณะที่กำไรที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 4/56 น่าจะมาจากการตั้งสำรองลดลง

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) จะมีกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 1/57 อยู่ที่ 1.12 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.3% จากไตมาส 1/56 และ 18% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากรายการพิเศษ non-NII เกี่ยวข้องกับ FX แม้ว่าธนาคารจะตั้งสำรองในระดับสูงประมาณ 100bps เพื่อดูแล NPL และสินเชื่อก็ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจก็ตาม ในขณะเดียวกัน KBANK คาดว่าสินเชื่อจะโตประมาณ 1-2% ในไตรมาสที่ 1/57 โดยส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อระยะสั้นเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งจะลดลงในภายหลังเมื่อมีการชำระคืนหนี้

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) จะมีกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 1/57 อยู่ที่ 8.6 พันล้านบาท ลดลง 4.4% จากไตรมาส 1/56 แต่เพิ่มขึ้น 12.1% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยกำไรที่ลดลงจากไตรมาส 1/56 จะมาจาก non-NII ที่ลดลง 5.8% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่แคบลง 13.3bps และค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันกำไรที่เพิ่มขึ้นจะมาจากสัดส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่ลดลง

ธนาคารกรุงไทย (KTB) จะมีกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 1/57 อยู่ที่ 7.3 พันล้านบาท ลดลง 14.8% จากไตรมาส 1/56 และ 28% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยกำไรที่ลดลงจะมาจาก non-NII ที่ลดลง 8.2% เนื่องจากไม่มีเงินปันผลจากกองทุนวายุภักษ์ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น และ การตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง ในขณะเดียวกันกำไรที่ลดลงจะมาจาก non-NII ที่ลดลง 33% เนื่องจากไม่มีเงินปันผลจากกองทุนวายุภักษ์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) จะมีกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 1/57 อยู่ที่ 3.9 พันล้านบาท ลดลง 4.8% จากไตรมาส 1/56 แต่เพิ่มขึ้น 22.6% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยกำไรที่ลดลงจะมาจากค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองที่สูงจากคุณภาพสินทรัพย์ที่แย่ลง ในขณะเดียวกันกำไรที่เพิ่มขึ้นจะเป็นผลมาจากการตั้งสำรองลดลง แม้ว่าแนวโน้มการเติบโตจะดูชะลอลงก็ตาม

ธนาคารทหารไทย (TMB) จะมีกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 1/57 อยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท ลดลง 7.6% จากไตรมาส 1/56 และ 6.7% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยกำไรที่ลดลงจะมาจาก non-NII ที่ลดลง สัดส่วนต้นทุนต่อรายได้ที่สูงขึ้น และการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ในขณะที่กำไรที่ลดลงจะมาจาก NIM ที่แคบลง NII ที่ลดลง และ non-NII ที่ลดลง เนื่องจากไม่มีการบันทึกรายได้ดอกเบี้ยพิเศษจากการปรับโครงสร้างหนี้เหมือนในไตรมาสที่ 4/56 ซึ่งคาดว่าค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองจะต่ำลงหลังจากที่บริษัทได้ตั้งสำรองจำนวนมากไปแล้วในไตรมาส 2/56 และไตรมาส 4/56

บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) จะมีกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 1/57 อยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท ลดลง 22.2% จากไตรมาส 1/56 และ 1.2% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยกำไรที่ลดลงจะมาจากรายการพิเศษที่เกิดขึ้นในไตรมาสที่ 1/56 จากการที่บริษัทหยุดดำเนินกิจการบริษัทธนชาติประกันชีวิต (TLIFE)

และการที่บริษัทไม่ได้รับเงินปันผลจากกองทุนวายุภักษ์เหมือนที่เคยได้เนื่องจากกองทุนปิดตัวลงไปในไตรมาส 4/56 ในขณะเดียวกันกำไรที่ลดลงจะมาจาก NIM ที่แคบลง รายได้ค่าธรรมเนียมที่ลดลง การไม่ได้รับเงินปันผลจากกองทุนวายุภักษ์ และไม่ได้มีการบันทึกรายการพิเศษจากการขายเงินลงทุนในกองทุนวายุภักษ์เหมือนกับเมื่อกองทุนครบอายุในไตรมาสที่ 4/56

บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) จะมีกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 1/57 อยู่ที่ 986 ล้านบาท ลดลง 14.5% จากไตรมาส 1/56 แต่เพิ่มขึ้น 22.6% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยกำไรที่ลดลงจะมาจากการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น NIM ที่แคบลง และ non-NII ที่ลดลง ในขณะที่กำไรที่เพิ่มขึ้นจะมาจากการตั้งสำรองลดลง แม้ว่าพอร์ตสินเชื่อจะหดตัว และ NIM จะหดลงก็ตาม ทั้งนี้ TISCO ได้ตั้งสำรองพิเศษในไตรมาส 4/56 เพื่อดูแล NPL จากสินเชื่อรถมือสองที่เพิ่มขึ้น

ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) จะมีกำไรสุทธิในไตรมาส 1/57 อยู่ที่ 922 ล้านบาท ลดลง 20.6% จากไตรมาส 1/56 และ 10.3% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยกำไรที่ลดลงจะมาจาก non-NII ที่ลดลง และภาวะตลาดทุนที่แย่ลงรวมถึงปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่เบาบางลง ในขณะเดียวกันกำไรที่ลดลงจะมาจาก NIM ที่แคบลง และ NII ที่ลดลงรวมถึงการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นตามคุณภาพสินทรัพย์ที่แย่ลงท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

สำนักวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ระบุในบทวิเคราะห์ว่า สำหรับธนาคารที่มีผลประกอบการดีกว่ากลุ่ม คือ KBANK, TMB, BBL เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นสูง และฐานการดำเนินงานที่ต่ำ

โดยเศรษฐกิจในปี 57 ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายในประเทศ ซึ่งมองว่า NPL จะยังคงเพิ่มขึ้นไปทำจุดสูงสุดในช่วงไตรมาส 2/57 และ ส่วนต่างของสินเชื่อคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาส 2/57 ในขณะเดียวกันการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจะช่วยหนุนรายได้ของหลักทรัพย์ และประกัน

อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการจะเพิ่มขึ้น 5% สำหรับปี 57 ต่ำกว่าที่ตลาดคาด 1% และ มูลค่าที่เหมาะสมอ้างอิง GGM ต่ำกว่าตลาด 5-23% เนื่องจากอัตราคิดลดที่สูง นอกจากผลประกอบการที่เติบโตต่ำแล้วกลุ่มธนาคารได้ปรับตัวขึ้นมา 22% YTD คิดเป็น PBV 1.4 เท่า และ PER 10.5 เท่าสำหรับปี 57 มองว่า PER 11 เท่าเป็นจุดที่เหมาะสมในการขายทำกำไร และ มองว่า PBV 1.3 เท่า และ PER 9.9 เท่าสำหรับปี 58 เป็นราคาที่ไม่แพงสำหรับการเติบโต 9% ในปี 58

ตารางคาดการณ์ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ 9 แห่งประจำไตรมาส 1/57


ธนาคาร

Q1/57(ล้านบาท)

Q1/56 (ล้านบาท)

Q4/56 (ล้านบาท)

+/- ไตรมาส1/56(%)

+/- ไตรมาส4/56(%)

SCB

12,000

13,100

11,800

-8.39

+1.69

KBANK

11,200

10,106

9,500

+10.82

+17.89

BBL

8,600

9,014

7,700

-4.59

+11.68

KTB

7,300

8,510

10,000

-14.21

-27

BAY

3,900

4,040

3,100

-3.46

+25.80

TMB

1,700

1,800

1,799

-5.55

-5.50

TCAP

1,500

1,950

1,540

-23

-2.59

TISCO

986

1,150

806

-14.26

+22.33

KKP

922

1,162

1,000

-20.65

-7.8

รวม

48,108

50,832

47,245

-5.40

+1.70

posted from Bloggeroid

รายงานการประชุมของเฟดหนุนหุ้นเอเชีย ต่างประเทศ วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2557 

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: รายงานการประชุมของเฟดหนุนหุ้นเอเชีย

ต่างประเทศ วันศุกร์ที่ 11 เมษายน 2557
ผู้เข้าชม : 4 คน
ซีเอ็นบีซี - หุ้นเอเชียทะยานขึ้นเมื่อวานนี้หลังจากที่มีความผันผวน โดยได้รับแรงหนุนจากรายงานการประชุมครั้งล่าสุดของเฟด ตลาดหุ้นจีนมีผลงานโดดเด่นสุด ทั้งที่ข้อมูลการค้าสร้างความผิดหวัง



การส่งออกของจีนลดลง 6.6% ในเดือนมีนาคม จากที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4% และหลังจากที่ลดลง 18% ในเดือนกุมภาพันธ์ ในขณะเดียวกันการนำเข้าลดลง 11.3% จากที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.4%

หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลนำเข้าและส่งออก นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีนกล่าวว่า รัฐบาลจีนจะไม่ดำเนินมาตรการกระตุ้นในระยะสั้นเพื่อจัดการกับความผันผวนในระยะสั้นของเศรษฐกิจ

นิโคลัส เฟอร์เรส ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนของบริษัทอีสต์สปริง อินเวสเมนต์ กล่าวว่า เรากลับมาสู่ตรรกะที่หักมุมว่าข่าวร้ายคือข่าวดี และเขาสงสัยว่าแม้จะมีคำพูดจากนายกรัฐมนตรีหลี่ แต่รัฐบาลปักกิ่งจะถูกบีบให้ผ่อนคลายนโยบายและไม่คิดว่าผู้นำจีนกำลังบอกความจริงทั้งหมด แต่มองว่าจีนจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายเพราะการเติบโตค่อนข้างอ่อนแอ โดยการผ่อนคลายนโยบายอาจจะมาในรูปของการลดRRR ลดอัตราดอกเบี้ยหรือการทำให้เงินอ่อนค่า

อารมณ์ในตลาดยังได้รับแรงหนุนหลังจากที่รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯครั้งสุดท้ายบ่งชี้ว่าคณะกรรมการนโยบายเงินมีแนวโน้มที่จะรักษาอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำไว้ในอนาคตอันใกล้นี้ซึ่งช่วยระงับความวิตกที่จะมีการขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด

ตลาดเซี่ยงไฮ้ ปรับตัวขึ้น 1.3% หุ้นจีนดีดตัวในชั่วโมงสุดท้ายของการซื้อขายหลังจากที่มีข่าวว่ารัฐบาลปักกิ่งจะอนุญาตให้มีการลงทุนข้ามพรมแดนระหว่างตลาดหุ้นฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ผู้เชี่ยวชาญเรียกการเคลื่อนไหวนี้ว่าเป็นการก้าวไปสู่การเปิดตลาดทุนของจีน

นอกจากนี้อารมณ์ในตลาดยังได้รับแรงหนุนจากข่าวที่ว่าธนาคารกลางจีนอัดฉีดเงินรายสัปดาห์สุทธิเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมกราคม ดัชนีเซี่ยงไฮ้ คอมโพสิต จึงดีดตัวต่อเป็นวันที่สองติดกัน โดยปิดระดับสูงสุดในรอบเกือบสองเดือน โดยมีหุ้นการเงินดีดตัวมากสุด

นักลงทุนยังวิเคราะห์ข่าวจากวอลล์สตรีท เจอร์นัลที่ว่า หม่า จุน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์คนใหม่ของธนาคารกลางจีน กำลังผลักดันแผนการที่จะเปิดเสรีระบบการเงินของรัฐบาลปักกิ่งภายใน 3 ปี

ดัชนีนิกเกอิปิดไม่เปลี่ยนแปลง จากวันพุธหลังจากที่ดีดตัวถึง 1% ในช่วงเช้า เมื่อเงินเยนเริ่มแข็งค่าอีกครั้ง อย่างไรก็ดี ดัชนีสามารถยุติการปรับตัวลงนาน 4 วันได้

มีข้อมูลในญี่ปุ่นที่ชี้ว่า คำสั่งซื้อเครื่องจักรลดลง 8.8% ในเดือนกุมภาพันธ์เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม ซึ่งถือว่าแย่กว่าที่คาด จึงทำให้หุ้นเครื่องจักรปรับตัวลงหลังจากดีดตัวในช่วงต้น ขณะเดียวกันหุ้นโตโยต้า มอเตอร์ ปรับตัวลงกว่า 2% หลังจากที่บริษัทประกาศเมื่อเย็นวันพุธว่าจะเรียกรถคืน 6 ล้านคัน

ดัชนี S&P ASX 200 ของออสเตรเลีย แตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปีครึ่งเป็นวันที่สองติดต่อกัน โดยหุ้นการเงินดีดตัวมากสุด เนื่องจากมีรายงานว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียสร้างงาน 181,000 ตำแหน่งในเดือนมีนาคม จากที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5,000 ตำแหน่ง ในขณะเดียวกัน อัตราการว่างงานลดลงเหลือ 5.8% จากที่คาดไว้ 6%

หุ้นเกาหลีใต้ดีดตัวระหว่างแดนลบกับแดนบวกหลังจากที่พุ่งแตะระดับสูงสุดของปีนี้อีกครั้งในช่วงเช้า ดัชนีคอสปิปิดเพิ่มขึ้น 0.48%

ธนาคารกลางเกาหลีใต้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.5% ตามคาด และเป็นการประชุมครั้งแรกของ ลี จู-หยิว ผู้ว่าการธนาคารกลางคนใหม่

อย่างไรก็ดี ที่ตลาดจาการ์ตา หุ้นปรับตัวลง 3.6% และเงินรูเปียอินโดนีเซียอ่อนสุดในรอบสามสัปดาห์หลังจากผลการเลือกตั้งรัฐสภาในเบื้องต้นชี้ว่า พรรคฝ่ายค้านได้คะแนนเพียง 19% เทียบกับที่คาดว่าจะได้ถึง 25%

posted from Bloggeroid

วันพุธที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2557

‘เศรษฐา’โยกหุ้นฝากนอมินี

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: ‘เศรษฐา’โยกหุ้นฝากนอมินี

บริษัทจดทะเบียน วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน 2557
ผู้เข้าชม : 9 คน
เปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น "แสนสิริ" ไม่พบรายชื่อ "เศรษฐา ทวีสิน" ถือหุ้น เจ้าตัวเผยโยกหุ้นไปลงทุนรูปแบบอื่น พร้อมยันไม่ได้ขายทิ้ง ขณะล่าสุด"คีรี กาญจนพาสน์" ดอดถือหุ้น0.96% ส่วนยอดขายไตรมาส 1/57 ทรุดเหลือ 4,000 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจข้อมูลโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งปิดสมุดล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มี.ค.57 พบว่าไม่ปรากฏรายชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ในโครงสร้างผู้ถือหุ้น แต่พบชื่อนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เข้ามาถือหุ้นในบริษัท แสนสิริ จำนวน 92 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.96% ขณะที่บริษัท ที.เอส.สตาร์ ซึ่งมีนายเศรษฐา ถือหุ้นอยู่ก็ลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 1.36% หรือถืออยู่จำนวน 130 ล้านหุ้น

ขณะที่การสำรวจโครงสร้างผู้ถือหุ้นย้อนหลัง 3 ปี (2555-2557) ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของแสนสิริ คือ บริษัท ที.เอส.สตาร์ โดยถือหุ้นอยู่จำนวน 1,272,697,600 หุ้น คิดเป็น 17.82% ปี 2555 ก่อนที่สัดส่วนการถือหุ้นจะลดลงเหลือ 771,125,810 หุ้น คิดเป็น 9.20% ในปี 2556 และเหลือ 130ล้านหุ้น คิดเป็น 1.36% ในปี 2557

ส่วนนายเศรษฐา ทวีสิน ถือหุ้นในอันดับ 10 โดยถืออยู่ 105ล้านหุ้น คิดเป็น 1.47% ในปี 2555 ก่อนที่จะมาถือเพิ่มเป็น 315,062,190 หุ้น คิดเป็น 3.76% ในปี 2556 และรายชื่อหายไปจากโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ในปีนี้

โดยประเด็นดังกล่าวได้รับคำตอบจากนายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ เพียงสั้นๆ ว่า การที่ไม่ปรากฏชื่อการเป็นผู้ถือครองหุ้นแสนสิริล่าสุด เพราะได้ถือลงทุนในรูปแบบอื่น และยืนยันไม่ได้ขายหุ้นทิ้งโดยยังถืออยู่

ดังนั้น จึงตั้งข้อสังเกตว่า หุ้นหายไปไหน ถ้านายเศรษฐา ยืนยันว่าไม่ได้ขายหุ้นทิ้งและยังถืออยู่ เพราะก่อนหน้านี้ เคยกล่าวไว้ว่าจะไม่ขายหุ้นออกมาอีก และหากอ้างว่าถือหุ้นผ่านบริษัท ที.เอส.สตาร์ จำกัด ที่คาดว่าจะเป็นนอมินี ก็ไม่น่าเป็นไปได้ เนื่องจากสัดส่วนของที.เอส.สตาร์ ก็หายไปเหมือนกัน หรือนายเศรษฐาจะโยกหุ้นไปอยู่ในบริษัทที่เป็นนอมินีรายอื่น คงต้องมีสอบถามข้อเท็จจริงต่อไป นอกจากนี้ การที่ปรากฏชื่อนายคีรี กาญจนพาสน์ โผล่เข้ามาถือจะมีนัยสำคัญหรือไม่

ด้านนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การที่หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ลดสัดส่วนการถือครองหุ้น ถือเป็นผลกระทบทางจิตวิทยา และถ้าพิจารณาการถือครองหุ้นเทียบกับ 2 ปีก่อน พบว่า ปีนี้ไม่ปรากฏชื่อนายเศรษฐา ส่วนบริษัทที.เอส.สตาร์ ซึ่งมีนายเศรษฐาถือหุ้นอยู่ ก็ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นในแสนสิริลงมากเหลือแค่ 1.36% จากปี 2555 ถือครอง 19.27% ส่วนครอบครัวบุรณศิริ และครอบครัวจูตระกูล กลับเพิ่มขึ้น แต่เป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัก

ด้านนายอุทัย อุทัยแสงสุข รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจและพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI เปิดเผยว่า บริษัทคาดยอดขายรวมไตรมาส 1/57 อยู่ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท ลดลงค่อนข้างมากจากไตรมาส 1/56 ที่มียอดขายกว่า 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากไตรมาส 1 ปีนี้บริษัทมีการเปิดโครงการใหม่เพียง 3 โครงการ ซึ่งน้อยกว่าปีก่อนที่มีการเปิดโครงการใหม่กว่า 10 โครงการ ขณะที่ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองกระทบต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้าด้วย

สำหรับแผนการเปิดโครงการในไตรมาส 2/57 บริษัทมีแผนเปิดโครงการใหม่ 4-5 โครงการ มูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นบ้านเดี่ยว ทั้งนี้ คาดว่ายอดขายในช่วงครึ่งปีแรกจะอยู่ที่ประมาณ 7,000-1 หมื่นล้านบาท จากการเปิดโครงการใหม่ทั้งหมด 6-8 โครงการ

นายอุทัย กล่าวว่า บริษัทเตรียมทบทวนแผนการเปิดโครงการและยอดขายปีนี้ใหม่ในช่วงครึ่งปีหลัง จากเดิมที่มีแผนเปิดโครงการใหม่ทั้งหมด 19 โครงการ มูลค่ารวม 3.32 หมื่นล้านบาท รวมถึงเป้ายอดขายจากเดิมตั้งไว้ที่ 3 หมื่นล้านบาท ขณะที่ยังคงเป้ารายได้ปี 2557 ไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาทเช่นเดิม เนื่องจากจะมีการรับรู้รายได้จากยอดขายรอโอน (Backlog) ที่มีอยู่ 6.2 หมื่นล้านบาท ที่คาดว่าจะโอนในปีนี้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทจะติดตามปัจจัยทางการเมือง เศรษฐกิจ บรรยากาศการตัดสินใจซื้อของกลุ่มลูกค้าอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินสถานการณ์ทุกเดือน

นายอุทัย กล่าวว่า ในช่วงไตรมาส 1/57 มีลูกค้าที่โอนบ้านและคอนโดมิเนียมไม่ได้ ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็นมากกว่า 10% จากระดับปกติอยู่ที่ 5-10% โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการคอนโดมิเนียมที่ระดับราคา 1-3 ล้านบาท เนื่องจากกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ผ่านการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ จากผลกระทบทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ไม่ แน่นอน และอีกส่วนหนึ่งมาจากการชะลอโอนของลูกค้า ซึ่งมีไม่มาก

สำหรับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์แสนสิริ ไพร์มออฟฟิศ (SIRIP) ซึ่งเข้าซื้อขายวานนี้ (9 เม.ย.) เป็นวันแรก ราคาเปิดที่ ตลาด13.90 บาท ก่อนจะปิดตลาดที่ 9.70 บาท ลดลง 0.30 บาท หรือลดลง 3% จากราคา IPO ที่ 10 บาท โดยราคาปรับขึ้นสูงสุดแตะ 15 บาท และต่ำสุดที่ 9.70 บาท

ทั้งนี้ SIRIP มีจำนวน 170 ล้านหน่วย หน่วยละ 10บาท รวมมูลค่า 1,700 ล้านบาท ลักษณะโครงการลงทุนในกรรมสิทธิ์ที่ดิน อาคารสำนักงานสิริภิญโญ งานระบบและสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องของอาคาร บนที่ดิน 2 ไร่ 3 งาน 13.4 ตร.วาพื้นที่ใช้สอยอาคารรวม 41,758 ตร.ม. เป็นพื้นที่ให้เช่า 18,364 ตร.ม.โดยมี บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด เป็นบริษัทจัดการ

posted from Bloggeroid

สุเทพ เทือกสุบรรณ กลับออกมาจากการเจรจากับพล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม แล้วก็ให้สัมภาษณ์ชนิดนักข่าวตกตะลึงว่า เรื่องตนเองประกาศจะเป็นรัฏฐาธิปัตย์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาน่ะ...

ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: ไม่ตลกด้วยกับเรื่องสมมุติ

คอลัมน์ วันพฤหัสบดีที่ 10 เมษายน 2557
ผู้เข้าชม : 15 คน
สุเทพ เทือกสุบรรณ กลับออกมาจากการเจรจากับพล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม แล้วก็ให้สัมภาษณ์ชนิดนักข่าวตกตะลึงว่า เรื่องตนเองประกาศจะเป็นรัฏฐาธิปัตย์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาน่ะ...

แท้จริงเป็นเรื่องที่ตนสมมุติขึ้นมาเท่านั้น

ว้าว! จากภาพข่าวทางโทรทัศน์ ก็เพิ่งจะเห็นนายสุเทพพูดจาอ้ำอึ้ง อ้อแอ้ ก็คราวนี้แหละ

บอกว่าเรื่องนี้ยังไม่เกิดขึ้น เพียงแต่เป็นการสมมุติขึ้นว่า หากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากระทำขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ประเทศไทยจะเกิดสุญญากาศ

อำนาจอธิปไตยจะกลับคืนสู่ประชาชน สามารถใช้มาตรา 3 ตั้งรัฏฐาธิปัตย์ด้วยความร่วมมือจากทุกฝ่าย และจัดตั้งสภานิติบัญญัติ เพื่อปฏิรูปบ้านเมืองต่อไป แล้วก็บลาๆๆ...

ไหงเป็นเรื่องสมมุติไปเสียฉิบ! ผิดกับท่าทีขึงขังเด็ดเดี่ยวบนเวที กปปส.ของลุงกำนัน เมื่อค่ำคืนวันเสาร์ที่ 5 เม.ย.ที่ผ่านมาจริงๆ

ลุงกำนันแบไพ่ใบสำคัญชัดเจนว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยิ่งลักษณ์จนหมดสภาพไปแล้ว ลุงกำนันนี่แหละจะทำเท่เข้ามาเป็นรัฏฐาธิปัตย์หรือผู้กุมอำนาจรัฐเสียเอง

จะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลางและสภานิติปัญญัติหรือสภาของมวลมหาประชาชนขึ้นมาเอง

กลเกมทั้งหลายก็คงจะวางแผนมาเป็นลำดับขั้นเช่นนี้แหละ เมื่อทหารไม่ออกมา ก็ใช้ “ตุลาการรัฐประหาร” และองค์กรอิสระทั้งหลาย มากระทำการแทนทหาร

เพียงแต่สุเทพออกมาเผยกลเกมเร็วไปหน่อย ในขณะที่ขั้วอำนาจสมคบคิดทั้งหลาย ยังไม่ตกผลึกในการตัดสินแผนเผด็จศึกขั้นสุดท้ายเสียที

จึงกลายเป็นว่าสุเทพ ”ออฟไซด์” และก็ต้องกลับลำ 180 องศา ออกมาปฏิเสธเรื่องจะตั้งตนเป็นรัฎฐาธิปัตย์ว่า เป็นแค่เรื่องสมมุติเท่านั้น

แต่เรื่องสมมุติของสุเทพ กลับกลายเป็นฝันร้ายของประเทศมาเป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้ว

เรื่องสภาคนดีเอย สังคมจะดีงามโดยปราศจากนักการเมืองที่ฉ้อฉลเอย แช่แข็งประเทศเป็นเวลา 2 ปี รวมทั้งต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเอย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นจินตนาการสมมุติขึ้นมาทั้งนั้น

ความปรารถนามันจะเป็นจริงขึ้นมาได้อย่างไรเล่า ในเมื่อสิ่งที่กระบวนการสุเทพทำมาทั้งหมด ล้วนเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ไม่เดินตามตรอก ตามระบบมาทั้งสิ้น

ขอสมมุติเลียนแบบสุเทพบ้างนะครับ…สมมุติว่าตุลาการรัฐประหาร ไถยิ่งลักษณ์พร้อมคณะรัฐบาลเสียราบคาบไปแล้ว ใครล่ะครับ จะเป็นผู้สั่งให้มีรัฐบาลคนกลาง และสภาคนดี

ตุลาการรัฐธรรมนูญหรือ หรือจะใช้วุฒิสภาลากตั้ง

กล้าสั่งหรือ? เพราะไม่มีตัวบทกฎหมายรองรับให้สักตัว ขนาดสุเทพแอะเรื่องรัฏฐาธิปัตย์ขึ้นมา ก็ยังม้วนอาย ต้องกลับลำแก้เขินมาแล้ว

การเลือกตั้งเป็นทางเดียวที่จะผ่าทางตันได้ บ้านเมืองต้องกัดกร่อนและเสียเวลามามากแล้วกับเรื่องสมมุติ

posted from Bloggeroid

วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2557

Property Sector By บล.เคเคเทรด

Property Sector By บล.เคเคเทรด


วันศุกร์ที่ 04 เมษายน 2557 เวลา 09:59:50 น.
ผู้เข้าชม : 746 คน

หุ้น คำแนะนำ มูลค่าเหมาะสม
AP Trading Buy 6.70
LH Buy 11.25
LPN Sell 14.50
PS Hold 23.30
QH Hold 3.80
SIRI Trading Buy 2.44
SPALI Buy 22.40

posted from Bloggeroid

ทวีฉัตร-ณัฐพล จุฬางกูร โยกเงินขาย IVL เก็บหุ้น SC

ทวีฉัตร-ณัฐพล จุฬางกูร โยกเงินขาย IVL เก็บหุ้น SC


วันศุกร์ที่ 04 เมษายน 2557 เวลา 16:12:16 น.
ผู้เข้าชม : 1158 คน



แหล่งข่าวจากตลาดทุน กล่าวว่า นายทวีฉัตรและนายณัฐพล จุฬางกูร สองนักลงทุนรายใหญ่ ได้เข้ามาถือหุ้น บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ SC โดยนายทวีฉัตร ถือครองหุ้นอยู่ 40,203,800 หุ้น หรือคิดเป็น 1.08 % นายณัฐพล ถือครองหุ้นอยู่ 21,370,900 หุ้น หรือคิดเป็น 0.58 %

สำหรับยอดรวมที่นายทวีฉัตร และนาย ณัฐพล สองนักลงทุนรายใหญ่ ถือหุ้น SC รวมกันทั้งสิ้น 61,574,700 หุ้น หรือคิดเป็น 1.60% จากเดิมที่ไม่เคยถืออยู่เลย

ก่อนหน้านี้ นายทวีฉัตรและนายณัฐพล ได้เทขายหุ้นบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน)หรือ IVL เทขายหุ้นไป 81,050,800 หุ้น จากเดิมยอดรวมถืออยู่ 213,024,000 หุ้น ทำให้ปัจจุบันถือหุ้นอยู่ 131,973,200 หุ้น

“ทวีฉัตรและณัฐพล ผู้ถือหุ้นใหญ่ IVL ได้ทยอยเทขายหุ้นออกมา ภายหลังจากที่ราคาหุ้นได้ปรับตัวขึ้นมาเกินทุนที่เคยถือไว้ที่ระดับประมาณ 21-22 บาท ซึ่งถ้าหากยังดีอยู่ คงจะไม่ทยอยเทขายออกมา ”

บล.เอเชีย พลัส จำกัด(มหาชน) แนะนำซื้อหุ้น SC ให้ราคาเป้าหมาย 4.45 บาท และให้ Dividend Yield ที่สูงกว่า 5%

posted from Bloggeroid

ระวัง ! แรงขายทำกำไร หลังจบข่าว SIMAT จับมือ AIS

ระวัง ! แรงขายทำกำไร หลังจบข่าว SIMAT จับมือ AIS


วันศุกร์ที่ 04 เมษายน 2557 เวลา 13:43:58 น.
ผู้เข้าชม : 459 คน





ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) ระบุว่า ภายหลังจากที่ บริษัท ไซแมท เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SIMAT ประกาศ การทำสัญญาร่วมให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (high speed broadband Internet) กับบริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ตเวอร์ค จำกัด (“SBN”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) ภายในเขตพื้น ที่จังหวัดนครราชสีมา เชียงใหม่ และ/หรือพื้นที่อื่นที่มีความต้องการสูง ซึ่งทั้ง สองฝ่ายจะตกลงร่วมกันในอนาคต ซึ่งมีผลใช้บังคับต้นแต่ 18 มีนาคม 2557 เป็นต้นไป

ทำให้ SIMAT มีหน้าที่บริหารจัดการ ลากสาย ติดตั้งอุปกรณ์ให้กับลูกค้า ส่วน AIS ทำการตลาด และบริหารจัดการด้ายบิลเก็บเงินรายเดือน ทั้งนี้จะมีการแบ่งรายได้ในฐานะที่ SIMAT เป็นเจ้าของโครงข่ายใน 2 พื้นที่นี้ทำให้ SIMAT จะได้ส่วนแบ่งรายได้มากกว่า 50% คาดที่ราว 60-65% ด้วยฐานกำไรที่ต่ำเพียง 30-40 ล้านบาทต่อปีของ SIMAT เราคาดว่าธุรกิจนี้จะกลายเป็นรายได้หลักของบริษัทภายใน 2 ปีข้างหน้า

ในช่วงแรกร่วมให้บริการเฉพาะในพื้นที่เชียงใหม่ และโคราช แต่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นได้อีกซึ่ง SIMAT มีพันธมิตรที่มีโรงข่ายแต่ไม่มี License อยู่ในจังหวัด อุบล อุดร ขอนแก่น และหัวหิน จึงเป็นโอกาสในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการให้บริการยังคงมีต้นทุนคงที่สูง และจะดีขึ้นเมื่อจำนวนลูกค้าทยอยเพิ่มขึ้นคล้าย JAS ในอดีต เราจึงอาจยังคงประมาณการกำไรปีนี้ เพราะประโยชน์ชัดเจนน่าจะเกิดขึ้นปีหน้า จึงมีโอกาสปรับประมาณการปีหน้าขึ้น การประกาศข่าวนี้อาจเป็นประเด็นเก็งกำไรได้ ราคาเป้าหมาย 7.10 บาท

ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวลือ การจับมือการดำเนินธุรกิจของSIMATA กับAIS ออกมาอย่างหนาหู ในที่สุดก็เป็นจริง ทั้งนี้ให้ระวังแรงเทขาย ทำกำไรออกมา ภายหลังจากมีการประกาศข่าวอย่างเป็นทางการแล้ว อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น ณ ปัจจุบันยังห่างจากราคาเป้าหมายที่นักวิเคราะห์ได้ให้ไว้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนักลงทุน ที่ผ่านมาราคาหุ้น SIMAT ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่ง กล่าวว่า สำหรับแนวรับหุ้นSIMATอยู่ที่ 6.65 บาท หากหลุดแนวรับดังกล่าวจะลงมาที่ 6.45 บาท และ6.15 บาทต่อลำดับ

posted from Bloggeroid

คาดยอดขายรถยนต์ในประเทศในปีนี้ จะหดตัวลงแรงราว 20-25% มาอยู่ที่ 1.00-1.06 ล้านคัน โดยเป็นผลจากกำลังซื้อที่ชะลอตัว และปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อ

วันศุกร์ที่ 04 เมษายน 2557 เวลา 15:33:45 น.
ผู้เข้าชม : 133 คน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดยอดขายรถยนต์ในประเทศในปีนี้ จะหดตัวลงแรงราว 20-25% มาอยู่ที่ 1.00-1.06 ล้านคัน โดยเป็นผลจากกำลังซื้อที่ชะลอตัว และปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อ รวมถึงแรงกระตุ้นจากโครงการรถยนต์คันแรก หมดลงการหดตัวของตลาดในประเทศ คาดว่าจะดึงให้ยอดการผลิตรถยนต์ในปีนี้ ลดลงราว 6-10% จากปีก่อน แต่ศูนย์วิจัยฯ คาดว่า ภาวะดังกล่าวจะเกิดขึ้นแค่ใน ระยะสั้น ขณะที่การลงทุนจากค่ายรถยนต์ต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น จะยังหนุนให้ไทยสามารถ ผลิตรถยนต์ได้มากกว่าปีละ 3 ล้านคัน ภายใน 5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยฯ มองว่า เมื่อเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะเริ่ม เห็นการขยายตัวของยอดขายรถยนต์ในประเทศได้อย่างชัดเจนมากขึ้น จากปัจจัยบวก ในเรื่องฐานที่ต่ำในปีที่แล้ว และสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าน่าจะเริ่มคลี่คลายได้มากขึ้น การปรับลดลงของยอดการผลิตในปีนี้ จะเป็นเพียง การปรับลดลงในระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งในระยะต่อจากนี้ไป ปัจจัยบวกสำหรับการผลิตรถยนต์ในประเทศของไทย จะมีเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบเออีซี และการพัฒนาสายการผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ ภายใต้โครงการ อีโคคาร์ รุ่นที่ 2

posted from Bloggeroid

วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2557

เล็กเซียวหงส์<br/><br/> คอลัมน์ วันศุกร์ที่ 04 เมษายน 2557

kaohoon.com
ข่าวหุ้น - กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุน:: เล็กเซียวหงส์



คอลัมน์
วันศุกร์ที่ 04 เมษายน 2557
ผู้เข้าชม : 14 คน

หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุนที่ได้รับความนิยมสูงสุดของประเทศ ฉบับศุกร์-เสาร์-อาทิตย์-จันทร์ ประจำวันที่ 4-7 เมษายน พ.ศ. 2557 ดัชนีหุ้นไทยปิดตลาด 1,391.22 จุด ติดลบ 5.40 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขาย 34,514 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1,307 ล้านบาท บัญชีโบรกเกอร์ซื้อสุทธิ 459 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 823 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 2,590 ล้านบาท จับตาศุกร์สุดสัปดาห์นี้ มีโอกาสทดสอบแนวต้าน 1,400 จุด และหากฝ่าแนวต้านไม่ได้ แนวรับ 1,380 จุด น่าจะพอรับได้

.........................................................

หนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจ กระบอกเสียงอิสระแห่งตลาดทุนที่ได้รับความนิยมสูงสุดของประเทศ ฉบับศุกร์-เสาร์-อาทิตย์-จันทร์ ประจำวันที่ 4-7 เมษายน พ.ศ. 2557 ดัชนีหุ้นไทยปิดตลาด 1,391.22 จุด ติดลบ 5.40 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขาย 34,514 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันในประเทศซื้อสุทธิ 1,307 ล้านบาท บัญชีโบรกเกอร์ซื้อสุทธิ 459 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 823 ล้านบาท ส่วนนักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 2,590 ล้านบาท จับตาศุกร์สุดสัปดาห์นี้ มีโอกาสทดสอบแนวต้าน 1,400 จุด และหากฝ่าแนวต้านไม่ได้ แนวรับ 1,380 จุด น่าจะพอรับได้หุ้น SUTHA หรือหุ้นปูนขาว น้องใหม่เข้าเทรดวันแรกปิดตลาด 6.20 บาท ถือว่าเอาตัวรอดและทำกำไรได้ไม่น้อยทีเดียว แต่หุ้นตัวนี้ต้องดูยาวๆ ปัจจัยพื้นฐานถือว่าไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษอะไรหุ้น ANAN มีข่าวดีมาอวดล่าสุดบอร์ดไฟเขียวใช้เงิน 500 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 10% ท่าทางวันนี้หุ้น ANAN คงวิ่งกระฉูดเป็นแน่เชียว..!! ส่วนปัจจัยพื้นฐาน ANAN จัดเป็นหุ้นที่พื้นฐานดีพอสมควร ดังนั้นจึงเหมาะกับการเล่นเก็งกำไรระยะสั้นหุ้น EARTH หุ้นถ่านหินหอม ล่าสุดเห็นว่า หมอ “ยรรยง” นักลงทุนรายใหญ่ เข้าไล่เก็บหุ้นเข้าพอร์ตไม่น้อยทีเดียว เพราะดูพื้นฐานบริษัทไปได้สวยออเดอร์ถ่านหิน มีมากจนขุดขายแทบไม่ทัน...นี่ถ้าเกิดเศรษฐกิจจีนฟื้นตัว EARTH น่าจะได้ประโยชน์ไม่น้อยทีเดียว*หุ้น CPALLราคาเริ่มฟื้นตัวล่าสุดปิดที่ 44.50 บาท ว่ากันว่าช่วงนี้หุ้นค้าปลีกกำลังกลับมา ราคาเป้าหมายเบื้องต้น 47 บาทเช่นเดียวกับหุ้น HMPRO ที่ได้เวลากลับมาเทรดอีกครั้ง ล่าสุดราคาผ่านแนวต้าน 10 บาทมาได้ เป้าหมายต่อไปอยู่ที่ 13 บาท แต่ทว่าระหว่างวันน่าจะเกิดแรงเทขายทำกำไรออกมาบ้างหุ้น SCB แม้ราคาร่วง แต่ล่าสุดผู้ถือหุ้นไฟเขียวปันผล 3.75 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 17,846 ล้านบาท ขึ้น XD 11 เม.ย.นี้ ใครต้องการซื้อหุ้นเพื่อรับปันผลต้องซื้อภายในวันที่ 10 เม.ย.นี้เท่านั้นหุ้น TOP น่าจับตาการลงทุนต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศ “อินโดนีเซีย เวียดนามและพม่า” เชื่อว่าอนาคตน่าจับตาไม่น้อยทีเดียว ราคาหุ้นล่าสุด 52.25 บาท ถือว่าต่ำกว่าพื้นฐานอยู่มาก และด้วย P/E อยู่เพียงแค่ 10 เท่า นับเป็นหุ้นที่เล่นได้ทั้งเก็งกำไรและถือยาวได้เลยทีเดียว*ปิดท้ายกันเช่นเคยกับข่าวหุ้นออนทีวีกับรายการ “ข่าวหุ้นเจาะตลาด” ช่วงวันจันทร์-ศุกร์เวลา 13.05-13.30 น.หรือดูย้อนหลังผ่าน http://www.springnewstv.tv/program/insidestock และรายงานสถานการณ์หุ้น ช่วงเปิดตลาดเช้า Skype กันแบบสดๆ จากกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวหุ้นธุรกิจผ่านรายการ “บันทึกเศรษฐกิจ: Economic Journal” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.20-11.30 น. การันตีข้อมูลข่าวสารแน่นเหมือนเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลง เพราะทุกโจทย์เรื่องหุ้น หาตอบโจทย์ได้ที่ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” เท่านั้น..!!

posted from Bloggeroid