วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2558

SET ยังลงไม่สุด!แนะชะลอลงทุน

 

  
      
  โบรกฯ คาด SET สัปดาห์นี้ร่วงต่อ พร้อมประสานเสียงประชุมเฟด 18-19 มี.ค.นี้ ได้เห็นสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยเป็นตัวกดดันสำคัญ หลังผลสำรวจชี้มีโอกาสถึง 52% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยช่วงเดือนมิ.ย.นี้ ขณะที่ปัจจัยในประเทศยังต้องติดตามการปรับลดประมาณการศก.ไทยของแบงก์ชาติในวันที่ 20 มี.ค.นี้ รวมถึงความคืบหน้ารถไฟรางคู่ไทย-จีน - คดีจำนำข้าว -และการถอดหุ้น BAY ออกจากดัชนี FTSE ขณะที่การเมืองเริ่มกดดันตลาดมากขึ้น ทั้งความล่าช้าในการร่างรัฐธรรมนูญ และการบริหารงานของรัฐบาล ประเมินแนวรับ 1,520-1,530 จุด แนวต้าน 1,560-1,570 จุด 

        ตลาดหุ้นไทยปิดท้ายสัปดาห์แบบทรงตัว ดัชนีฯยังคงเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด แม้ว่าช่วงกลางสัปดาห์จะได้รับข่าวดีที่เหนือความคาดหมายจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% มาอยู่ที่ 1.75% จากคณะกรรมการนโยบายทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ตาม แต่ก็เป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทยให้ปรับตัวขึ้นมาได้เพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น ขณะที่นักวิเคราะห์ แต่ละสำนักยังเชื่อว่าตลาดหุ้นไทย และตลาดทุนทั่วโลกยังรอความชัดเจนในการประชุมของะนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 18-19 มีนาคมนี้ ว่าจะมีสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกมาในการประชุมครั้งนี้หรือไม่
       โดยวันศุกร์ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดที่ระดับ 1541.55 จุด ลดลง 2.79 จุด หรือ -0.18% มูลค่าการซื้อขาย 4.66 หมื่นล้านบาท ด้านการซื้อขายสุทธิของตลาดหุ้นไทย มีดังนี้ นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 723.74 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิ -1,068.14 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 637.84 ล้านบาท นักลงทุนทั่วไปขายสุทธิ - 293.43 ล้านบาท 

*** คาด SET ดิ่งต่อ เฟดจ่อขึ้นดอกเบี้ย-ธปท.เตรียมลด GDP ไทย 

       นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัย บล.ทิสโก้ เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มแกว่งตัวลง เนื่องจากสัปดาห์นี้มีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม ซึ่งจะกระทบการลงทุนให้ผันผวน ไม่ว่าจะเป็นท่าทีต่อการส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่ง บล. ทิสโก้ คาดว่าเฟดน่าจะส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ด้วยการยกเลิกคำว่า "Patient หรือ อดทน " ออกไป ซึ่งตีความได้ว่า จะไม่อดทนรอ ถือเป็นการส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในการประชุม 2 รอบ ถัดไป
       ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยใหม่ โดยเฉพาะตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อบรรยากาศการลงทุนอย่างชัดเจน แม้ว่าล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงินจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แต่คาดว่าไม่น่าจะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เท่าที่ควรจะเป็น มาตราการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่า คือ การกระตุ้นจากนโยบายการคลัง แต่ทว่าการดำเนินนโยบายต่าง ๆ โดยภาครัฐ ยังคงล่าช้า จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันบรรยากาศการลงทุน
       ด้านกลยุทธ์ แนะนำชะลอลงทุน หรือเลือกเก็งกำไรหุ้นรายตัว พร้อมประเมินแนวรับ 1,520-1,530 จุด แนวต้าน 1,560-1,570 จุด 

*** เจ้าหน้าที่เฟดเสียงแตก เชียร์ทั้งขึ้นและคงดอกเบี้ย 

       บล.ฟินันเซีย ไซรัสเปิดเผยว่า ประเด็นสำคัญที่ตลาดหุ้นทั่วโลกติดตาม ในสัปดาห์นี้อยู่ที่การประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันที่ 17-18 มี.ค. ซึ่งจะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยตามที่นางเจเจ็ต เยลเลน ประธาน FOMC เคยกล่าวว่าจะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้และครั้งหน้าคือ 28-29 เม.ย. ประเด็นสำคัญอยู่ที่ถ้อยแถลงของเฟด ว่าจะนำคำว่า “อดทนในการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย” ออกจากคำแถลงการณ์หรือไม่ เราเชื่อว่า Flow จากต่างชาติจะยังเบาบางในช่วง 1H15 จนกว่าจะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ชัดเจน
       บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า หลังจากที่ สหรัฐรายงาน ยอดค้าปลีก ล่าสุด เดือน ก.พ. หดตัว 0.6%mom เป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่ ตลาดแรงงานยังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก2 รายสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 7 มี.ค. ลดลง 36,000 ราย อยู่ที่ระดับ 289,000 ราย นั้น จากประเด็นดังกล่าว ทำให้เชื่อว่าการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในครั้งถัดไปวันที่ 18-19 มี.ค. (จากการประชุมครั้งล่าสุด เฟด จะยังคงดอกเบี้ย ในอีกการประชุม 2 ครั้งหน้า เดือน มี.ค. และ เม.ย.) น่าจะกลับมาให้น้ำหนักต่อประเด็นดังกล่าวอีกครั้ง เนื่องจากขณะนี้มีความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ และบุคคลสำคัญในเฟดหลายท่าน เริ่มมีความเห็นแตกแยกเป็น 2 กลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มแรก สนับสนุนต่อการขึ้นดอกเบี้ยฯ ในช่วงกลางปี 2558 หรือราวเดือน มิ.ย. – ก.ย. (นำโดย นาย John Williams (เฟดซานฟรานซิสโก) ประธานเฟดหลายสาขา) ขณะกลุ่มสอง สนับสนุนให้ยืดดอกเบี้ยฯ ออกไปเป็นปลายปี 2558 หรือต้นปี 2559 ได้แก่ นาย Charles Evans (เฟดชิคาโก)ประเด็นจึงอาจจะเป็นทั้งปัจจัยบวก และ ลบ ในเวลาเดียวกัน

*** กสิกรไทย ชี้มีโอกาส 52% ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยมิ.ย.นี้ 

       ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภาพการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่บนเส้นทางการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งคงเป็นปัจจัยที่ยืนยันการตัดสินใจของเฟดที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ ตลาดคาดการณ์ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอาจเกิดขึ้นอย่างเร็วในการประชุมรอบวันที่ 16-17 มิถุนายน 2558 จากการพิจารณาจากข้อมูลจาก Fed Funds Future ซึ่งเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด โดยล่าสุดผลสำรวจชี้ว่ามีความเป็นไปได้ 52% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นรอบการประชุมเดือน มิถุนายนนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงการประชุมเฟดเดือน มกราคม 2558 ที่ตลาดมองว่ามีโอกาส 49% และช่วงปลายปี 2557 ที่มีโอกาส 46%

*** คาดไม่กระทบนโยบายการเงินของกนง. แต่กดดันเงินไหลออก 

       สำหรับผลต่อประเทศไทยนั้น ท่าทีของเฟดที่ถูกคาดหมายว่าจะเริ่มส่งสัญญาณถึงการทยอยปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงินให้เป็นปกติมากขึ้น คงไม่น่าจะส่งผลต่อการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงินของ กนง. มากนัก เนื่องจากเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศของไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และภาพต่างประเทศยังไม่น่ากังวลหลังจากที่การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟดในครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่สภาวะการเงินในตลาดการเงินโลกโดยรวมยังคงผ่อนคลายอยู่ อันเป็นผลจากการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายของธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่น ทำให้ กนง. คงให้น้ำหนักในการดำเนินนโยบายการเงินไปที่แรงส่งเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก
       อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปหรือเมื่อเข้าสู่ช่วงกลางปี คงต้องยอมรับว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของเฟดที่จะชัดเจนขึ้นตามลำดับ คงส่งผลให้การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางขนาดใหญ่มีความแตกต่างกันมากขึ้น แม้เบื้องต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในจังหวะที่เฟดเริ่มกระบวนการในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะส่งผลให้เกิดกระแสเงินไหลออกจากตลาดประเทศเกิดใหม่ รวมทั้งไทยบ้าง แต่การพิจารณาขนาดการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ก็ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ นอกจากความแตกต่างของเชิงนโยบายการเงินด้วย โดยปัจจัยเหล่านั้นได้แก่ พัฒนาการของเศรษฐกิจและเสถียรภาพภายนอกของประเทศไทยในขณะนั้นๆ รวมทั้ง การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ในภูมิภาค ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด

*** น้ำมันลงต่อรับเงินดอลล์แข็งค่า กดดัน SET อีกแรง 

       นายรักพงศ์ ไชยศุภรากุล ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า สำหรับแนวโน้มของดัชนีตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ นอกจากต้องติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ทางฝ่ายวิจัยมีมุมมองว่าที่ประชุมจะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 3/58 นักลงทุนต้องติดตามทิศทางราคาน้ำมันในสัปดาห์หน้า เพราะคาดว่าจะมีทิศทางแกว่งตัว-อ่อนตัวลงต่อเนื่องจากสัปดาห์นี้ เพราะประเมินจากสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ที่ประกาศทุกวันพุธนั้นได้ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบน้ำมันดิบ WTI ลงสู่ระดับ 52.15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้ จากเดิมที่เคยประเมินไว้ที่ 55.02 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
       ทั้งนี้การที่นักลงทุนคาดหวังต่อเม็ดเงินซื้อพันธบัตรของธนาคารกลางยุโรป(ECB) จะไหลเข้าในตลาดน้ำมันนั้น คาดว่าเป็นไปได้น้อยมาก หากเป็นไปได้ก็จะเข้ามาอย่างจำกัด เพราะ สินค้าน้ำมันอิงตามค่าเงินดอลลาร์ ช่วงนี้ดอลลาร์แข็งค่า ราคาน้ำมันไม่สามารถปรับตัวขึ้นสูงได้ ประกอบกับ Over Supply ที่มีมาก่อนหน้า ตัวเม็ดเงินนั้นน่าจะไหลเข้าตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดน้ำมันที่ผันผวนเช่นนี้ ปัจจัยต่างประเทศดังกล่าวนั้นส่งผลกระทบต่อดัชนีฯภายในประเทศให้แกว่งตัวลงในสัปดาห์นี้ เพราะ ดัชนีฯยังไม่มีฐานที่แข็งแกร่งพอ ตั้งแต่ช่วงก่อนที่กนง.ปรับลดดอกเบี้ย 0.25 % ดัชนีฯปรับฐานแรงและเร็วถึง 70 จุด และประเด็นต่างประเทศที่สำคัญสามารถสร้างความอ่อนไหวต่อตลาดฯได้
       กลยุทธ์การลงทุนให้ลงทุนหุ้นขนาดกลาง ลงซื้อ-ขึ้นขายตามดัชนีฯ รวมถึงหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ย เช่น อสังหาริมทรัพย์ และลีสซิ่ง ประเมินแนวรับที่ 1,530 จุด และแนวต้านที่ 1,550 จุด

*** จับตาความคืบหน้ารถไฟรางคู่ไทย-จีน /คดีจำนำข้าว / ถอดหุ้น BAY ออกจาก FTSE 

       บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง เปิดเผยว่า ในสัปดาห์นี้ มี ประเด็นที่จะต้องจับตา โดยประเด็นในประเทศ การประชุม ครม.วันที่ 17 มี.ค. คาดจะมีการพิจารณาความคืบหน้าโครงการรถไฟรางคู่ไทย –
จีน หลังคณะทำงานหารือรอบที่ 3 เสร็จสิ้นวันที่ 11 มี.ค. ขณะที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะรับพิจารณา คดีทุจริตจำนำข้าว ของอดีตนายกฯ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วันที่ 19 มี.ค. หรือไม่รวมถึงการถอดถอนหุ้น BAY ออกจากดัชนี FTSE ณ ราคาปิดวันที่ 20 มี.ค.
       ส่วนปัจจัยต่างประเทศคือการประชุมเฟด วันที่ 18 มี.ค. มุมมองต่อทิศทางนโยบายการเงิน ภายใต้ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า และอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่า

*** การเมือง เริ่มมีน้ำหนักต่อตลาดมากขึ้น 

       บล.เอเซียพลัส (ASP) ประเมินว่า การเมืองน่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะกลับมามีน้ำหนักต่อบรรยากาศการซื้อขายของตลาดมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์พอจะสรุปได้ 2 ส่วนหลัก คือ ขั้นตอนกระบวนการที่จะนำไปสู่การจัดการเลือกตั้ง และสถานการณ์ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบัน
       โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการร่างรัฐธรรมนูญฯ ตามกรอบเวลาต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในช่วง 17 เม.ย.2558 จากการติดตามความคืบหน้าเชื่อว่า คณะกรรมการธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ น่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จทันตามกำหนด ซึ่งก็จะทำให้ความเสี่ยงลดลงไประดับหนึ่ง กระบวนการต่อไปจะเป็นเรื่องของการส่งให้ 3 องค์กร พิจารณาได้แก่ สปช.คณะรัฐมนตรี และ คสช. พิจารณาในรอบแรกพร้อมเสนอแนวทางการปรับปรุง เพื่อให้ คณะกรรมาธิการมาดำเนินการต่อ หลังจากนั้นเมื่อ ปรับปรุงร่างฯ เสร็จ ก็จะถึงขั้นตอนสำคัญคือการ ส่งร่างให้ สปช. ลงมติ เห็นชอบ ซึ่งหากเห็นชอบก็จะเป็นการนำร่างรัฐธรรมนูญฯขึ้นทูลเกล้าฯ โดยน่าจะเกิดขึ้นภายใน 4 ก.ย.2558 แต่หากไม่เห็นชอบก็จะเป็นความเสี่ยง เพราะจะทำให้ทั้ง สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างหมดสภาพ ต้องไปเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่ การสรรหา สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ชุดใหม่มาทำงาน ซึ่งอาจเสียเวลามากกว่า 1 ปี จากกำหนดเดิม
       ส่วนสถานการณ์ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาล ถือเป็นเหตุการณ์ปกติที่เมื่อรัฐบาลทำงานมาระยะเวลาหนึ่ง ก็จะเริ่มปรากฎปัญหาในการบริหารงานหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับบุคลากร, ปัญหาในการขับเคลื่อนนโยบายที่สำคัญบางประการ, การดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งในช่วงหลังๆ ดูจะมีเหตุการณ์ที่ส่อไปถึงความรุนแรงเกิดบ่อยขึ้นในเมืองหลวง และที่สำคัญที่สุดได้แก่
ปัญหาเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะฟื้นตัว กลับล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น จะกลายเป็นปัจจัยที่เพิ่มน้ำหนักในการสร้างแรงกดดันให้กับรัฐบาลมากขึ้นตามลำดับ ถือเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น