กรอบเงินฝืด ไม่ต้องกลัวเงินเฟ้อ สำรวจเงินในกระเป๋าดีๆ
กรอบเงินฝืดเงินเฟ้อ ปี 2558 จากกระทรวงพาณิชย์ (ควรรู้ไว้เป็นข้อมูล)
พาณิชย์ หั่นกรอบเงินเฟ้อปี58 เหลือ 0.6-1.3% ต่ำสุดในรอบ 5ปี ลั่นไทยยังไม่เจอปัญหาเงินฝืด แม้คาด Q1/58 ยังติดลบ 0.4 % ส่วนเดือน ก.พ. ติดลบ 0.52% จากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง
พาณิชย์ หั่นกรอบเงินเฟ้อปี58 เหลือ 0.6-1.3% ต่ำสุดในรอบ 5ปี ลั่นไทยยังไม่เจอปัญหาเงินฝืด แม้คาด Q1/58 ยังติดลบ 0.4 % จากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง หลังเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.พ.58 ติดลบ 0.52% เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค.58 ติดลบ 0.41 % จากราคาอาหารสดที่ปรับตัวลดลง
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ปรับประมาณการเงินเฟ้อในปี 2558 อยู่ที่ 0.6-1.3% ถือว่าเป็นอัตราต่ำสุดในรอบ 5 ปี จากเดิมคาดอยู่ที่ 1.8-2.5% โดยอยู่ภายใต้กรอบสมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี เติบโตที่ 3-4% อัตราน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีคาดอยู่ที่ 50-60 เหรียญต่อบาร์เรล เป็นผลจากการปรับราคาค่าไฟฟ้าผันแปร รวมไปถึงการดูแลค่าครองชีพ ขณะเดียวกันกระทรวงฯ ยังคาดการณ์อัตราแลกเปลี่ยนภายใต้สมมติฐานที่ 32-34 บาทต่อดอลลาร์
"กระทรวงฯ มองว่าหลังจากนี้อัตราเงินเฟ้อน่าจะค่อย ๆทยอยปรับเพิ่มสูงขึ้น จากราคาน้ำมันที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับโดยทั่วไปเมื่อใกล้ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ราคาน้ำมันจะปรับขึ้นแรงจากความต้องการใช้น้ำมันของตะวันตกที่ต้องการปริมาณน้ำมันมากในช่วงฤดูหนาว สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่มีการปรับลดลงมาก ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลงเป็นหลัก"นายสมเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงพาณิชย์ ยอมรับว่าในปีนี้ไทยมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญปัญหาเงินเฟ้อเฟ้อชะลอตัว แต่ยังไม่เกิดภาวะเงินฝืด เนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำมันเริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มสูงขึ้น
" แม้ปัจจุบันยังไม่พบปัญหาเงินฝืด แต่กระทรวงฯ จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าจะเกิดภาวะเงินฝืดในอนาคตหรือไม่ เนื่องจากในปัจจุบันประชาชนยังคงมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย" นายสมเกียรติกล่าว สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 2 เดือน (ม.ค. - ก.พ.) ติดลบ 0.47% จากการลดลงของดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.79% ตามการลดลงของหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร ลดลง 6.67% ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า สูงขึ้น 0.81% หมวดเคหะสถาน สูงขึ้น 1.33%
สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 2.03% ตามการสูงขึ้นของหมวดแป้ง ข้าว และผลิตภัณฑ์จากแป้ง 0.76% หมวดเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ 1.80% หมวดเครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้น 2.99% หมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.11% หมวดอาหารสำเร็จรูป สูงขึ้น 3.64%
ขณะที่คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 1/2558 คาดอยู่ที่ ติดลบ 0.4% จากเดิมที่คาดจะอยู่ที่ 0.11% เนื่องจากราคาน้ำมันที่มีการปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับการปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ FT ประกอบกับมาตรการดูแลค่าครองชีพของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสแรกคาดว่าจะยังติดลบ
ทั้งนี้ นายสมเกียรติ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนก.พ. 2558 เท่ากับ 106.15 ลดลง 0.52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 0.12% จากม.ค.58 ที่ ติดลบ 0.41%
ซึ่งเป็นผลจากราคาพลังงาน ได้แก่ แก๊สโซฮอลล์ 91 95 E20 น้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน 95 ค่าโดยสารสาธารณะ รวมถึงราคาอาหารสด ผลไม้สด ปลา และสัตว์น้ำ เป็ด และไก่ มีการปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน นอกจากนี้ สินค้าประเภทเครื่องปรุงอาหาร เช่น น้ำมันพืช และเครื่องปรุงรสยังมีราคาสูงขึ้นด้วย
นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับลดลง ยังเป็นผลมาจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 1.71% โดยดัชนีราคาหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสาร อยู่ที่ 6.43% ขณะที่ดัชนีหมวดราคาเครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า สูงขึ้น 0.84% สำหรับดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.72% โดยดัชนีราคาหมวดข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้งสูงขึ้น 0.65% หมวดเนื้อสัตว์ เป็ด และไก่ และสัตว์น้ำสูงขึ้น 0.97%
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือนม.ค. อยู่ที่ 1.45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ 1.64%
เครดิต: สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น