ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ชื่อ:  00.jpg
ครั้ง: 13234
ขนาด:  61.7 กิโลไบต์
พลันที่ "บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีมีดำริดึงมหาเศรษฐีไทยลงทุนรถไฟความเร็วสูง เส้นทางเชื่อมกรุงเทพฯ กับเมืองท่องเที่ยว "หัวหิน-พัทยา" ในรูปแบบ PPP และผ่านกองทุนอินฟราฟันด์ ต่อยอดหลังจากเยือนประเทศญี่ปุ่น

"วุฒิชาติ" มือประสานสิบทิศ

คำปรารภของนายกรัฐมนตรีกลายเป็นจุดเริ่มต้นสู่แผนปฏิบัติ โดยทีมงาน "บิ๊กตู่"ประสานมายัง "บิ๊กจิน-พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง" รมว.คมนาคมเจ้าของโปรเจ็กต์ ในการพบปะหารือกับบิ๊กนักธุรกิจชื่อก้องฟ้าเมืองไทย โดยมี "วุฒิชาติ กัลยาณมิตร" ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เป็นคนกลางประสาน

ว่ากันว่าถือเป็นปฏิบัติการสายฟ้าแลบที่ "บิ๊กจิน" ตั้งตัวไม่ทัน เมื่อจู่ ๆ หัวหน้ารัฐบาลพูดถึงแผนลงทุนไฮสปีดเทรน เพราะที่ผ่านมา "คสช.-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" ไม่เคยหยิบโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูง มรดกตกทอดจาก "รัฐบาลเพื่อไทย" มาบรรจุไว้ในโรดแมป คสช.

นอกจากรถไฟความเร็วปานกลาง 180 กิโลเมตร/ชั่วโมง ที่เซ็น MOU กับรัฐบาลจีนเมื่อ 19 ธันวาคม 2557 เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด และแก่งคอย-กรุงเทพฯ 873 กิโลเมตรที่ "บิ๊กจิน" กำลังสับเกียร์เดินหน้าเต็มสูบ

"ซีพี-ไทยเบฟฯ" แบเบอร์

แต่เมื่อเป็นนโยบายทุกอย่างต้องเดินหน้า การหารือจึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อ 3 มีนาคมที่ผ่านมา เอกชนคณะแรก "กลุ่มไทยเบฟฯ" ของ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี โดยหัวหน้าชุดคือเขยเล็ก "อัศวิน เตชะเจริญวิกุล" ผู้คุมบังเหียน บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์มาทีมเดียวกันกับ "วันชัย ศารทูลฑัต"อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งวันนี้เป็นผู้บริหารธุรกิจในเครือตระกูลสิริวัฒนภักดีภายใต้ "บจ.ไทยเบฟเวอเรจ โลจิสติก"

ล่าสุดกำลังเร่งวางโครงข่ายระบบขนส่งทางราง ทางเรือ และสร้างคลังสินค้า เพื่อกระจายสินค้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศทะลุถึงตลาดเออีซี

ขณะที่ "กลุ่มซี.พี.-บมจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์" ธุรกิจของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ถึงแม้จะได้คิวต่อจากกลุ่มไทยเบฟฯ ช้าไป 1 วัน แต่จุดหมายปลายทางไม่ต่างกัน มี "ภัคพล งามลักษณ์" ประธานคณะผู้บริหารด้านปฏิบัติการเป็นผู้นำทีม

อย่าลืมว่า โปรไฟล์ "ภัคพล" ไม่ธรรมดา นอกจากรั้งเก้าอี้ผู้บริหาร ซี.พี. ยังมีดีกรีเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่ คสช.เซ็นแต่งตั้งปฏิบัติการดึงเศรษฐีไทยร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงจึงสร้างความคึกคักขึ้นทันตาเห็น เครือข่ายธุรกิจของ "เจ้าสัวธนินท์" เป็นกลุ่มทุนเกษตร สื่อสาร ค้าปลีก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ไม่แตกต่างจาก "เจ้าสัวเจริญ" มีทั้งธุรกิจแอลกอฮอล์-น็อนแอลกอฮอล์ อสังหาฯ รับเหมาก่อสร้าง ฯลฯ

ขานโพย "บีทีเอส-ช.การช่าง"

สีสันที่เข้มข้นขึ้นไปอีกยังมาจาก 2 ตระกูลดัง "กาญจนพาสน์-ตรีวิศวเวทย์" ที่ทำธุรกิจเดินรถไฟฟ้าใต้ดินและรถไฟลอยฟ้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

โดยเฉพาะเจ้าพ่อบีทีเอส "คีรี กาญจนพาสน์" ที่ประกาศความมั่นใจสุดขีด ตอนนี้มีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท เป็นอาวุธนำทางที่จะเข้าร่วมลงทุนได้อย่างสบาย

ก่อนหน้านี้เพิ่งจะผนึกกับอสังหาฯ แบรนด์เนมค่าย "แสนสิริ" ของเสี่ยเศรษฐา ทวีสิน เป็นการเติมความครบเครื่องเพราะมีทั้งธุรกิจรถไฟฟ้าและอสังหาริมทรัพย์

ส่วนบิ๊กยักษ์รับเหมา ช.การช่างของ "เสี่ยปลิว ตรีวิศวเวทย์" ล่าสุดจัดทัพโครงสร้างใหม่ นำ 2 บริษัทลูก "บีอีซีแอล-บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ" ผู้รับสัมปทานทางด่วน กับ "บีเอ็มซีแอล-บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ" รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้า ควบรวมกันให้กลายเป็นบริษัทใหญ่ด้วยทุน 15,285 ล้านบาท

อ่านเกมธุรกิจได้ว่าปรับโครงสร้างเพื่อเสริมแกร่งการเงินและธุรกิจให้ครบวงจรทั้งรับเหมาและบริหารโครงการ รองรับโอกาสในการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ

ถึงแม้ยังไม่ประกาศตัวชัดเจน แต่เชื่อว่า "ช.การช่าง" ไม่ยอมตกขบวนแผนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์อย่างแน่นอน