วิชาเทพ-วิชามาร : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร


คนที่เคยอ่านหนังสือ “กำลังภายในจีน” ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนยุคก่อนจะต้องรู้จักคำว่า “วิชามาร” ซึ่งเป็นวิชาความรู้ในการต่อสู้ที่รุนแรง ร้ายกาจ โหดเหี้ยม และบางครั้งก็มักจะไม่คำนึงถึง “จรรยาบรรณ” หรือ “กติกา” ในการต่อสู้ และคนที่ใช้วิชาแบบนี้ก็มักจะเป็นผู้ร้ายหรือเป็น “มาร” ส่วนคนที่เป็นพระเอกหรือคนดีที่เป็น “เทพ” นั้นก็มักจะใช้วิชาอีกแบบหนึ่งที่มีลักษณะตรงกันข้ามในเรื่องของรูปแบบ เช่น ไม่รุนแรงโหดเหี้ยม แต่อาจจะอาศัยแรงของคู่ต่อสู้ที่ทำให้เขา “แพ้ภัยตัวเอง” วิชาเทพนั้นมักจะ “อ่อนโยนและสงบนิ่ง” กว่า นอกจากนั้นก็มักจะต้องยึดถือ “จรรยาบรรณ” ในการต่อสู้ ไม่คดโกงหรือลอบกัดฝ่ายตรงข้าม  การต่อสู้ระหว่างมารและเทพนั้น แม้ว่าในระยะแรกดูเหมือนมารจะได้เปรียบ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว เทพก็มักจะเป็นฝ่ายชนะ

ผมเองนั้นไม่ใช่คนที่ชอบอ่านหนังสือกำลังภายในเลย อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องวิชาเทพ-วิชามารนั้น ผมคิดว่าสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับเรื่องของการลงทุนได้ดี สิ่งที่จะต้องประกาศไว้ก่อนเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดก็คือ ในเรื่องของการลงทุนนั้น “วิชามาร” ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นสิ่งที่เลวร้าย และคนที่ใช้มันก็ไม่ใช่คนที่ไม่ดีเสมอไป เช่นเดียวกัน “วิชาเทพ” เองก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป และคนที่ใช้ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนที่ดีเสมอไป เช่นเดียวกัน คนที่ใช้วิชาเทพมากก็ไม่ใช่ว่าจะต้องชนะ และผู้ที่ใช้วิชามารเป็นหลักก็ไม่ใช่ว่าจะต้องแพ้ บ่อยครั้งมันอาจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์เช่นเดียวกับความสามารถของผู้ใช้ เหนือสิ่งอื่นใด มีนักลงทุนน้อยคนที่จะใช้เฉพาะวิชามารหรือวิชาเทพเพียงอย่างเดียวในการลงทุน ในบางโอกาส แม้แต่คนที่ยึดถือวิชาเทพเป็นหลักมาก ๆ ก็ยังใช้วิชามารเข้าเล่นด้วย เช่นเดียวกัน คนที่ดูเหมือนจะใช้วิชามารเป็นส่วนใหญ่ก็มักจะงัดวิชาเทพออกมาใช้ ดังนั้น ความหมายที่ผมต้องการสื่อก็คือ วิชาก็คือวิชา มันเป็นกลาง มันเป็นเสมือนอาวุธและลีลาที่ใครจะนำไปใช้ก็ได้ที่จะทำให้เขา “ชนะ”

ในเรื่องของการลงทุนนั้น นิยามกว้าง ๆ ที่ผมจะกำหนดว่าแบบไหนเป็นวิชามารและแบบไหนเป็นวิชาเทพนั้นจะล้อไปกับเรื่องของกำลังภายใน หลัก ๆ ก็คือ ถ้าเป็นเรื่อง “รุนแรง” นั่นก็คือ ลงทุนแล้วได้เสียมากและเร็วมาก ก็จะถือว่าเป็น “วิชามาร” นั่นคือข้อแรก ข้อสอง ถ้าเป็นเรื่องที่ “ร้ายกาจ” นั่นคือ เข้าไปเล่นหุ้นตัวใดตัวหนึ่งแล้ว เรา “ชนะ” คือสามารถทำกำไรได้มโหฬาร แต่คนที่ “แพ้” คือคนที่เล่นหุ้นตัวเดียวกันต้องขาดทุนอย่างหนัก พูดง่าย ๆ คนที่ชนะ “กินเงินจากผู้แพ้” แบบนี้ถือว่าเป็นวิชามาร ตรงกันข้าม ถ้าคนที่ชนะไม่ได้ได้เงินจากนักลงทุนคนอื่น แต่ได้จากการที่บริษัทสามารถทำกำไรได้มากขึ้นมากทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปมากและไม่ตกลงมาที่ทำให้คนอื่นขาดทุน

นิยามข้อสุดท้ายก็คือ เรื่องของความ “โหดเหี้ยม” และ/หรือ “ไร้จรรยาบรรณ” นั่นก็คือ การ “ปั่นหุ้น” และการ “ใช้ข้อมูลภายใน” ในการลงทุน นี่ถือว่าเป็น “วิชามาร” ขั้นสุดยอดจริง ๆ และคนที่เล่นแบบนี้ก็ต้องถือว่าเป็น “มาร” จริง ๆ ในแง่ที่เป็นคนไม่ดี และกรณีที่ทำมากจนเข้าข่ายผิดกฎหมายก็เสี่ยงที่จะต้องถูกลงโทษทางอาญา แต่สำหรับนิยามของผมเองนั้น การปั่นหุ้นและการใช้ข้อมูลภายในแม้ว่าจะไม่ถึงขั้นผิดกฎหมายก็ต้องถือว่าเป็น “วิชามารขั้นสูง” ที่ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ และนิยามการปั่นหุ้นและการใช้ข้อมูลภายในนั้นเอง ก็ยังเป็นเรื่องที่เป็นสีเทา ๆ นั่นก็คือ ถ้ามีการใช้กระบวนการในการปล่อยข่าวและ/หรือสร้างกระแสหรือภาพลักษณ์ของกิจการหรือหุ้นมากมายโดยที่มันไม่ใช่ความจริงหรือมีความไม่แน่นอนสูงเพื่อที่จะทำให้คนสนใจเข้ามาซื้อหุ้นเพื่อที่จะผลักดันราคา หรือมีการซื้อขายหุ้นนำเพื่อทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปรุนแรงเพื่อที่จะดึงดูดให้คนสนใจเข้ามาร่วมวงซื้อขายอะไรทำนองนี้ แม้ว่าโดยนิยามทางกฎหมายอาจจะไม่ใช่การปั่นหุ้น แต่โดยนิยามของผมแล้วมันก็คือการใช้วิชามาร

เล่นหุ้นที่มีการใช้มาร์จินนั้น เป็นการใช้วิชามารเพื่อที่จะเร่งผลตอบแทน ยิ่งใช้มาร์จินสูงก็จะมีความรุนแรงหรือความผันผวนของผลตอบแทนการลงทุนมากขึ้นเท่านั้น เช่นเดียวกัน การกู้ยืมเงินจากพ่อแม่พี่น้องหรือญาติมาลงทุนรวมถึงการนำสินทรัพย์เช่นบ้านมาค้ำประกันเพื่อกู้เงินมาลงทุนต่าง ๆ เหล่านี้ก็เป็นเรื่องการใช้วิชามารทั้งสิ้น นอกจากนั้น การลงทุนในตราสารการเงินที่มีความผันผวนสูงมาก ๆ เนื่องจากลักษณะตราสารเองไม่ใช่ลักษณะของกิจการ ตัวอย่างเช่นวอแร้นต์ที่ราคาแปลงสภาพสูงกว่าราคาของหุ้นแม่มาก หรือการเล่นคอมโมดิตี้หรือพวกฟิวเจอร์หรือออปชั่นที่มีการวางเงินเพียงเล็กน้อยแต่มีระดับของการ “พนัน” สูงมาก ผมก็ถือว่าเรากำลัง “เล่นกับไฟ” และดังนั้นมันจึงเป็นการใช้วิชามาร ว่าที่จริง การเข้าไปเล่นหุ้น IPO ในวันที่หุ้นเข้าตลาดในวันแรกในช่วงเร็ว ๆ นี้นั้น ผมเองคิดว่ามันก็ไม่ห่างจากวิชามารมากนัก

นิยามในข้อสองคือเรื่องของความ “ร้ายกาจ” นั้น ถ้าเกิดจากความตั้งใจของการเข้าไปไล่ราคาหุ้นเพื่อที่จะ “ปล่อยของ” อย่างรวดเร็ว นั่นก็คือการทำราคาหุ้นให้สูงขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อที่ตนเองจะได้ขายในราคาสูงโดยที่รู้ว่าพื้นฐานของราคาหุ้นต่ำกว่านั้นมาก ผลก็คือ นักลงทุนคนอื่นที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ต้อง “บาดเจ็บ” อย่างหนักเนื่องจากเข้าไปซื้อหุ้นที่แพงเกินพื้นฐานไปมากและต้องขายขาดทุนหนักหรือต้องติดหุ้นไปยาวนานมาก ลักษณะแบบนี้ก็ต้องถือว่าเป็นการใช้วิชามารอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ยังมีการซื้อหุ้นและขายทำกำไรมากแต่คนอื่นขาดทุนอย่างหนักโดยที่เจ้าตัวอาจจะไม่ได้ตั้งใจ นี่ก็คือการที่นักลงทุนเข้าไปเล่นหุ้นที่มีผลประกอบการที่มีความไม่แน่นอนสูงหรือมีวัฏจักรรุนแรง พอเข้าไปแล้วราคาหุ้นอาจจะขึ้นไปสูงมากอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจจะเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของธุรกิจและ/หรือผลจากการซื้อหุ้นของเขาเอง เขาจึงตัดสินใจขายหุ้นทิ้งอย่างรวดเร็วทำกำไรงดงามและทำให้ราคาตกลงอย่างหนักและทำให้นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากเสียหาย ในกรณีแบบนี้ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นเรื่องของวิชามารเหมือนกันแม้ว่าดีกรีจะอ่อนกว่าแบบแรก

สุดท้ายคือนิยามของความโหดเหี้ยมและ/หรือไร้จรรยาบรรณในการลงทุน นี่ก็คือการเล่นหุ้นในแบบที่อาจจะเป็นการเอาเปรียบคนอื่นอย่างชัดเจนเช่นการปั่นหุ้นและการใช้ข้อมูลภายในไม่ว่าจะเป็นเรื่องผิดกฎหมายหรือไม่ นอกจากนั้น การเล่นหุ้นที่ใช้ “วิศวกรรมการเงิน” แบบวิชามาร เช่น การซื้อหุ้น PP หรือหุ้นใหม่ของบริษัทในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดมาก ๆ การให้วอแร้นต์ฟรีจำนวนมาก ๆ ที่จะไดลูทหรือทำให้ผู้ถือหุ้นเดิมมีสัดส่วนในบริษัทน้อยลงมากในอนาคต การแตกพาร์โดยไม่สมเหตุผล และอื่น ๆ อีกมาก แบบนี้ผมถือว่ามันเป็นเรื่องของการใช้วิชามารในการลงทุนหรือเล่นหุ้นทั้งสิ้น

ถ้าจะถือว่าเซียนหุ้นระดับโลกคนไหนใช้วิชามารมากนั้น ผมคิดว่า จอร์จ โซรอส เป็นคนหนึ่ง เพราะการทำกำไรของโซรอสนั้น บ่อยครั้งทิ้ง “หายนะ” ให้กับคนอื่น ๆ อีกหลายคน ส่วนคนที่ใช้วิชาเทพมากนั้น แน่นอน คือ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ทำเงินโดยการเติบโตของกิจการที่เขาไปลงทุน มีหุ้นน้อยมากที่บัฟเฟตต์ซื้อและขายทำกำไรได้งดงามแต่ในที่สุดคนที่ซื้อตามเจ๊ง เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ บัฟเฟตต์ซื้อแล้วเขาแทบจะไม่เคยขายอย่างรวดเร็ว จำนวนมากเขาถือมันไว้ตลอดชีวิต บัฟเฟตต์นั้นได้เงินจากบริษัท ไม่ได้ได้จากผู้ถือหุ้นคนอื่น

ในตลาดหุ้นไทยนั้น ผมไม่รู้ว่าระหว่างคนที่ใช้วิชาเทพหรือคนที่ใช้วิชามารอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ใครทำกำไรหรือได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่า เป็นไปได้ว่าในช่วงที่ตลาดหุ้นร้อนแรงและราคาหุ้นขึ้นเป็นกระทิงยาวนานนั้น คนที่ใช้วิชามารเก่ง ๆ น่าจะทำกำไรได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวที่ตลาดหุ้นมักมีการขึ้นลงและมักจะมีช่วงที่เลวร้ายเป็นระยะ ๆ คนที่ใช้วิชาเทพก็อาจจะสามารถทำผลงานเฉลี่ยได้ดีกว่าเช่นเดียวกัน เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์

*******************

วิชาเทพ-วิชามาร

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Monday, 30 March 2015

โลกในมุมมองของ Value Investor

ที่มา http://portal.settrade.com/blog/nivate/2015/03/30/1544