วันพุธที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2559

Hot News - กลุ่มแบงก์พ้นจุดต่ำสุด

Hot News - กลุ่มแบงก์พ้นจุดต่ำสุด

      กลุ่มแบงก์พ้นจุดต่ำสุด
* ปีนี้กำไรโต 6.5% โบรกฯแนะเพิ่มน้ำหนักลงทุน 

   
          วงการเผยปี 58 กำไรแบงก์ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว คาดทำได้แค่ 1.8 แสนลบ. -8.8% หดตัวครั้งแรกในรอบ 7 ปี เหตุสำรองฯ หนัก ด้านราคาหุ้นทั้งกลุ่มทรุด 31% หลายตัวราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี มองปีนี้เป็นจังหวะเพิ่มน้ำหนักลงทุน หลังมองกำไรปีนี้จะกลับมาโต 6.5% ตามสินเชื่อที่คาดโต 3-6% แต่คาดกลับมาเนื้อหอมช่วงครึ่งปีหลัง เหตุภาพศก.ชัด ทั้งลงทุนรัฐ-หนี้เสียผ่านจุดพีค ทิสโก้แนะซื้อ TMB-TCAP เหตุพอร์ตสินเชื่ปลอดภัย 

             ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหว หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์วานนี้ พบว่า มีแรงซื้อเข้ามามาก ส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายติด 1ใน 
10 อันดับแรก และราคาก็ปรับเพิ่มขึ้นจนติดอันดับหุ้นที่มีผลดันดัชนีมากที่สุดในวานนี้ ขณะที่ดัชนีกลุ่มแบงก์ก็บวกแรงที่สุดเมื่อเทียบกับหมวดอื่น โดยปิดบวก 4.11% ซึ่งวงการมองว่า เป็นการซื้อแบงก์กลับในระยะสั้นหลังจากก่อนหน้าหุ้นแบงก์หลายตัวถูกทำช็อตเซล ทำให้มีการ cover short เข้ามาในระยะสั้นเท่านั้น 
             อย่างไรก็ตาม ในทางพื้นฐานแม้ผลประกอบการไตรมาส 4/58 และของทั้งปี 58 สำหรับกลุ่มยังไม่ประกาศออกมาครบถ้วน แต่โบรกเกอร์หลายสำนักได้คาดการณ์ว่า กำไรไตรมาส 4/58 และทั้งปี 2558 กลุ่มธนาคารจะไม่โดดเด่น เพราะปีดังกล่าวธนาคารพาณิชย์ต้องเผชิญกับการตั้งสำรองในสัดส่วนที่สูง สืบเนื่องจากหนี้เสียก้อนใหญ่ จึงส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายจากการตั้งสำรอง และมีผลไปกดดันกำไรสุทธิ และฉุดให้สัดส่วน coverate ratio ของธนาคารขนาดใหญ่หลายแห่งปรับลดลง 
             ในขณะที่ปีนี้มองว่า กำไรกลุ่มแบงก์จะเติบโตประมาณ 6.5% จากโครงการภาครัฐ หลักๆ มาจากสำรองฯ ที่ลดลงจากฐานสูงปี
ก่อนขณะที่สินเชื่อเติบโตตามโครงการรัฐ 
             ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จะเริ่มทยอยประกาศงบไตรมาส4/58 เริ่มจาก 19 ม.ค. ได้แก่ SCB, TMB, TCAP วันที่ 20 ม.ค. ได้แก่ BBL, KBANK, BAY และวันที่ 21 ม.ค. ได้แก่ KTB ส่วน TISCO แจ้งไปแล้ววันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา 

*** คาดกำไรสุทธิกลุ่มแบงก์ปี 59 เพิ่มขึ้น 6.5%

             บล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะนำ Neutral สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยคาดว่ากลุ่มธนาคารจะกลับมาน่าสนใจในครึ่งหลังของปี 2016 แนวโน้มกำไรปี 2016 น่าจะมีสดใสมากกว่าปี 2015 ตามความหวังแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการลงทุนจากภาครัฐ ในแง่ดีคือกลุ่มแบงก์น่าจะผ่านช่วงเลวร้ายของผลประกอบการในปี 2015 ไปแล้ว แต่การกลับมาได้รับความสนใจน่าจะเป็นครึ่งหลังของปี 2016 เพราะคาดว่าน่าจะเห็นความชัดเจนของการลงทุนภาครัฐมากขึ้น รวมถึง NPL ที่จะเห็นจุดสูงสุดในช่วงนั้นด้วย 
             ทั้งนี้ คาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารจะเพิ่มขึ้น 6.5% ในปี 2016 หลักๆ มาจากสำรองฯ ที่ลดลงจากฐานสูงในปี 2015 เราเลือก KBANK (ราคาเหมาะสม 210 บาท) เป็น Top Pick ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ขณะที่ TMB (ราคาเหมาะสม 3.04 บาท) และ TCAP (ราคาเหมาะสม 43 บาท) น่าสนใจในหุ้นกลุ่มธนาคารขนาดกลาง

*** กำไร Q4/58 หดตัวที่สุดในปี จากสำรองฯ พุ่ง 

             บล.ฟินันเซียไ ซรัส คาดการณ์กำไรสุทธิ 4Q15 ของกลุ่ม ที่ราว 4 หมื่นลบ. ลดลง 10%Q-Q และ 19%Y-Y จากการคาดการณ์ว่าธนาคารจะพิจารณาตั้งสำรองหนี้สูญมากกว่าระดับปกติอีกครั้งในไตรมาสสุดท้ายของปี เพื่อสะท้อนมุมมองระมัดระวังต่อคุณภาพสินเชื่อในปี 2016 ประกอบกับเป็นไตรมาสที่จะมีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานสูงตามฤดูกาลด้วย เมื่อรวมกับกำไรสุทธิ 9M15 เราคาดว่ากลุ่มธนาคารจะมีกำไรสุทธิปี 2015 ที่ราว 1.86 แสนลบ. ลดลง 8.8%Y-Y เป็นปีแรกนับตั้งแต่ปี 2007 ที่กลุ่มธนาคารมีกำไรสุทธิหดตัวลงและหยุดการสร้างสถิติกำไรสูงสุดที่ทำได้มา 7 ปีติดต่อกัน เนื่องจากในปี 2015 มีการตั้งสำรองหนี้สูญที่สูงขึ้นเพื่อรองรับหนี้เสียจากกลุ่ม SSI และกลุ่มอื่นๆด้วย โดยเฉพาะ SME 
             ขณะที่บล.ทิสโก้ คาดผลประกอบการรวมของกลุ่มแบงก์ในช่วง 4Q15 ที่ 3.98 หมื่นล้านบาท (-17% YoY และ -9% QoQ) จากการดำเนินงานของกลุ่มสินเชื่อพาณิชย์ที่กดดัน และอัตรากำไรของสินเชื่อเช่าซื้อที่ลดลง รวมถึงค่าธรรมเนียมที่อ่อนแอ มอง TMB/BAY จะมีการเติบโตที่โดดเด่นทั้ง YoY/QoQ โดยมองว่า TMB จะเติบโตมากกว่ากลุ่ม 4.5% สำหรับปี 2015F
             ด้านบล.เคจีไอ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ พรีวิวงบไตรมาส 4/58 1. KTB คาดกำไรโต 35% QoQ แต่ลดลง 10% YoY 2. KBANK คาดกำไรลง -40% QoQ และ -39% YoY 3.BBL คาดกำไรทรงตัว -0.6% QoQ แต่ +0.4% YoY และ 4. SCB กำไรโต 5% YoY แต่ลดลง 22.6% QoQ ในเชิงพื้นฐานเลือก KBANK และ TMB เป็นหุ้นเด่น
             ส่วนบล.แลนด์ แอนด์ เฮาส์ คาดกำไร 4Q58 กลุ่มแบงก์ไม่เด่น แม้สินเชื่อโตเร่งขึ้น (จากซอฟท์โลน) แต่ตั้งสำรองยังอยู่ระดับสูงและมีค่าใช้จ่ายดำเนินงานเพิ่มขึ้น ปี 59 ธนาคารต่างๆ ยังใช้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ภาพรวมไม่น่าสนใจ ควรเน้นที่ FIN และ BANK เล็กที่เติบโตสูงและมีประเด็นบวกเฉพาะตัว หุ้นที่เราชอบมี MTLS, SAWAD, TCAP, TMB
             บล.เอเซียพลัส ได้ประเมิน ผลการดำเนินงานของกลุ่ม ธ.พ. งวด 4Q58 หดตัวถึง 22%qoq และ 29%yoy นำโดย ธ.พ. ขนาดใหญ่ โดย KTB, KBANK และ TMB จากภาระ ค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ และค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นขึ้นในช่วงฤดูกาล ขณะที่การเติบโตของสินเชื่อค่อนข้างทรงตัวถึงเติบโตขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ BBL มีการลดลงของกำไรจากการขายทรัพย์สินรอการขายที่บันทึกเข้ามามากใน 3Q58 และค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาล 
             ทั้งนี้ สวนทางกับ ธ.พ. ขนาดกลาง-เล็ก ที่คาดว่าผลการดำเนินงานจะออกมาดี คือ TCAP, KKP เนื่องจากได้รับผลกระทบเรื่องของ NPL ไม่รุนแรงเท่า ธ.พ. ใหญ่ ขณะที่ SCB การลดลงของค่าใช้จ่ายสำรองหนี้ฯ ที่กลับสู่ระดับปกติ ช่วยหนุนให้คาดการณ์กำไรสุทธิกลับมาเติบโตได้ในงวดนี้
*** คาด KBANK หดตัวหนักที่สุดใน Q4/58 จากค่าใช้จ่ายพิเศษ 
             บล.ฟินันเซียไซรัส คาดว่า KBANK จะรายงานกำไรสุทธิ 4Q15 หดตัวลงมากที่สุดราว 43%Q-Q และ Y-Y เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายพิเศษจากการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ IT และการตั้งสำรองฯที่ยังอยู่ในระดับสูงราว 200bps แต่หากไม่นับรายการสำรองฯ PPOP คาดจะลดลง 15%Q-Q แต่ +5%Y-Y เพราะรายได้ดอกเบี้ยสุทธิยังโต 
             คาดว่า SCB, KTB จะเป็น 2 ธนาคารที่จะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเนื่องจากสำรองฯที่ลดลงจากหนี้ SSI ที่เกิดใน 3Q15 ขณะที่คาดว่า KKP เป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่จะรายงานกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบ Y-Y จากการลดสำรองฯและค่าใช้จ่ายจากรถยึดที่ลดลง 

*** ทิสโก้ แนะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนหุ้นแบงก์ หลังร่วง 31% 

             บล.ทิสโก้ คาดว่าผลประกอบการ 4Q15F ของกลุ่มธนาคารขนาดกลางและสินเชื่อรถยนต์จะเติบโตมากกว่ากลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ เนื่องจากมี LLR ที่แข็งแกร่งและคุณภาพสินเชื่อที่ดีกว่ารวมถึงความสามารถในการรักษาระดับของ RoE ทำให้เราแนะนำให้นักลงทุนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในกลุ่มของธนาคาร หลังจากที่ปรับตัวลงไปแล้ว 31% นับจากต้นปี 2015 
             พร้อมทั้งแนะนำให้ "ซื้อ" TMB และ TCAP โดยในปัจจุบันมี PBV ที่ 1.25 เท่า และได้รับปัจจัยบวกจากการกระตุ้น SME พร้อมทั้งมีโอกาสในการทำ M&A ปรับประมาณการปี 2015-17F ลง 4% จากความเสี่ยงด้าน GDP และเศรษฐกิจโลกคาดว่ารัฐบาลจะมีแผนในการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องจากช่วง 4Q15 แต่ด้วยภาระหนี้ที่สูงจะกดดันอัพไซด์ของอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยของ FED และค่าเงินหยวนที่อ่อนตัวเป็นปัจจัยกดดันคุณภาพและอุปสงค์ของสินเชื่อ ทำให้เราปรับประมาณการการเติบโตของสินเชื่อลงจากเดิม 4-7% เป็น 3-6% ตาม GDP พร้อมทั้งปรับเพิ่ม Credit Cost 3-10 bps สำหรับปี 2015-17F 

*** ปรับลดมูลค่าที่เหมาะสมกลุ่มแบงก์ลง 3-17% โดยมีหุ้นแนะคือ TMB-TCAP

             บล.ทิสโก้ ได้ปรับมูลค่าที่เหมาะสมของกลุ่มธนาคารด้วย GGM ลง 3-17% เพื่อสะท้อนผลประกอบการที่ลดลง โดยเราชอบสินเชื่อเช่าซื้อมากกว่าสินเชื่อธุรกิจ เนื่องจาก NIM และคุณภาพสินเชื่อที่ดีกว่ารวมถึงเงินปันผลที่น่าสนใจ โดยเราอัพเกรด TMB เป็น "ซื้อ"จากมูลค่าที่น่าสนใจและได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้น SME รวมถึงโอกาสในการทำ M&A โดยรวมแล้วเราชอบ TCAP และ TMB เนื่องจากความผันผวนของต่างประเทศจะกระทบต่อสินเชื่อธุรกิจมากกว่ากลุ่ม SME และรายย่อย เราจึงแนะนำให้ "ถือ" ธนาคารขนาดใหญ่จาก NPL ที่กดดัน RoE

*** ความเสี่ยงมหภาครับรู้ไปแล้ว คาดการดำเนินงานของ SETBANK เทียบกับ SET จะดีขึ้น

             บล.ทิสโก้ ระบุว่า SET ที่ปรับตัวลดลงทำให้อัพไซด์ของหุ้นที่เราวิเคราะห์เพิ่มขึ้นเป็น 3-22% (17% สำหรับ TMB และ 22% สำหรับ TCAP) และแม้ว่าความเสี่ยง/ผลตอบแทนจะเป็นกลางเมื่อเทียบกับในอดีต (มูลค่าน่าสนใจ แต่มีความเสี่ยงในการปรับลง) แต่กลุ่มธนาคารไทยยังมีความน่าสนใจมากกว่าหุ้นในกลุ่มอื่น และคาดว่าจะมีการปรับตัวที่ดีขึ้นในปี 2016F เนื่องจาก 1) การปรับตัวที่แย่กว่าตลาดในปี 2015F 2) ความเสี่ยงในการปรับประมาณการลงของกลุ่มอื่น เช่น พลังงาน และสื่อสาร
             ประเมินมูลค่าที่เหมาะสมด้วยวิธี GGM โดยใช้ PBV เป็นตัวคูณซึ่งประมาณจาก PBV เพื่อกำหนดมูลค่าที่เหมาะสม มีความเสี่ยงสำ
คัญคือ 1) การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของภาครัฐ 2) ความไม่แน่นอนทางการเมือง 3) อัตราดอกเบี้ย/เงินเฟ้อ/ค่าเงิน 4) การแข่งขันและ
กฎระเบียบที่เพิ่มขึ้น 




 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น