วัดใจกองทุนทิ้งหุ้น CPALL ทางแยก...ทางตันธรรมาภิบาล
ยังคงเป็นมหากาพย์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาตอกย้ำหนัก ๆ กับปมปัญหา "ธรรมาภิบาล" ของ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) กรณี 3 ผู้บริหารใช้ข้อมูลภายในซื้อหุ้น (อินไซเดอร์เทรดดิ้ง) จนต้องถูกเปรียบเทียบปรับกันไปตามระเบียบทว่าประเด็นดังกล่าวคงไม่จบง่าย ๆ และยังถูกสุมไฟขึ้นมาอีกครั้ง จากพลังกระแสข่าว "บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน" (บลจ.) ที่เรียกร้องให้คณะกรรมการ (บอร์ด)ของ CPALL แสดงความจริงจังและจริงใจแก้ปัญหาในเรื่องธรรมาภิบาลของธุรกิจ แต่กลับกลายย้อนแย้งว่า เหตุใด บลจ. ที่บริหารกองทุนต่าง ๆ กลับมาเข้าซื้อหุ้นดังกล่าว เสียเอง ?
หากย้อนอดีตวันวานอันสดใสระหว่าง บลจ.และ CPALL ผ่านข้อมูลตามคำบอกเล่าของ "กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ" นักวิเคราะห์ข้อมูล บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ที่ระบุว่า ณ วันที่ 30 ก.ย. 2558 CPALL เคยเป็นหุ้นที่ บลจ.ทั้งอุตสาหกรรมกองทุนรวมลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ด้วยมูลค่า 2.97 หมื่นล้านบาท รองจากหุ้น บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ที่มีมูลค่า 3.43 หมื่นล้านบาท
และยังพบอีกด้วยว่า 5 บลจ.ที่ถือหุ้น CPALL ในสัดส่วนเฉลี่ยมากกว่ารายละ 7% ของพอร์ตลงทุนในกองทุนหุ้น ซึ่งประกอบด้วย (เรียงตามตัวอักษร) บลจ.กสิกรไทย, บลจ.กรุงศรี, บลจ.ไทยพาณิชย์, บลจ.บัวหลวง และ บลจ.ยูโอบี สะท้อนว่า CPALL เป็นหุ้นที่ (เคย) ได้รับความนิยมในกลุ่มนักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่อยู่มาก
ทว่า เมื่อปมปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลยังไม่มีคำตอบถึงแนวทางในการจัดการที่ชัดเจนจากบอร์ด CPALL ขณะที่สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคม บลจ.) เคยทำหนังสือขอให้บริษัทชี้แจงเรื่องนี้มาให้สมาคมภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ ซึ่งเป็นเวลาที่งวดใกล้เข้ามาแล้ว ยิ่งทำให้ บลจ.หลายค่ายประสานเสียงเซ็งแซ่ว่า "อาจ" พิจารณาทยอยขายหุ้น CPALL ออกไป แต่กลับมีกระแสข่าวล่าสุดว่า มีบลจ.หนึ่งภายใต้การบริหารของนายกสมาคมกลับเข้าซื้อหุ้น CPALL ในช่วงฝุ่นตลบนี้
จึงกลายเป็นปมผลักให้ "วรวรรณ ธาราภูมิ" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง ในฐานะนายกสมาคม บลจ.ออกมาประกาศยืนยันหนักแน่นว่า บลจ.บัวหลวงไม่ได้ซื้อขายหลักทรัพย์ระยะสั้นเพื่อทำกำไร ในช่วงที่มีปัญหาเรื่องธรรมาภิบาลแน่นอน และตรวจสอบไปที่ผู้ดูแลผลประโยชน์ (คัสโตเดียน) ยังพบว่าจำนวนหุ้นยังเท่าเดิม
"ก็สงสัยเหมือนกันว่า คนที่พูดว่า บลจ.เราซื้อหุ้นเพิ่ม เอาข้อมูลมาจากไหน ถ้าจะบอกว่า ไปดูที่คัสโตเดียน ก็ถามหน่อยว่า มีอำนาจอะไรที่จะไปขอดูได้ เขาไม่สามารถทำได้" วรวรรณ ตอบปมที่คาใจของข่าวนี้
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 1 เดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมา มี บลจ. บางแห่งทยอยลดพอร์ตลงทุนในหุ้น CPALL แล้ว
โดย "วนา พูลผล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) บอกว่า บริษัททยอยลดการลงทุนมาหลังจากเกิดเหตุการณ์ เพราะจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับประเด็นธรรมาภิบาล เพื่อดูแลผู้ถือหน่วยทั้งหมด แต่ยืนยันว่าการลดพอร์ตดังกล่าวจะไม่กระทบถึงผลตอบแทนแน่นอน
ส่วน "สมิทธิ์ พนมยงค์" กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แม้จะมีการขายหุ้นออก แต่ก็จะไม่ขายทิ้งจนส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นแน่ เพราะจะทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนเสียหาย และหลังจากนี้จะติดตามท่าทีของบอร์ด CPALL ว่าจะตอบคำถามดังกล่าวอย่างไร ภายใต้เงื่อนเวลาที่กำหนดไว้คือวันที่ 30 ม.ค.นี้
"หากจะขายหุ้น CPALL เราคงไม่ขายแบบยิงตัวเอง เพื่อประชดรัก ด้วยการทุ่มขาย เพราะเราต้องรับผิดชอบต่อผู้ถือหน่วยด้วย ซึ่งหลังจากนี้คงต้องติดตามว่าบอร์ด CPALL จะให้คำตอบอย่างไร แต่ถ้าไม่มีคำตอบออกมา เราก็อาจจะพิจารณาแนวทางออกต่อไป โดยเรียกประชุมวิสามัญ (CP ALL) ซึ่งคาดว่าหุ้นที่สถาบันถือกันทั้งหมดนี้น่าจะเพียงพอ=ที่จะเรียกประชุมลักษณะนี้ ซึ่งใช้หุ้นเพียงแค่ 5% ก็ได้แล้ว" สมิทธิ์กล่าว
อีกด้านหนึ่ง "เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล" ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ยอมรับว่า กำลังจับตาผลกระทบเรื่องธรรมาภิบาลของ CPALL เพราะเป็นห่วงว่าจะมีผลต่อการระดมทุนของบริษัทในอนาคตมากน้อยแค่ไหน หากรุนแรงจนส่งผลให้การระดมทุนมีกรอบแคบลงก็ย่อมจะมีผลต่อการจัดอันดับเครดิตในอนาคตได้
อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมาบริษัทได้ประกาศคงเครดิตเรตติ้งภายในประเทศระยะยาวของ CPALL ไว้ที่ A+ แต่ปรับมุมมองเครดิต (outlook) เป็น "ลบ" จากเดิม "มีเสถียรภาพ" สะท้อนธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่อ่อนแอลง
จึงเป็นอีกปมที่ตอกย้ำว่า CPALL ที่ตกอยู่บนทางแยกของความสัมพันธ์กับ "นักลงทุนสถาบัน" ที่เคยดีต่อกัน ให้อาจต้องลดระดับความสัมพันธ์ หากภายใน 31 ม.ค.นี้บอร์ดยังไม่มีแนวทางลงโทษผู้บริหารที่อินไซด์หุ้นและไม่ยืนหยัดในหลักธรรมาภิบาล และน่าจะได้เห็นบลจ.รายใดที่จะลดถือหุ้น CPALL ลงบ้าง
ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น