ปรากฏการณ์คุ้นๆ
ปรากฏการณ์คุ้นๆพลวัต 2016
วิษณุโชลิตกุล
ตัวเลขซื้อสุทธิของต่างชาติ 8,551 ล้านบาท เมื่อปิดตลาดหุ้นไทยวานนี้ หากพิจารณาอย่างผิวเผิน ช่างคล้ายคลึงกับปรากฏการณ์ที่เกิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ปีนี้ ที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยทะยานจากฐานที่ระดับ 1,294 จุด บวกไปมากกว่า 25 จุดไปยืนปิดแหนือ 1,320 จุดได้ และจากนั้นก็ทะยานขึ้นฝ่าแนวต้านไปเหนือ 1,400 จุดโดยไม่มีการพักฐาน จนกระทั่งไม่กี่วันก่อนนี้เอง
ที่เหมือนกันอีกอย่างคือ การไหลเข้าของทุนเก็งกำไรต่างชาติที่เข้ามาซื้อสุทธิมากหลายพันล้านเช่นกัน เพียงแต่ในความเหมือนกันนั้น ก็มีความแตกต่างในรายละเอียดให้เห็นหลายประการเช่นกัน
ภายใต้สถานการณ์ทุนไหลเข้ารุนแรงนั้น เราได้เห็นชัดเจนว่า มีผลให้ตลาดหุ้นไทยทะยานขึ้นไปรุนแรงได้ทุกครั้ง เพราะทุนเก็งกำไรต่างชาตินั้น เข้ามาในลักษณะทะลวงจุดอ่อนของตลาดเงินและตลาดทุนไทยพร้อมกัน 3 ทางคือ ตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา ตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้น โดยที่ทั้งสามตลาดจะเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน
นักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนขนาดใหญ่ในยุโรปพูดเป็นเสียงเดียวกัน เมื่อวานนี้ว่า ปัจจัยเดียวที่ขับเคลื่อนตลาดวานนี้ให้บวกทั่วโลก คือ นางเจเน็ต เยลเลน
ท่าทีชัดเจนของ นางเจเน็ต เยลเลน ตอกย้ำการเป็นนักการเงินสายพิราบตัวจริง ด้วยการออกมาสกัดคำพูดก่อนหน้าของบรรดาสายเหยี่ยวใน เฟดฯว่า จะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย และถ้าจะขึ้นก็อย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะแม้ความเสี่ยงภายในของเศรษฐกิจสหรัฐฯจะไม่มาก แต่แรงกดดันผลกระทบจาก 3 ปัจจัยสำคัญคือ 1) ภาวะทรุดตัวของเศรษฐกิจโลก 2) ราคาน้ำมันที่ดิ่งลง 3) ความผันผวนในตลาดหุ้นยังเป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง
การส่งสัญญาณจะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย และถ้าจะขึ้นก็อย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีการกำหนดเวลาที่ชัดเจน โดยระบุว่า แม้สหรัฐฯจะมีความเสี่ยงทางด้านเศรษฐกิจต่ำ แต่อยู่ภายใต้ความไม่แน่นอนอย่างมาก ไม่มีนัยให้ตีความอีก
สำหรับตลาดเก็งกำไร การยืนยันดังกล่าว จะต้องมีการฉลองชั่วขณะ ดังที่ตลาดหุ้นทั่วโลกแสดงปฏิกิริยาออกมาในทางบวก ยกเว้นญี่ปุ่นที่ข่าวดีจะถูกตีความทางลบ เพราะค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น
ปฏิกิริยาในทันทีจากคำปราศรัยของนางเยลเลน ทำให้เกิดรากฏการณ์ร่วม 3 อย่างคือ 1) ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐร่วงลงทันที สวนทางกับอัตราผลตอบแทนที่พุ่งสูงขึ้น 2) ราคาหุ้นกลุ่มการเงินและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่ใช่น้ำมันและทองคำแท่ง พุ่งแรงอีกวันหนึ่งขานรับข่าวดี 3) ค่าดอลลาร์ร่วงลงทันทีในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราทั่วโลก
การที่ตลาดหุ้นนิวยอร์ก มองข้ามราคาน้ำมันที่ร่วงแรงกว่า1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อคืนที่ผ่านมา โดยดัชนีดาวโจนส์พลิกดีดตัวพุ่งแรงกลางตลาดหลังจากผันผวนในแดนลบช่วงแรก ดัชนี S&P500 ปิดบวกทำนิวไฮในรอบ 3 เดือนอีกครั้งอย่างโดเด่นเหนือ 2,000 จุด ถือเป็นการกลบข่าวร้ายด้วยข่าวดีตามปกติ
สำหรับตลาดหุ้นเอเชียเช้านี้ หากไม่นับตลาดหุ้นโตเกียวที่จะได้รับผลร้ายจากการแข็งของเงินเยนแล้ว ทุนเก็งกำไรจะไหลกลับเข้ามาดันตลาดให้เป็นขาขึ้นคึกคักระลอกใหม่อีกครั้ง หลังจากที่มีการชะลอการลงทุนและพักฐานในหลายวันมานี้ เพื่อรอดูท่าทีของเฟดฯ
ส่วนตลาดหุ้นไทย ที่เมื่อวานนี้ ปรับตัวบวกท้ายตลาดยืนเหนือ 1,410 จุดได้อีกครั้ง เพราะมีแรงซื้อต่างชาติย้อนกลับเข้ามาครั้งใหม่ แม้กระทั่งหุ้นพลังงานที่ควรจะร่วงลงก็ยังถูกแรงซื้อดันให้บวกจนได้ ในขณะที่หุ้นกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ขานรับแรงซื้อเต็มที่ โดยกองทุนในประเทศที่รับบทผู้ร้ายหลายวันมานี้ ก็กลับลำหันมาซื้อสุทธิตามกระแส ปล่อยให้รายย่อยขายทำกำไรเป็นหลัก
สถานการณ์ขาขึ้นชั่วคราวนี้ จะดำเนินต่อไปได้ไกลเพียงใด
คำตอบจากนักวิเคราะห์หลายสำนักยังคงยืนยันว่า แนวต้านสำคัญที่ต้องจับตาอยู่ที่ 1,430 จุด หากผ่านไปไม่ได้ก็จะถึงเวลาปรับฐานจริงจังเสียทีโดยเฉพาะช่วงก่อนสงกรานต์ ที่จะมีวันหยุดค่อนข้างยาวนานกว่าตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ท่ามกลางแรงซื้อของต่างชาติอย่างรุนแรงเข้มข้นวานนี้ ตลาดเมินเฉยต่อข่าวการที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี ทำการปรับลดการคาดการณ์ เศรษฐกิจไทยในปี 2559 โตร้อยละ 3 จากเดิมคาดว่าโตร้อยละ 3.5 และจีดีพีจะเร่งตัวเพิ่มเป็นร้อยละ 3.5 ในปี 2560 เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศสำคัญยังขยายตัวได้ไม่เข้มแข็ง
แม้การการประเมินในครั้งนี้ จะไม่ได้รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสงกรานต์ ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคในเดือนเมษายนได้ แต่ผู้ทำการประเมินก็ยืนยันว่า ผลของมาตรการ ?ฝนตกไม่ทั่วฟ้า? ดังกล่าว ต่อจีดีพีทั้งปีมีน้อยมาก
เอดีบี ระบุว่า ตัวการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ คือการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 8 ปี คาดว่าในปีนี้จะมีการเริ่มดำเนินการใน 20 โครงการมูลค่า 1.7 ล้านล้านบาท ทั้งโครงการรถไฟฟ้า รถไฟ มอเตอร์เวย์ ท่าเรือ การขยายสนามบินสุวรรณภูมิ หากการลงทุนเป็นไปตามที่กำหนดจะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและ การลงทุนภาคเอกชนให้ลงทุนตาม โดยประเมินการลงทุนภาครัฐปีนี้ขยายตัวร้อยละ 10
ขณะที่การส่งออกในปีนี้ยังคงหดตัวต่อเนื่อง ติดลบร้อยละ 1 ก่อนที่จะเริ่มขยายตัวร้อยละ 1 ในปี 2560 โดยต้องจับตาเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่เชื่อมโยงต่อการส่งออกไทย ซึ่งเอดีบี ทำการศึกษาว่า หากอัตราการเติบโตของจีนชะลอลงอีกร้อยละ 0.85 จากที่คาดการณ์ว่าโตร้อยละ 6.5 จะมีผลกระทบต่อจีดีพีประเทศเกิดใหม่ และไทยลดลงร้อยละ 0.3
สิ่งที่สามารถพยุงเศรษฐกจิไทยเอาไว้ให้มีดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลชำระ เงินเป็นบวกต่อเนื่อง อยู่ที่รายได้จากภาคการท่องเที่ยว ที่ยังเป็นปัจจัยหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ส่วนมูลค่าการนำเข้าจะขยายตัวเล็กน้อยในปีนี้ และเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า เมื่อโครงการลงทุนภาครัฐเดินหน้าต่อเนื่อง
สำหรับการบริโภคเอกชน คาดว่าจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น และเพิ่มสูงขึ้นในปี 2560 แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ผลผลิตข้าวและผลผลิตการเกษตรลด ลง บวกกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำ และหนี้ครัวเรือนที่สูงถึงร้อยละ 81 ของจีดีพี ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นตัวของการบริโภค
หากนำมุมมองเชิงลบของเอดีบี มาหักกลบเข้ากับข้อเท็จจริงที่ว่า ตลาดคงใช้เวลาซึมซับข่าวดีของนางเยลเลนอีก 2-3 วันแล้ว นักลงทุนที่ชาญฉลาดและมีประสบการณ์ ควรจะตระหนักดีว่า ทิศทางขาขึ้นจากวานนี้ของตลาดหุ้นไทยนั้น ไม่น่าจะยาวนานเหมือนใน 1 เดือนเศษที่ผ่านมา เพราะดัชนีตลาดไทยที่เริ่มแกว่งไกวมาก่อนหน้านี้ 1 สัปดาห์ เริ่มส่งสัญญาณชัดเจนว่า ?ยิ่งสูง ยิ่งหนาว? เป็นสถานการณ์ที่เป็นไปได้เสมอ
ปรากฏการณ์ที่ดู ?คุ้นๆ? เมื่อวานนี้ น่าจะสอนให้นักลงทุนตระหนักว่า มายาภาพของตลาดนั้น เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เพราะอารมณ์ร่วมของตลาดมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เช่นกันกับเงินเก็งกำไรของทุนต่างชาตินั้น เข้ามาได้ก็ออกไปได้ ไม่มีความแน่นอนยั่งยืน
ที่มา..ข่าวหุ้นออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น