วันจันทร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2558

ระเบิดศึก4Gคลื่น900 ADVANC-DTACตัวเต็ง :เกณฑ์ใหม่งวดแรก8พันล้าน-ปลดล็อก หุ้นสื่อสาร

ระเบิดศึก4Gคลื่น900 ADVANC-DTACตัวเต็ง :เกณฑ์ใหม่งวดแรก8พันล้าน-ปลดล็อก หุ้นสื่อสาร

2015-12-15 12:00:00
ผู้เข้าชม : 6

เปิดศึกประมูล 4G คลื่น 900 MHz วันนี้ กำหนดราคาเริ่มต้น 12,864 ล้านบาท กสทช.การันตีความพร้อมเต็มที่ทุกด้าน เชื่อแข่งดุเดือดแน่นอน พร้อมเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ไม่ว่าเคาะราคาประมูลจบที่เท่าไร งวดแรกจ่ายค่าใบอนุญาตเพียงแค่ 8,000 ล้านบาท โบรกเกอร์เชื่อ ADVANC-DTAC มีลุ้นชนะคว้าใบอนุญาต ชี้ราคาประมูลส่อพุ่ง 4 หมื่นล้านบาท
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (15 ธ.ค.) กสทช.พร้อม 100% ในการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz โดยได้มีการเตรียมทุกด้านทั้ง สถานที่ ระบบซอฟต์แวร์ประมูล บุคลากร รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และทุกขั้นตอนเป็นไปด้วยความโปร่งใส
สำหรับขั้นตอนการประมูลเริ่มเวลา 07.00-07.50 น. จะเปิดให้ผู้เข้าร่วมการประมูล จะมาลงทะเบียนที่ห้องโถงชั้น 1 อาคารอำนวยการ จากนั้นเวลา 08.00 น. จะเป็นการจับสลากเพื่อเลือกห้องประมูลและซองบรรจุ User name หรือ Login ID และรหัสผ่านครั้งแรก หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมประมูลจะเข้าห้องประมูลตามลำดับที่จับสลากได้ และเริ่มประมูลรอบแรกในเวลา 09.00 น. และประมูลต่อเนื่องจนถึงเวลา 21.00 น. จากนั้นให้พัก 3 ชั่วโมง และเริ่มประมูลอีกครั้งในเวลา 00.01-06.00 น. พักอีก 3 ชั่วโมง เริ่มประมูลอีกครั้งในเวลา 09.00-21.00 น. ต่อเนื่องในรูปแบบนี้ไปจนกว่าจะจบการประมูล 
นายฐากร กล่าวว่า จากขนาดของคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล และระยะเวลาของอายุใบอนุญาตของคลื่น 900 MHz กับคลื่น 1800 MHz ที่แตกต่างกัน โดยคลื่น 900 MHz มีขนาดคลื่นความถี่ใบละ 10 MHz และมีอายุใบอนุญาต 15 ปี ขณะที่คลื่น 1800 MHz มีขนาดคลื่นความถี่ใบละ 15 MHz และมีอายุใบอนุญาต 18 ปี ซึ่งผลประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz เมื่อวันที่ 11-12 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2692.6 ล้านบาทต่อ 1 MHz ดังนั้นหากราคาผลการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ได้ราคาเฉลี่ยมูลค่าคลื่นความถี่ต่อ 1 MHz ที่ 2,692 ล้านบาท หรือสูงกว่า ถือว่าเป็นราคาการประมูลที่มีการแข่งขันดุเดือดมาก
ก่อนหน้านี้ กสทช.ประเมินสถานการณ์ประมูลคลื่น 900 MHz หากมีการเคาะราคาทุกรอบ เมื่อจบการเคาะราคาเวลา 21.00 น. ของวันที่ 15 ธ.ค. 2558 ราคาจะอยู่ที่ 26,066 ล้านบาท เคาะราคาต่อเนื่องจนถึงเวลา 06.00 น. ของวันที่ 16 ธ.ค. 2558 ราคาจะอยู่ที่ 31,862 ล้านบาท และเคาะต่อเนื่องถึงเวลา 21.00 น. ของวันที่ 16 ธ.ค. 2558 ราคาจะอยู่ที่ 43,454 ล้านบาท หากต่อเนื่องถึงเวลา 06.00 น.  ของวันที่ 17 ธ.ค. 2558 ราคาอยู่ที่ 49,250 ล้านบาท และต่อเนื่องถึงเวลา 21.00 น. ของวันที่ 17 ธ.ค. 2558 ราคาอยู่ที่ 60,842 ล้านบาท เคาะราคาต่อเนื่องจนถึง 06.00 น. ของวันที่ 18 ธ.ค. 2558 ราคาอยู่ที่ 66,638 ล้านบาท  
สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz แบ่งออกเป็น 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz มีอายุใบอนุญาต 15 ปี โดยราคาขั้นต่ำของการประมูลครั้งนี้อยู่ที่ 12,864 ล้านบาท  ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องเคาะราคาครั้งแรกที่ 13,508 ล้านบาท จากนั้นการเคาะราคาจะเพิ่มขึ้นรอบละ 5% ของราคาขั้นต่ำ คิดเป็น 644 ล้านบาท เมื่อราคาประมูลถึง 16,080 ล้านบาท การเคาะประมูลจะเพิ่มขึ้นเหลือครั้งละ 2.5% ของราคาขั้นต่ำ  คิดเป็น  322 ล้านบาท
ขณะที่งวดการชำระเงินประมูลคลื่น 900 MHz ต่างจาก 1800 MHz แบ่งจ่ายดังนี้ งวดแรกจ่าย 50% หรือ 8,040 ล้านบาท (หรือ 50% ของ 16,080 ล้านบาท) ภายใน 90 วัน เมื่อได้รับแจ้งเป็นผู้ชนะอีก 25% หรือ 4,020 ล้านบาท ปีที่ 2 และปีที่ 3 อีก 25% หรือ 4,020 ล้านบาท และจ่ายส่วนที่เกินจาก 16,080 ล้านบาท งวดที่ 4 จึงไม่เป็นภาระผู้ประกอบการช่วงปีแรกที่ต้องลงทุนเพื่อเปิดให้บริการ
โดยผู้ที่ผ่านคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz มีทั้งสิ้น 4 ราย ได้แก่ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด บริษัทในเครือ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS, บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัทในเครือ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC, บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทในเครือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัทในเครือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE
:โบรกเกอร์ชี้ ADVAC-DTAC ชนะ
นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บนสมมติฐานราคาประมูลสิ้นสุดสำหรับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท จะเป็นมูลค่าเพิ่มสำหรับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ของ ADVANC ที่ 3.80 บาท ส่วนหุ้น DTAC ที่ 4.80 บาท และหุ้น TRUE ที่ระดับ 0.50 บาท
โดยคาดราคาสิ้นสุดประมูลสำหรับคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์มีแนวโน้มออกมาในช่วง 4-4.8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากภาวะการแข่งขันด้านราคาของการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากกว่าการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรซต์ (อย่างน้อยมีผู้ประกอบการ 3 รายที่จะต้องแย่งชิงสองใบอนุญาต)
อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์บ่งชี้ว่า หากราคาประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์สูงเกินกว่า 49,200 ล้านบาท มูลค่าเพิ่มจากใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์จะกลายเป็นติดลบไปเลยโดยทันที และทุกการเปลี่ยนแปลงของราคาประมูล 5% (หรือคิดเป็น 1.9 พันล้านบาท) จะกระทบมูลค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์คิดเป็นประมาณ 17% และใช้สมมติฐานว่าท้ายที่สุดแล้ว ADVANC และ DTAC จะเป็นผู้ชนะการประมูล ใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์
นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของราคาหุ้นในกลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันหลังจากการประมูลในอนุญาตคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์เสร็จ น่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการกลับเข้าไปซื้อสะสมหุ้นกลุ่มในกลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่อีกครั้ง และมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่น่าสนใจในระดับ 6-7.5%
โดยคาด ADVANC จะกลับมาเป็นผู้นำด้านการให้บริการดาต้าอย่างแน่นอนหลังจากสามารถครอบครองใบอนุญาตคลื่นความถี่ทั้ง 1800 เมกะเฮิรตซ์และ 900 เมกะเฮิรตซ์ นอกจากนี้ หุ้น INTUCH เป็นหุ้นที่ฝ่ายวิเคราะห์ชอบอันดับสองในฐานะบริษัทโฮลดิ้งซึ่งถือหุ้นใน ADVANC และตามด้วยหุ้น DTAC ซึ่งอยู่ในสถานะที่ถูกเทขายมากเกินไป
:กฤษฎีกาหนุนนำคลื่นจัดสรรใหม่
นายฐากร กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่นายอนุชิต ธูปเหลือง ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรื อ TOT ได้ส่งหนังสือสอบถามสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเรื่องอำนาจในการนำคลื่น 900 MHz ของ TOT ที่หมดสัญญาสัมปทานกับ ADVANC เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2558 ที่ผ่านมา โดยขอให้ตรวจสอบการทำงานของกสทช.ว่ามีอำนาจในการนำคลื่นมาประมูลหรือไม่
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมาสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้แจ้งผลการวินิจฉัยให้ประธานกรรมการ TOT และปลัดกระทรวงการคลังในฐานะผู้มีอำนาจในการกำกับดูแลและกำกับนโยบาย TOT พิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในประเด็นตามข้อร้องเรียนดังกล่าว หากพบว่าส่งผลกระทบต่อ TOT ในการนำคลื่นความถี่ไปดำเนินการภายหลังการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของ ADVANC เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2558 ก็ขอให้พิจารณาสั่งการให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ให้ไปดำเนินการใช้สิทธิในการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองต่อไป
ทั้งนี้ ในวันเดียวกันสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้มีหนังสือตอบกลับมายังทีโอทีถึงประเด็นดังกล่าวเช่นกัน โดยระบุว่า เมื่อสัญญาสัมปทานระหว่าง TOT กับ ADVANC สิ้นสุดลงในวันที่ 30 ก.ย. 2558 สิทธิตามกฎหมายของ TOT ในการใช้คลื่นความถี่จึงสิ้นสุดลงตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ฯ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ต้องคืนคลื่นความถี่ดังกล่าวให้แก่ กสทช.เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ฯ นับตั้งแต่วันที่สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง

  • 2015-11-17 12:00:00 - ADVANCเครดิตยังเยี่ยมคว้าคลื่น1800ไม่กระทบกทค.รับรองผลประมูล คลอดไลเซนส์ 25 พ.ย.นี้
  • ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น