วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

เซียนหุ้น VI จากทุน 800,000 สู่หลัก ร้อยล้าน__ลูกอีสาน (ตอน 1)


เซียนหุ้น VI จากทุน 800,000 สู่หลัก ร้อยล้าน__ลูกอีสาน (ตอน 1)
ใครคนหนึ่งเอ่ยถาม อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ว่า

" ท่านครับ ! ท่านคิดว่าอะไรคือ ประดิษฐกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติครับ "

อัจฉริยะผมยุ่ง ผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1879-1955 ตอบว่า

" ก็ดอกเบี้ยทบต้นไง ! ! ! "

เจ้าของชื่อล็อกอิน " ลูกอีสาน " ในเว็บไซต์ Thaivi " โจ " อนุรักษ์ บุญแสวง วันนี้พอร์ตเขาแตะเลข 9 หลัก เพราะเดินตามทฤษฎี " กำไรทบต้น " สิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของไอน์สไตน์

" โจ " เป็นนักลงทุนวีไอที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขามีแฟนคลับคอยติดตามผลงาน การลงทุนอย่างใกล้ชิดและเป็นหนึ่งในกรรมการสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า ( ประเทศไทย )

โจและเพื่อน 2-3 คน ที่เป็นนักลงทุนแนว VI เหมือนกันลงทุนอยู่ที่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทุกไตรมาส พวกเขาจะจัดสัมมนาคุยกับแฟน ๆ ประมาณ 50 ที่นั่ง ที่ร้านอาหาร สมิหลาซีสปอร์ต ในอำเภอหาดใหญ่

ชื่อ "ลูกอีสาน" ที่โจใช้เป็น "นามแฝง" หาใช่ภูมิลำเนาที่แท้จริงไม่ ความจริงโจเกิดและใช้ชีวิตวัยเด็ก จนถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่จังหวัดพังงา ก่อนจะเข้ามาอยู่กับญาติย่านลาดพร้าว เพื่อศึกษาต่อมัธยมศึกษาตอนปลาย

ส่วนชื่อ "ลูกอีสาน" เกิดขึ้นหลังอ่านนวนิยายเรื่อง "ลูกอีสาน" ของ คำพูน บุญทวีศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2544 แล้วเกิดซาบซึ้งในชื่อนี้ขึ้นมา

เซียนหุ้นวีไอรายนี้ปัจจุบันอยู่ในวัย 38 ปี มีพี่น้อง 4 คน โจเป็นลูกชายคนรองคุณพ่อเสียชีวิตตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ส่วนคุณแม่เป็นชาวบ้านธรรมดาที่ยึดอาชีพขายของชำเลี้ยงดูลูกๆ ในวัยเด็กโจมีชีวิตค่อนข้างลำบาก ตัวเขา พี่ชายคนโตและแม่ ต้องแบกรับหน้าที่ทำงานหาเงินเลี้ยงดูครอบครัวทั้ง 5 ชีวิต

โจลงทุนในตลาดหุ้นมานาน 12 ปีครึ่ง (2543-2555) มีพอร์ตทะยานขึ้นมาเลข 9 หลัก โดยมูลค่าการลงทุนขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี "เฉลี่ยปีละ 60%" มีผลตอบแทนในช่วง 12 ปี เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 400 เท่า สมมติฐานทั้งหมดตั้งอยู่บนหลักการไม่นำเงินออกมาใช้ แต่ความจริงเขานำเงินมาใช้เฉลี่ย 5-10% ของพอร์ต

อนุรักษ์ บุญแสวง นั่งเครื่องบินจากอำเภอหาดใหญ่ เพื่อมาเล่าประวัติชีวิตและเส้นทางการลงทุนให้ กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฟัง โดยมี "ไก่" ธันวา เลาหศิริวงศ์ นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) เป็นผู้ประสานงานให้

ก่อนจะเล่าจุดเริ่มต้นในเส้นทางเซียนหุ้น โจระบายความใจว่า " พื้นฐานผมมาจากครอบครัวยากจน และเป็นคนบ้านนอก เมื่อก่อนจะมีประโยคฮิตว่า "คนจนเล่นหวย คนรวยเล่นหุ้น" ผมจึงอยากพิสูจน์ตัวเองว่า คนจนก็เล่นหุ้นได้เหมือนกัน ขอเพียงแค่มีใครสักคนมาคอยชี้แนวทางที่ถูกต้องให้เดินเท่านั้น "

จุดสนใจตลาดหุ้นเกิดขึ้นตอนเด็ก ๆ ช่วงนั้น โจย้ายไปอยู่บ้านญาติแถวลาดพร้าว วันหนึ่งก็แอบได้ยินลูกชาย ( คุณน้า ) ของคุณปู่ ซึ่งอายุห่างกันประมาณ 15 ปี บอกกับคุณปู่ว่าอยากลาออกจากงานประจำมาเล่นหุ้น ไม่ต้องทำอะไรเลยก็มีเงินใช้

ตอนนั้นโจคิดในใจว่า " อาชีพอะไรทำไมน่าสนใจแบบนี้ "

เขาเรียกน้าชาย คนนั้นว่า " คิ้ว " ซึ่งแปลว่า " พี่ชาย " เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน

" จากนั้นผมก็เริ่มหาหนังสือและพอคเก็ตบุ๊คที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจมาอ่าน เรียกว่าช่วงนั้นไม่อ่านหนังสือเรื่องอื่นเลย ยกเว้นหนังสือเรียน เมื่อเรียนจบ ม.ปลาย ผมก็ไปเรียนต่อในคณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ใจจริงอยากเรียนเศรษฐศาสตร์จุฬาฯ เพราะเลือกไว้เป็นอันดับหนึ่ง แต่สอบไม่ผ่าน (หัวเราะ) จากนั้นก็ไปเรียนต่อด้านการเงินการธนาคารที่รามคำแหง เพราะอยากมีความรู้เกี่ยวกับการลงทุน "

ช่วงที่เรียนปริญญาตรีอยู่สงขลานครินทร์ โจ จะใช้เวลาทุกเย็นอยู่ในห้องสมุดของมหาวิทยาลัย เพื่ออ่านหนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ เขาอ่านหนังสือลักษณะนี้ทุกวันเป็นระยะเวลา 4 ปี จนเรียนจบในเดือนมีนาคม 2539

หลังเรียนจบปริญญาตรีใบแรกถัดมาประมาณ 3 ปี เขาก็ตัดสินใจลงทุนในตลาดหุ้นเป็นครั้งแรก ตอนนั้นมีเงินประมาณ 50,000 บาท ซึ่งเป็นเงินเก็บจากการทำงานในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัย

ตอนนั้นทำงานในบริษัทขายเครื่องใช้สำนักงานและกล้องถ่ายรูป เงินเดือนน้อยประมาณ 10,000 บาท แต่ก็ต้องทำ

" ช่วงเปิดพอร์ต ผมเจ็บใจมาก (หัวเราะ) ตอนนั้นเพิ่งผ่านวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งมาใหม่ ๆ โบรกเกอร์แห่งหนึ่งจะให้ผมเปิดพอร์ต 5 ล้านบาท ตอนนั้นผมคิดในใจใครจะมีเงินมากขนาดนั้น สุดท้ายผมก็ไปเปิดพอร์ตที่ บล.เกียรตินาคินประมาณ 300,000 บาท "

ตอนนั้นเขาไปขอเงินแม่มา 100,000 บาท ทั้งครอบครัวคงมีเงินอยู่เท่านั้น แต่แม่ก็ให้เพราะรักลูก ส่วนที่เหลืออีก 150,000 บาท ไปชวนเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ที่เรียนด้วยกันที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาร่วมลงทุน เพราะเขาอยากเล่นหุ้นอยู่แล้ว

" ผมซื้อหุ้น บล.เอกธำรง ( S-ONE ) เป็นตัวแรก ตอนนั้นปี 2541 ในราคา 11.30 บาท ถือมาประมาณ 1 ปี ก็ขายในราคา 5.80 บาท (หัวเราะ) เรียกได้ว่า "ขาดทุนยับเยิน" เหลือเงินติดพอร์ตเพียง 120,000 บาท สุดท้ายก็แบ่งคนละครึ่งกับเพื่อน "

นั่นคือความล้มเหลวแรกที่เจ้าตัวไม่เคยลืมเลือน


ช่วงนั้นเขายอมรับว่าในหัวสมองไม่มีวิชา การวิเคราะห์หุ้น วัน ๆ อ่านแต่บทวิเคราะห์อย่างเดียว แถมรู้จักธุรกิจที่ลงทุนเพียงผิวเผินเท่านั้น ผนวกกับตอนนั้นเพิ่งผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาใหม่ ๆ ทำให้รายได้ของโบรกเกอร์ไม่ดี

จำได้ช่วงซื้อหุ้น S-ONE ดัชนี หุ้นไทยหล่นจาก 600 จุด มายืน 200 จุด

หลังจากขาดทุนหนัก โจก็เดินทางไปสหรัฐอเมริกา ภรรยาที่เป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ ซึ่งคบกันมาตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยได้ทุนไปเรียนต่อ

โจใช้เวลาช่วงนั้นศึกษาหาความรู้ เพิ่มเติมเกี่ยวกับงบการเงิน

วันหนึ่งไปอ่านเจอบทความของอาจารย์ ที่แนะนำการลงทุนเน้นคุณค่าทางอินเทอร์เน็ตคนหนึ่งชื่อว่า Paul A Renaud ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ ที่อยู่ในเมืองไทย เขาเป็นเจ้าของ www.thaistocks.com เขาจะสอนให้ซื้อหุ้น ขนาดเล็กเน้นดูพื้นฐานของกิจการเป็นหลัก

แต่ตอนนั้น โจยังไม่รู้ว่าลงทุนแบบนี้เขาเรียกว่าแนว VI เพราะ ยังไม่มีการบัญญัติคำเหล่านั้นขึ้นมา


อีกคนชื่อ ปีเตอร์ อีริค เดนนิส นักลงทุน ชาวออสเตรีย คนนี้ก็อยู่เมืองไทยเหมือนกัน เขาเขียนบทความลงคอลัมน์ " ถนนนักลงทุน" ( ก่อนที่จะเป็นหนังสือกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ในปัจจุบัน ) ความยาว 17 หน้า โจอ่านซ้ำแล้วซ้ำอีกจนจำขึ้นใจ บทความ ชิ้นนี้ทำให้รู้ว่า ชีวิตการลงทุนของคนที่จะประสบ ความสำเร็จได้

" คุณต้องเป็นมืออาชีพเท่านั้น "

ประโยคหนึ่งในบทความบอกว่า ทำไม ! คนไทยต้องไปต่อคิวซื้อธนบัตรที่ได้ดอกเบี้ยเพียง 6% ในขณะที่ เมืองไทยมีหุ้นดี ๆ ที่จ่ายเงินปันผลมากกว่า 10% ทุกปี ทำไม ! ถึงไม่ซื้อ เขาถึงขนาดทนไม่ได้ต้องเขียนเป็นบทความออกมาให้นักลงทุนอ่าน


ปีเตอร์ เดนนิส ( สมัยก่อนจะเห็นเขาอยู่ที่ห้องสมุด ตลาดหลักทรัพย์เป็นประจำ ) เขาบอกว่า หลักการนี้เหมือนของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก ขณะเดียวกันเขายังแนะนำวิธีการซื้อหุ้นเน้นดู อัตราส่วนทางการเงิน ( Financial ratio ) อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น ( ROE ) และ เงินปันผล รวมถึงคุณภาพบริษัท

" ผมใช้เวลาอ่านบทความต่าง ๆ ในช่วงที่อาศัยใน สหรัฐอเมริกาประมาณ 2-3 ปี หลังอ่านจบทำให้รู้ว่าแนว VI มันมีเหตุผลมากกว่า เส้นเทคนิค เพราะมีคนทำสำเร็จมาแล้วแถมมีความเป็นไปได้มากกว่า ในอดีตเคยศึกษาเส้นเทคนิคมาประมาณครึ่งปี แต่พอรู้ว่ามันไม่สามารถทำให้ "รวย" ได้ ผมก็เลยเลิก "

เจ้าของพอร์ตหุ้นหลักร้อยล้าน เล่าต่อว่า ในช่วงที่ศึกษาการลงทุนก็ลงทุนในตลาดหุ้นไทยไปด้วย ตอนนั้นเล่น "หนักมาก" โดยจะนำเงินที่ได้จากการทำงานเป็น ผู้ช่วยพ่อครัวในร้านอาหารเกาหลีประมาณ 1 ปีครึ่ง มาเป็นทุน

จำได้ตอนนั้นปี 2543 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มลงทุนแนว VI ทุกเดือนจะโอนเงินกลับเมืองไทยประมาณ 1,000 เหรียญ เพื่อเข้าบัญชีน้องสาว ซึ่งน้องจะนำไปซื้อหุ้นผ่านโบรกเกอร์ แม้จะโดนหักค่าโอนครั้งละ 5% แต่ก็ต้องยอม เพราะตอนนั้นหุ้นเมืองไทยหลังวิกฤติเศรษฐกิจมัน "ถูกมาก"

ช่วงนั้นเขาซื้อหุ้น 2 ตัว มูลค่าลงทุน 800,000 บาท แบ่งเป็นเงินของภรรยา 50% และของตัวเอง 50% โดย 400,000 บาท นำไปซื้อหุ้น วนชัย กรุ๊ป ( VNG )

ตอนนั้น ลงทุนโทรไปหาโบรกเกอร์ เขาคิดว่า โจพูดชื่อหุ้นผิด เพราะเขาถามกลับว่าหุ้น เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ( NMG ) หรือเปล่ า!

โจบอกว่า "ไม่ใช่" (หัวเราะ) เหตุผลที่ซื้อหุ้น VNG เขาบอกว่า ตอนนั้นไม่มีใครสนใจหุ้น VNG ในหนึ่งสัปดาห์แทบไม่มีการซื้อขาย ที่กล้าซื้อ เพราะช่วงนั้นหุ้นมีค่า P/E ที่ 1.5 เท่า นั่นแปลว่า เราทำกำไรแค่ 1 ปีครึ่ง ก็คุ้มกับราคาที่ซื้อแล้ว สมมติราคาหุ้น 15 บาท ปีครึ่งบริษัททำกำไรได้ 15 บาท ถามว่า "ถูกมั้ย!..มันถูกมาก" (ลากเสียงยาว) ส่วนอีก 400,000 บาท นำไปลงทุนในหุ้น อาร์ ซี แอล (RCL) ตอนนั้นซื้อมา 28 บาท จำได้ค่า P/E อยู่ที่ 2.5 เท่า

เขาถือหุ้น 2 ตัวนี้ ( VNG, RCL ) เกือบปี แต่ราคาหุ้นแทบไม่ขยับตอนนั้นเริ่มสงสัย "เราคิดถูกหรือเปล่า!"

แต่สุดท้ายมาถึง "จุดเปลี่ยน" มีนักลงทุนกลุ่มหนึ่ง รวมถึง Paul A. Renaud เขาสนใจหุ้น VNG หลัง Paul A. Renaud ออกบทวิเคราะห์เกี่ยวกับหุ้น VNG ผ่านมาเพียง 1 สัปดาห์ ราคาหุ้น VNG ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว หรือประมาณ 30 บาท

" ผมตัดสินใจเทขายหมดเกลี้ยง ทำให้ได้กำไรกลับมา 400,000 บาท ส่งผลให้พอร์ตเพิ่มขึ้นเป็น 1.2 ล้านบาท จากนั้นภายใน 1 ปี ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 10 เท่า เพราะมันกลายเป็นหุ้นมวลชนหลายคนแห่เข้ามาเก็งกำไร ส่วนเงินที่ได้จากการขายหุ้น VNG ก็นำไปซื้อหุ้นตัวอื่น ๆ กระจายออกไป 2-3 ตัว เช่น หุ้น ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ ( PPPC ) เป็นต้น ปัจจุบันหุ้นตัวนี้ออกจากตลาดไปแล้ว ตอนนั้นแฮปปี้มากเพราะได้กำไรเกือบทุกตัว "

โจลูกอีสาน ทิ้งท้ายว่า อยากเป็นนักลงทุนแนว VI ต้องใช้หลัก "ยิ่งนานยิ่งดี"

โจใช้เวลา 7 ปี ในการทำ ผลตอบแทนให้ได้ 9 เท่า

แต่ใช้เวลา 5 ปีหลัง ทำผลตอบแทน ได้ 400 เท่า นั่นเป็นเพราะกลยุทธ์ "มหัศจรรย์การ ทบต้น"

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์บอกไว้ว่า "ดอกเบี้ย" คือ สิ่งมหัศจรรย์อันดับแปดของโลก โจปักใจเชื่อสนิทขณะที่คนส่วนใหญ่รอไม่ได้ จึงหันไปเก็งกำไร ซื้อหวย และเล่นพนันบอล ส่วนใหญ่ก็เห็นเจ๊งเป็นแถว

เขาอธิบายมหัศจรรย์ของ "กำไรทบต้น" ว่า สมมติเรามีเงิน 100 บาท สิ้นปีสามารถทำผลตอบแทนได้ 20% เท่ากับว่าสิ้นปีเราจะมีเงิน 120 บาท แทนที่จะเอา 20 บาท ไปกินขนม เราก็เอา 20% มาทบเป็นเงินต้น ดังนั้นต้นปี ก็จะมีเงินต้น 120 บาท

สมมติปีที่ 2 เราสามารถทำ ผลตอบแทนได้เท่าเดิม กำไรก็จะเปลี่ยนเป็น 24 บาท เราก็เอา 24 บาท ไปทบต้นอีก

ทำแบบนี้ไปทุกปีภายใน 10 ปี มันจะเกิดสิ่งมหัศจรรย์ทะลุฟ้า ฉะนั้นใครคิด อยากรวยเร็ว อย่ามาลงทุนแบบ VI

เรื่องราวของเซียนหุ้นบ้านนอกยังไม่จบ โจใช้เทคนิคแบบไหนถึงทำให้มูลค่าการลงทุนภายใน 12 ปีครึ่ง ทะยานขึ้นเป็น 9 หลัก

ติดตามต่อไปในสัปดาห์หน้า..ห้ามพลาดเด็ดขาด ! !

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น