วันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ถอดรหัสหุ้น "MFC" กองทุนบิ๊กไซซ์

ถอดรหัสหุ้น "MFC" กองทุนบิ๊กไซซ์

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

หากจัดลำดับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไซซ์ใหญ่ที่มีผู้ถือหุ้นแข็งแกร่งในประเทศเวลานี้ ก็มี บลจ. เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC ติดโผแน่นอน แต่ในฐานะหุ้นตัวหนึ่งบนกระดานตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET) กลับมีปริมาณการซื้อขายบางเบา คำถามคือ ความน่าสนใจของ MFC อยู่ตรงไหน
ชื่อ:  0.jpg
ครั้ง: 10980
ขนาด:  122.4 กิโลไบต์
เมื่อเจาะดูโครงสร้างธุรกิจของ MFC ในด้านต่าง ๆ จึงพบว่า ความแข็งแกร่งด้าน "ผู้ถือหุ้น" เป็นสิ่งที่โดดเด่น โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรก ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 24.92% ตามมาด้วยธนาคารออมสิน กระทรวงการคลัง เสี่ยสอง วัชรศรีโรจน์ กองทุนเปิดอเบอร์ดีนโกรท ในสัดส่วน 24.50%, 16.67%, 3.59% และ 3.12% ตามลำดับ ซึ่งชื่อทั้งหมดนี้สะท้อนว่า MFC มีจุดเด่นทั้งในแง่ช่องทางจำหน่ายและเครือข่ายธุรกิจ

แม้ว่ารายได้และกำไรสุทธิในปีล่าสุด (ปี 2557) จะร่วงจากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 942.37 ล้านบาท และ 236.42 ล้านบาท หรือลดลง 20.07% และ 30.63% ตามลำดับ ทั้งที่ 3 ปีก่อนหน้านั้น (ปี 2554-2556) รายได้และกำไรขยายตัวต่อเนื่อง 

ในจังหวะอย่างนี้ ถึงผู้ถือหุ้นรายย่อยตกใจกับ "ผลประกอบการ" ที่ออกมา แต่ถึงอยากขายออกก็ทำได้ยาก เพราะสภาพคล่องต่อปีของหุ้นตัวนี้น้อยมาก

แต่ในมุมมองของ "ทอมมี่ เตชะอุบล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MFC มองว่า หุ้นตัวนี้เปรียบเหมือน "ไข่ทองคำ" ของกลุ่มเตชะอุบล เพราะมีผลตอบแทนจากเงินปันผลค่อนข้างสูงในระดับ 6-7% ขณะที่มีความสามารถสร้างรายได้และกำไรดีขึ้นต่อเนื่อง แม้จะปรับลดลงบ้างในบางปีก็ตาม

"ปี 2557 บ้านเรามีปัญหาในเรื่องของการลงทุน จนส่งผลให้การขายกองทุนไม่ดีนัก จึงสะท้อนมาถึงรายได้และกำไรสุทธิให้ปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในภาวการณ์แบบนั้น บริษัทยังคงสามารถสร้างผลตอบแทนจากปันผลได้น่าพอใจมาก ที่ระดับ 6-7% ดังนั้นแม้ราคาหุ้นจะไม่หวือหวา มีการซื้อขายน้อย เราก็ยังพอใจอยู่ เพราะธุรกิจนี้ยิ่งอยู่นานก็ยิ่งดีขึ้นเรื่อย ๆ" ทอมมี่กล่าว 

ส่วนในมุมมองของฝ่ายบริหาร "ประภา ปูรณโชติ" กรรมการผู้จัดการ MFC กล่าวว่า ในปี 2558 บริษัทมีเป้าหมายรักษาระดับรายได้ขั้นต่ำให้อยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท และมีสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ที่ระดับ 4.38 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 5% จากปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 4.17 แสนล้านบาท 

โดยเป้าหมาย AUM ที่ตั้งไว้จะมาจากกองทุนวายุภักษ์ 1.86 แสนล้านบาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) 1.45 แสนล้านบาท กองทุนรวม (Mutual Fund) 5.4 หมื่นล้านบาท กองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) 4.46 หมื่นล้านบาท กองทุนหุ้นนอกตลาด (Private Equity Fund) 1.3 พันล้านบาท และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ 1.6 พันล้านบาท 

นอกจากนี้ยังมีแผนจะขยายสาขาเพิ่มอีก 3 แห่งภายในปีนี้ ด้วยงบฯลงทุนราว 50 ล้านบาท เพื่อรองรับการขายหน่วยลงทุนให้ครอบคลุม รวมถึงจะหาพันธมิตรทางธุรกิจรายใหม่เข้ามาเสริมกำลัง ทั้งในด้านกำหนดกลยุทธ์การลงทุน และด้านช่องทางขายหน่วยลงทุนในอาเซียน 

"การเติบโตของรายได้และ AUM ที่เราตั้งเป้าไว้ เป็นระดับปกติที่คาดว่าจะทำได้ แต่แน่นอนว่าปีนี้เราจะสร้างเซอร์ไพรส์ให้เกิดขึ้นได้แน่ โดยเฉพาะกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งภายในเดือนมีนาคมนี้ เราน่าจะได้สินทรัพย์ขนาดใหญ่เข้ามาบริหาร มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยทำให้เราขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 ของกองทุนประเภทนี้ได้" 

เหล่านี้จึงเป็นคำตอบว่าเหตุใด MFC จึงเป็นหุ้นที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ยังมั่นใจลงทุนต่อ แม้ผลประกอบการบางปีจะสะดุดก็ตาม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น