กระทู้: BECL บวก BMCL เท่ากับ CK "ยั่งยืน"
กระทู้: BECL บวก BMCL เท่ากับ CK "ยั่งยืน"
อยากแข็งแกร่งต้องรวมร่าง ตกผลึกทางความคิด “ปลิว ตรีวิศวเวทย์” ณ ช.การช่าง ไม่รอช้า จับ BECL และ BMCL ควบกิจการ
เปิดศักราชใหม่ไม่ถึงเดือน!! บมจ.ช.การช่าง หรือ CK ผู้ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 40 ปี ก็ประกาศ “จัดระเบียบบ้านใหม่” เพื่อสะสมเงินไว้ร่วมวงประมูลโครงการเมกะโปรเจค
ด้วยการจัดตั้งบริษัทใหม่ หลังบมจ.ทางด่วนกรุงเทพ หรือ BECL และ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BMCL ซึ่ง CK ถือหุ้นใหญ่ 15.15% และ 30.19% ตามลำดับ “รวมร่างเป็นหนึ่งเดียว” เรียบร้อยแล้ว
โดยบริษัทแห่งใหม่ที่ยังไม่มีชื่อจะมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 15,285 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1 บาท ซึ่งเมื่อบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2558 อาจกลายเป็น “หุ้นใน SET 50” เนื่องจากจะมีตัวเลขมาร์เก็ตแคปเป็นอันดับที่ 35 ของ SET คิดเป็นมูลค่า 78,000 ล้านบาท
ก่อนการควบรวมกิจการจะเกิดขึ้น BMCLจะปฎิบัติการล้างขาดทุนสะสม ด้วยวิธีลดพาร์ จาก 1 บาท เหลือ 0.37 บาท ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนของทุนลดลงจาก 20,500 ล้านบาท (ตัวเลข ณ วันที่ 30 ก.ย.2557) เหลือ 7,585 ล้านบาท ขณะที่ขาดทุนสะสมจะเหลือ 119 ล้านบาท
ส่วนการจัดสรรหุ้นของบริษัทใหม่ให้ผู้ถือหุ้นนั้น ทางผู้ถือหุ้น BMCL จะได้รับจัดสรร 1 หุ้นเดิม ต่อ 0.420 หุ้นในบริษัทใหม่ ขณะที่ผู้ถือหุ้น BECL จะได้รับจัดสรร 1 หุ้นเดิม ต่อ 8.655 หุ้นในบริษัทใหม่ และเพื่อให้จำนวนหุ้นบริษัทใหม่เป็นไปตามที่กำหนด CK ในฐานะหุ้นใหญ่จะเป็นผู้เกลี่ยหุ้น โดย CK จะซื้อหุ้น BMCL ไม่เกิน 8% และ BECL ไม่เกิน 10% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายแล้ว จากผู้ถือหุ้นที่คัดค้านการควบรวม ขณะที่ BECL จะขายหุ้น BMCL ให้กับ CK จำนวน 10% ราคา 1.79 บาทต่อหุ้น วงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท หลังจากกระบวนการแล้วเสร็จ CK จะถือหุ้นในบริษัทใหม่ประมาณ 30%
ทว่าก่อน CK จะลุกขึ้นมาจัดทัพใหม่ เมื่อปี 2556 บริษัทเคยปฏิบัติการปรับโครงสร้างทางการเงินไปแล้ว โดยในเดือนก.พ.CK ได้การขายหุ้น บมจ.ทีทีดับบลิว หรือ TTW ชื่อเดิม “น้ำประปา ไทย” จำนวน 438.90 ล้านหุ้น ราคา 7.55 บาท รวมมูลค่า 3,314 ล้านบาท ให้กับ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ หรือ BECL (ณ วันปิดสมุดทะเบียน 31 ต.ค..2557 BMCL ถือหุ้น TTW ในสัดส่วน 20.09%)
ต่อมาในเดือนเม.ย.2556 CK ได้ขายหุ้นบมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BMCL ให้บริษัท ไฮกรีตโปรดักส์ แอนด์ เทคโนโลยี่ จำกัด จำนวน 952.68 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 1.15 บาท รวมมูลค่า 1,095.59 ล้านบาท
ก่อนจะมาใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ BMCL ในเดือนธ.ค.2556 จำนวน 1,422 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 1 บาท และยังซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนเกินสิทธิจำนวน 2,777 ล้านหุ้น ส่งผลให้ ณ วันปิดสมุดทะเบียน เมื่อ 13 มี.ค.2557 CK ถือหุ้น BMCL เพิ่มขึ้นจาก 16.64% เป็น 30.19% ส่วน “ไฮกรีตโปรดักส์ฯ” เหลือหุ้น BMCL เพียง 8.05%
เหตุผลแท้จริงของการควบรวมกิจการคืออะไร?
“พงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ บมจ.ช.การช่าง รับอาสาไขข้อข้องใจแทน “ปลิว ตรีวิศวเวทย์” ว่า เราอยากเห็นบริษัทในเครือมีความแข็งแกร่งมากกว่านี้ แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะพยายามปรับโครงสร้างทางการเงินมาโดยตลอดก็ตาม
หากมองลึกๆ จะเห็นว่า ตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา BECL ในฐานะผู้ลงทุนและออกแบบก่อสร้างและบริหารทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) มีความแข็งแกร่งทางด้านการเงินมาตลอด หลังผลประกอบการขยายตัวทุกปี ขณะเดียวกันยังมีการจ่ายเงินส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐบาลอย่างสม่ำเสมอ
แต่เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระบบทางด่วนมีอัตราการเจริญเติบโตลดลง หลังรัฐบาลไม่ค่อยลงทุนสร้างทางด่วนเพิ่มขึ้น ตรงข้ามกลับเน้นไปขยายการลงทุนในระบบรางรถไฟฟ้าแทน เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำให้ผลประกอบการของ BECL ในแต่ละปีไม่ค่อยมีเรื่องตื่นเต้น ส่งผลให้ราคาหุ้นเป็นอย่างเช่นทุกวันนี้
ส่วน BMCL ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา มีผลขาดทุนมาแล้วประมาณ 13,000 ล้านบาท หลังการลงทุนส่วนต่อขยายรถไฟฟ้ามีความล่าช้า ซึ่งตามแผนโครงการส่วนต่อขยายสายสีน้ำ เงิน ช่วงหัว ลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ควรจะเริ่มก่อสร้างเมื่อ 10 ปีก่อน แต่โครงการกลับเพิ่งเริ่มก่อสร้างเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ BMCL ไม่มีรายได้ตามเป้าหมาย แต่การที่ BMCLมี ช.การช่าง คอยสนับสนุนการเงิน ด้วยการใส่เงินเพิ่มทุน ทำให้บริษัทมีความแข็งแกร่งจนถึงทุกวันนี้
“BECL การเงินมั่งคง ผลประกอบการโตต่อเนื่อง แต่โอกาสในการขยายธุรกิจ ค่อนข้างต่ำ ที่ผ่านมาทำได้เพียงเข้าไปลงทุนในกลุ่มช.การช่าง ส่วน BMCL มีงานเข้ามามาก ล่าสุดได้เป็นผู้รับสัญญาสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง ขณะเดียวกันยังจะร่วมประมูลโครงการสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางกะปิ-มีนบุรี เงินลงทุน 115,054 ล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี”
เขา เล่าต่อว่า เมื่อเรานำเหตุผลทั้งหมดมานั่งหารือร่วมกัน ทำให้พบทางออกที่ว่า หากอยากทำให้ BECL และ BMCL แข็งแกร่งมากกว่านี้ ทั้งสองบริษัทต้อง Synergy (ประสานกำลัง) กัน และเมื่อทำงานร่วมกัน ภายใต้บริษัทแห่งใหม่ CK เชื่อมั่นว่า เขาจะกลายเป็นบริษัทที่มีความครบวงจรในด้านสาธารณูปโภค
ทั้งนี้ CK จะถือหุ้นในบริษัทใหม่ประมาณ 30% ตอนนี้เริ่มมีเหล่าพันธมิตรในประเทศหลายรายแสดงความสนใจอยากเข้ามาถือหุ้นในบริษัทแห่งนี้ เพราะอนาคตของบริษัทใหม่จะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดี ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
“BECL นำเงินไปซื้ออนาคต ส่วน BMCL นำอนาคตมาแลกเงิน ต่างคนต่างมีข้อดี หากเราไม่ทำอะไรเลยเท่ากับว่า เราทิ้งของดี โดยไม่ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที”
เมื่อถามถึงประโยชน์จากการควบรวมกิจการ?
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ แจกแจงว่า ข้อ 1.จะเกิดการขยายตัวและต่อยอดธุรกิจ ทั้งระบบทางด่วน และระบบรถไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ยกตัวอย่าง เช่น เดิมเราขายโฆษณาเฉพาะบนทางด่วน เมื่อรวมกันเป็นหนึ่ง เราสามารถขายโฆษณาบนรถไฟฟ้าได้ด้วย
ข้อ 2.ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของบริษัท ทั้งด้านการเงิน การดำเนินงาน และการแข่งขัน ข้อ 3.ช่วยเพิ่มโอกาสให้ BECL สามารถเข้าลงทุนในโครงการขนส่งมวลชน และเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินให้ BMCL เพื่อให้มีโอกาสเข้าลงทุนในโครงการใหม่ๆ ข้อ 4.เพิ่มโอกาสการลงทุนในโครงการต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ ข้อ 5.เสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัท
ส่วนประโยชน์ที่ บมจ.ช.การช่าง จะได้รับ คือ 1.สามารถบันทึกกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในเครือได้มากขึ้น โดยในช่วงไตรมาส 2 ปี 2558 CK จะบันทึกกำไรจากการควบวมกิจการประมาณ 1,500 ล้านบาท ข้อ 2.ลดภาระการลงทุน ข้อ 3.มีพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งที่เป็นทั้งผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชนและคมนาคม เป็นต้น
ถามว่าความคิดขายหุ้น ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด หรือ XPCL ผู้ประกอบกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ขนาดกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ ในสัดส่วน 30% ให้บมจ.ซีเค พาวเวอร์ หรือ CKP ซึ่ง CK ถือหุ้นอยู่ 31.78% มาจากไหน? “พงษ์สฤษดิ์” ตอบว่า เป็นความตั้งใจของ “ปลิว” เนื่องจากวันนี้งานก่อสร้างโครงการไซยะบุรี ถือว่าผ่านพ้นวิกฤติไปแล้ว ฉะนั้นถือเป็นช่วงเหมาะสมที่จะขายออก ต่อไป CK จะไม่ต้องมาแบกรับภาระเรื่องการลงทุนอีก ขณะที่ CKP จะมีโครงการไซยะบุรีเป็นหัวใจสำคัญในการทำธุรกิจ
ดร.สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีเค พาวเวอร์ หรือ CKP พูดเสริมว่า การมีโครงการไซยะบุรี ถือเป็นผลดีต่อบริษัท เพราะจะช่วยเสริมรายได้ที่มากขึ้นในอนาคต เมื่อถามถึงแผนงานในอนาคตของ CKP เธอตอบว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาซื้อกิจการ (M&A) ในธุรกิจพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้ประมาณ 1 แห่ง ส่วนการเข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าประเทศพม่าคงได้ข้อสรุปภายในปีนี้เช่นกัน หลังจากศึกษามานาน 2-3 ปี
ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างเตรียมยื่นขอใบอนุญาตลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) จำนวน 8 โรง กำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุนประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อโรง
ด้าน “ประเสริฐ มริตตะพร” กรรมการและรองผู้จัดการอาวุโส กลุ่มงานบริหาร CK เล่าภาพรวมธุรกิจของ CK ว่า ปีนี้อาจมีรายได้ประมาณ 34,000 ล้านบาท หรือขยายตัวไม่ต่ำ กว่า 10% เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีรายได้จำนวน 33,000 ล้านบาท ส่วนในแง่ของกำไรขั้นต้นจะพยายามรักษาไว้ระดับ 10%
ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่างานในมือ (backlog) ประมาณ 104,000 ล้านบาท โดยคาดว่าปีนี้จะได้รับงานใหม่อีกประมาณ 25-30 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าโครงการภาครัฐที่จะเปิดประมูลไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท
เมื่อถามถึงกลุยทธ์การลงทุนใน “ธุรกิจก่อสร้าง” เขาตอบว่า ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ “ปลิว” ได้มอบนโยบาย 6 ข้อ ต่อทีมงาน ข้อแรก จงเลือกลงทุนโครงการที่เป็นประโยชน์ ถ้าโครงการใดไม่มีความชัดเจน บริษัทต้องไม่เข้าไปร่วมประมูล ขณะที่ผลตอบแทนจากการดำเนินงานต้องเหมาะสมด้วย
ข้อ 2.จงบริหารโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการส่งมอบงานตรงเวลาและคุณภาพงานต้องได้มาตรฐาน ข้อ 3.จงบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความยั่งยืนของผลประกอบการ ข้อ 4.จงพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถด้านทรัพยากรบุคคล ข้อ 5.จงนำเทคโนโลยีและวิธีการก่อสร้างที่ทันสมัยมาใช้กับองค์กร เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธภาพ ข้อสุดท้าย จงมีพันธมิตรทางการค้า การลงทุน และการเงิน ที่มีความแข็งแกร่ง
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนใน “ธุรกิจการลงทุนและพัฒนาโครงการสาธารณูปโภค” ข้อแรก จงเลือกลงทุนในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ สังคม และให้ผลตอบแทนอย่างเหมาะสม ข้อ 2.จงเลือกลงทุนในโครงการที่มีความเชี่ยวชาญและสอดคล้องกับนโยบายของบริษัท ข้อ 3.จงใช้ศักยภาพของบริษัทร่วมและบริษัทในกลุ่ม มาทำให้เกิดความสำเร็จในการดำเนินงาน ข้อ 4.จงมุ่งพัฒนาและขยายขอบเขตการดำเนินงานในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
จากการปรับโครงสร้างธุรกิจของกลุ่ม ช.การช่าง จะทำให้บริษัทมีรายได้ 2 ทาง โดยรายได้หลักยังคงมาจากงานก่อสร้างและบริหารโครงการสัดส่วน 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือมาจากเงินปันผลและกำไรจากการลงทุน
“ในปี 2558 บริษัทอาจใข้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านาบท ส่วนหนึ่งจะนำไปลงทุนในบริษัทใหม่ ที่เหลือจะนำไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน CKP และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน”
ที่มา : BIZWEEK ONLINE
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น