ชื่อ:  news_img_632158_1.jpg
ครั้ง: 13561
ขนาด:  32.1 กิโลไบต์


วิสัยทัศน์'ว่าที่'ผู้นำคนใหม่'รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส' ลูกหม้อผู้ถูกบ่มเพาะนับ 10 ปี'แม่ทัพ'องค์กร100ปีเอสซีจี

หลายปีที่ผ่านมา เขาเป็นบุคคลหนึ่งที่อยู่ในสปอตไลต์มาตลอด นั่นเพราะถูกวางให้เป็นกระบี่มือหนึ่ง ที่จะมาสืบทอดตำแหน่ง "ผู้นำองค์กร" ต่อจาก "กานต์ ตระกูลฮุน" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี หลังถูกบ่มเพาะมาเป็นเวลาร่วม 10 ปี ภายใต้แผนสืบทอดผู้นำ หรือ Succession plan สำหรับ "รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในธุรกิจหลัก (core business) ของเอสซีจี ก่อนจะมานั่งตำแหน่งนี้ เขายังถูกเคี่ยวกรำมาแล้วในหลายสายงาน

เนื่องในโอกาสที่เอสซีจีเปเปอร์ ประกาศแผนลงทุนกว่า 5,000 ล้านบาท เพื่อขยายสายการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ (กระดาษคราฟท์) พร้อมอวดโฉมเครื่องจักรใหม่ PM16 เพื่อเพิ่มกำลังผลิตกระดาษคราฟท์อีก 3.2 แสนตันต่อปี

พลันที่รุ่งโรจน์ปรากฏตัว ก็มีคำถามถึงการเติบโตในหน้าที่การงาน กับตำแหน่งผู้นำเอสซีจีคนใหม่ เจ้าตัวหัวเราะก่อนจะตอบว่า...

"แก่ขนาดนี้ ไม่โตขึ้นแล้ว ไว้รอปีหน้า (ปีรับตำแหน่ง) ค่อยพูดละกัน" เขาถ่อมตัว

รุ่งโรจน์ถือว่าเป็นลูกหม้อที่ร่วมงานกับองค์กรยักษ์อายุร่วม 102 ปี (ก่อตั้งเมื่อปี 2456) อย่างเอสซีจี มานานกว่า 2 ทศวรรษ และดูเหมือนจะเป็นผู้ที่ได้รับการเพาะบ่มก่อนก้าวไปเป็นแม่ทัพเป็นเวลานานที่สุดก็ว่าได้ แต่กับภารกิจการเป็นผู้นำทัพธุรกิจกระดาษ ก่อนทิ้งทวนตำแหน่งนี้ อะไรที่เขาอยากเห็น

"ก็นี่ไง..อยากเห็นเอสซีจี เปเปอร์ เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ครบวงจร และเป็นผู้นำอาเซียน แต่บางทีอาเซียนก็อาจจะเล็กเกินไปแล้ว" รุ่งโรจน์ เผย สะท้อนการไม่จำกัดเป้าหมายองค์กร เฉพาะการเป็นเจ้าตลาดอาเซียนอีกต่อไปในยุคหน้าของเขา

4 ปีกับการขับเคลื่อนเอสซีจี เปเปอร์ มีอะไรที่ทำได้ตามเป้าหมายบ้าง ?

"ผมยังไม่นึกเลย" รุ่งโรจน์ เผย ก่อนจะบอกว่า ที่แน่ๆ ยังมีสิ่งที่อยากทำอีกมาก โดยเฉพาะเรื่องของ "บุคลากร" ที่จะต้องให้ความสำคัญกับการ "พัฒนาคน" แม้ว่าที่ผ่านมาธุรกิจจะได้รับความร่วมไม้ร่วมมือกันอย่างดีจากบุคลากร ผลักดันการเติบโตของธุรกิจและองค์กรไประดับหนึ่งแล้ว แต่เรื่องนี้หยุดนิ่งไม่ได้ ยังต้องทำต่อไปเรื่อยๆ "รุ่งโรจน์" เผย

"ในเรื่องของการพัฒนาธุรกิจ ผมว่าทีมงานของเราทุกคนทำได้ค่อนข้างดี ตัวผมเป็นแค่ส่วนประกอบเล็กๆ ในการให้กำลังใจพวกน้องๆ ที่ทำให้ธุรกิจเจริญก้าวหน้าได้ดีมากๆ ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง" ประโยคที่สะท้อนให้เห็นว่ารุ่งโรจน์ให้ความสำคัญกับ "ทุนมนุษย์" มากแค่ไหน

เช่นเดียวกับการขับเคลื่อนธุรกิจกระดาษท่ามกลางปัจจัยเปลี่ยน โดยเฉพาะ "กระดาษพิมพ์เขียน" ที่เติบโตลดลง ผลพวงมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้ผู้คนเลือกที่จะกดแป้นพิมพ์ มากกว่าขีดเขียนข้อความผ่านกระดาษ ขณะที่การเติบโตของอุตสาหกรรม ส่งผลให้ "ดีมานด์" การใช้กระดาษคราฟท์เพิ่มสูงขึ้น แต่ไม่ใช่แค่เอสซีจี เปเปอร์ เท่านั้น ที่เห็น "โอกาสทางการตลาด" แต่ผู้ผลิตรายอื่น ก็อ่านเกมขาดเช่นกัน จึงเฮโลมาแย่งเค้กในตลาดกระดาษคราฟท์

เป็นเหตุให้การทำธุรกิจปีนี้ท้าทายอย่างยิ่ง !!

"ปีนี้สิ่งที่ท้าทายสำหรับการทำธุรกิจ ต้องยอมรับว่าเป็นการแข่งขันที่ดุเดือด" เขาย้ำ

ดังนั้นสิ่งที่เอสซีจี เปเปอร์จะต้องทำ คือหาทาง "ฉีกตัว" ออกไปให้ได้ เพื่อหลีกหนีสงครามราคาในน่านน้ำทะเลเลือด

"การแข่งขันเรื่องราคาไม่ใช่เรื่องที่ดีหรอก ลูกค้าได้อะไร ลูกค้าอาจจะได้ของถูกลง แต่ว่าจะเอาของถูกหรือจะเอาของดี ถูกไหม" รุ่งโรจน์ทิ้งประโยคปลายเปิด

แต่ถ้าจะเอาของถูกและดีล่ะ ?! เขาตอบทันทีว่า ดีและถูกก็เป็นไปได้นะ เพราะตัวเขาก็มองการผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษเพื่อใช้กับสินค้าประเภทอาหาร ทำให้ต้องการวัตถุดิบที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง เพื่อทำให้ลูกค้าพึงพอใจ

"นี่คือเซ็กเมนท์ที่เราจะทำ"

นอกจากนี้ วิธีเลี่ยงสงครามราคา เอสซีจี เปเปอร์ ยังมุ่งผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูง (HVA : High Value Added Product) เพื่อเพิ่มแต้มต่อทางการค้า

ทว่า.. "แม้สินค้า HVA จะทำให้มีแต้มต่อ แต่ว่าแต้มต่อจะหายไปเร็ว ถ้าหยุดดำเนินการ เพราะคู่แข่งจะหายใจรดต้นคอ" เขาบอก

ปีนี้เอสซีจีเปเปอร์ จึงเทงบเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) สินค้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ใช้ไปราว 230 ล้านบาท

เขายังเล่าถึงแผนธุรกิจกระดาษในปีนี้ว่า ยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยงบประมาณจะใช้อยู่ระหว่าง 1.4-1.5 หมื่นล้าน เป็นงบประมาณที่ใช้ต่อเนื่องสำหรับขยายธุรกิจกระดาษ ไม่นับรวมงบต่างหากเพื่อซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) ที่เจ้าตัวบอกว่าปีนี้น่าจะมีให้เห็นอีกหลายดีล เพราะหลายประเทศในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และพม่า "มีศักยภาพ" อยู่ไม่น้อย

นี่เป็นการปูทางย้ำภาพ "ยักษ์ใหญ่" ธุรกิจกระดาษบรรจุภัณฑ์ระดับอาเซียน

เขายังบอกด้วยว่า การให้น้ำหนักกับการลงทุนในเซ็กเมนท์กระดาษคราฟท์ ส่วนหนึ่งเพื่อทดแทนการตลาดกระดาษพิมพ์เขียน ที่ยังเป็นขาลง โดยปีที่ผ่านมาตลาดติดลบไปถึง 10% ปีนี้ก็ยังเห็นการหดตัวต่อเนื่อง แต่ก็ไม่กระเทือนรายได้บริษัทนัก เพราะเมื่อพิจารณาภาพรวมการเติบโตก็อยู่ที่ระดับ 10% (9เดือน) ไล่เลี่ยเป้าหมายที่ตั้งไว้ตอนต้นปีที่จะโต 5-10%

นี่เป็นบทพิสูจน์ฝีมือของว่าที่ "แม่ทัพใหญ่" เอสซีจี


--//--

ล้อมกรอบ

"ครบเครื่อง"เรื่องปูนใหญ่

วิชาญ จิตร์ภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด ในเครือเอสซีจี เปเปอร์ หนึ่งในลูกหม้อเอสซีจี ซึ่งทำงานมาจะครบ 27 ขวบปีในวันที่ 1 เม.ย. 2558 ยาหอมความสามารถของรุ่งโรจน์ว่า เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ มีองค์ประกอบของการนำ (Lead) คนในองค์กรได้

เรียกว่า "ครบเครื่อง"

เขาบอกว่า กระบวนการคัดเลือกใครสักคนให้เป็น "แม่ทัพปูนใหญ่" จะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเด่นด้าน Hard side (คนเก่ง) และ Soft side (คนดี)

Hard side คือ การครบเครื่องด้านความรู้ ความสามารถในการบริหารงาน

"การศึกษา คุณรุ่งโรจน์เก่ง" ไม่ใช่แค่บจากสถาบันการศึกษาระดับโลกอย่าง Harvard Business School มาการันตีคุณภาพคับแก้วเท่านั้น

Soft side คือ การเป็น Leader (ผู้นำ) ที่สามารถ Lead (นำ) คนในองค์กรได้ เนื่องจากองค์กรเอสซีจี เป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่มาก จะทำอย่างไร เพื่อโน้มน้าวให้คน "เชื่อ" ได้ นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายที่ทุกคนจะทำได้

"ที่นี่ (เอสซีจี) เต็มไปด้วยคนเก่ง ในด้าน Hard side ไม่ต่างกันมาก คนเก่งเยอะแยะไปหมด แต่ด้าน Soft side การนำคน การมีคอนเนคชั่นต่างๆ กับบุคคลหลากหลายถือเป็นเรื่องสำคัญมาก" เขาเล่า

นอกจากนี้ รุ่งโรจน์ ยังมี DNA เอสซีจี ทั้งอุดมการณ์ 'Four Core Value' ที่เป็นธรรมเนียมถือปฏิบัติของพนักงานทุกระดับ

ได้แก่ 1.ตั้งมั่นในความเป็นธรรม (Adherence to Fairness)

2.มุ่งมั่นในความเป็นเลิศ (Dedication to Excellence)

3.เชื่อมั่นในคุณค่าของคน (Believe in the Value of the Individual)

และ 4. ถือมั่นในความรับผิดชอบต่อสังคม (Concern for Social Responsibility) ลูกหม้ออย่างวิชาญท่องให้ฟังอย่างแม่นยำ

ขณะที่ลักษณะการทำงานของคนเอสซีจี (SCG People) เป็นแบบ Open and Challenge ก็มีทั้ง "เปิดใจรับฟัง" และ "ท้าทาย" การขับเคลื่อนธุรกิจให้ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี


"คุณรุ่งโรจน์มีครบทั้ง Four Core Value และเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ มองการณ์ไกล การทำงาน สั่งงาน แค่มองตากันก็จะต้องรู้ว่าควรทำอะไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ไม่เสียเวลามานั่งอธิบายกันครึ่งวัน"