วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557

JAS ยิ้มศาลสั่งยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวของ TT&T ชี้เห็นว่าก.ล.ต.ยังไม่อนุมัติตั้งกองทุน IFF ทำให้ไม่มีเหตุน่าเชื่อว่าจะนำเอาหุ้นของ ACU ซึ่งถืออยู่ใน TTT BB จดทะเบียนจำนำกับกองทุนฯ ลุ้นต่อก.ล.ต.จะอนุมัติตั้งกองทุนฯหรือไม่ ราคาหุ้นพุ่ง 8% วอลุ่มเทรดสนั่น 5,939.15 ล้านบาท

ลุ้นก.ล.ต.อนุมัติตั้ง IFF เทรดสนั่น 5 พันล้าน
ข่าวหน้าหนึ่ง วันพุธที่ 10 กันยายน 2557
ผู้เข้าชม : 9 คน
JAS ยิ้มศาลสั่งยกคำขอคุ้มครองชั่วคราวของ TT&T ชี้เห็นว่าก.ล.ต.ยังไม่อนุมัติตั้งกองทุน IFF ทำให้ไม่มีเหตุน่าเชื่อว่าจะนำเอาหุ้นของ ACU ซึ่งถืออยู่ใน TTT BB จดทะเบียนจำนำกับกองทุนฯ ลุ้นต่อก.ล.ต.จะอนุมัติตั้งกองทุนฯหรือไม่ ราคาหุ้นพุ่ง 8% วอลุ่มเทรดสนั่น 5,939.15 ล้านบาท


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 9 ก.ย. 2557 ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดฟังคำสั่งในคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว พ.882/2557 ลงวันที่ 17 มิ.ย. 2557 กรณี บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) หรือ TT&T ได้ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามไม่ให้บริษัท อคิวเมนท์ จำกัด หรือ ACU ซึ่งบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ถือหุ้น 100% ทำการจำหน่าย จ่าย โอน จำนำ หรือก่อให้เกิดภาระผูกพันใดๆ ในหุ้นที่ ACU ถืออยู่ใน ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำนวน 867,994,799 หุ้น และให้นำใบหุ้นจำนวนดังกล่าวมาวางไว้ต่อศาลระหว่างพิจารณาคดี และจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดและห้ามไม่ให้ ACU ลงมติใดๆ เกี่ยวกับการจำหน่าย จ่าย โอน หรือก่อให้เกิดภาระผูกพันในทรัพย์สินของบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTT BB

โดยทางฝ่ายโจทก์ได้ส่งทนายเข้าร่วมรับฟังคำสั่งศาลในครั้งนี้ ขณะที่ทางฝ่ายจำเลยไม่ได้ส่งทนายเข้ามารับฟังคำสั่งดังกล่าว แต่ได้ส่งนายวัชระ สง่าศิลป์ ตัวแทนจากบริษัท วีระวงค์, ชินวัฒน์ และเพียงพนอ จำกัด ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เข้ามารับฟังคำสั่งของศาลแทน นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนจำนวนประมาณ 20 คนเข้าร่วมรับฟังคำสั่งดังกล่าว

นายธนา พิทยะเวสด์สุนทร ผู้พิพากษานั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งว่า ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวของ TT&T เนื่องจากการทำนิติกรรม การขายทรัพย์สิน การเช่าทรัพย์สิน การจำนำหุ้น จะต้องมีการอนุมัติคำขอจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดทรัพย์ (ก.ล.ต.) เสียก่อนในเบื้องต้น ซึ่งในการพิจารณาของ ก.ล.ต.ก็ไม่ปรากฏว่าจะมีการพิจารณานานเท่าใด แล้วเสร็จเมื่อใด และก็ยังไม่เป็นการแน่นอนว่า ก.ล.ต.จะอนุมัติคำขอให้มีการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund) สำหรับธุรกิจบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตหรือไม่

ดังนั้นการนำเอาหุ้นของ ACU ซึ่งถืออยู่ใน TTT BB จดทะเบียนจำนำกับกองทุนรวมฯ ย่อยยังไม่อาจเกิดขึ้น หรือมีขึ้นได้ทันทีทันใด หรือภายในระยะเวลาอันใกล้ ประกอบกับตัวแทนฝ่ายจำเลยได้เบิกความยืนยันว่าในส่วนของการนำหุ้นของ ACU ซึ่งถืออยู่ใน TTT BB จดทะเบียนจำนำกับกองทุนรวมฯ นั้น เงื่อนไขดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างตกลงเจรจา ซึ่งคาดว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขดังกล่าว ด้วยการยกเว้นในการนำหุ้นของ ACU ซึ่งถืออยู่ใน TTT BB จดทะเบียนจำนำกับกองทุนรวมฯ

ทำให้ไม่มีเหตุน่าเชื่อว่าจะนำเอาหุ้นของ ACU ซึ่งถืออยู่ใน TTT BB จดทะเบียนจำนำกับกองทุนรวมฯ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อ TT&T เมื่อ TT&T ชนะคดีตามคำพิพากษา จึงไม่มีเหตุผลสมควรให้มีคำสั่งห้ามไม่ให้ ACU ทำการจำหน่าย จ่าย โอน จำนำ หรือก่อให้เกิดภาระผูกพันใดๆ ในหุ้นที่ ACU ถืออยู่ใน ทริปเปิลที บรอดแบนด์ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาคดีที่ TT&T ยื่นฟ้อง ACU ให้ขายหุ้น 70% ใน TTTBB ให้ผู้ถือหุ้น TT&T

นายวัชระ สง่าศิลป์ ตัวแทนจากบริษัท วีระวงค์, ชินวัฒน์ และเพียงพะนอ จำกัด ที่ปรึกษากฎหมายของ JAS กล่าวว่า ศาลมีคำสั่งยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราวของ TT&T เนื่องจากเหตุในการอนุมัติจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ยังไม่เกิดแต่อย่างใด ดังนั้นจึงยังไม่มีเหตุให้เชื่อว่าจะนำสินทรัพย์ไปทำการจำหน่าย จ่าย โอน จำนำ หรือก่อให้เกิดภาระผูกพันใดๆ ในหุ้นที่ ACU ถืออยู่ใน TTT BB ทั้งนี้จะนำคำสั่งยกคำร้องขอคุ้มครองดังกล่าวไปปรึกษากับทางบริษัทต่อไป

ด้านทนายจาก TT&T กล่าวว่า ศาลได้พิจาณายกคำร้องขอคุ้มครอง เนื่องจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ได้รับการอนุมัติจัดตั้ง เหตุการณ์จึงยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นหรือยังไม่เกิดขึ้นในทันที หรือในระยะเวลาอันใกล้ดังนั้นยังไม่เป็นเหตุให้ต้องคุ้มครอง

“ศาลสั่งยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราว เนื่องจากยังไม่มีการอนุมัติตั้งกองทุนรวมฯ จาก ก.ล.ต. ซึ่งระยะเวลาไกลเกินไป ทำให้ไม่มีเหตุต้องคุ้มครองประโยชน์ แต่ถ้ามีเหตุที่ ก.ล.ต.จะอนุมัติตั้งกองทุนรวมฯ ใกล้ขึ้นมา เราก็ขอคุ้มครองชั่วคราวได้อีก ขึ้นอยู่กับผู้บริหารจะยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ ส่วนคดีที่ TT&T ยื่นฟ้อง ACU ให้ ACU ขายหุ้น 70% ใน บริษัท TTT BB ให้ผู้ถือหุ้น TT&T นั้นศาลนัดสืบพยานในเดือน มี.ค. 2558” ทนายจาก TT&T กล่าว

นางสาวมินทรา รัตยาภาส รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคเคเทรด จำกัด กล่าวว่า ศาลสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราว ทาง JAS ก็สามารถดำเนินการในการจัดตั้งกองทุนฯ ได้ อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะพิจารณา เนื่องจากยังคงมีความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่ขายเข้ากองทุนฯ อยู่ ขณะเดียวกันมองว่าแม้จะ ก.ล.ต.จะอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานก็จะมีปัญหาในช่วงที่ไปโรดโชว์ ซึ่ง JAS จะสามารถตอบคำถามของนักลงทุนที่ยังมีความกังวลกับคดีนี้ได้หรือไม่ ทำให้มองว่าอาจจะมีดีมานด์ไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม แม้ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่คุ้มครองชั่วคราวในวันนี้ แต่ศาลยังมีการพิจารณาคดีที่ TT&T ยื่นฟ้อง ACU ต่อไป โดยประเมินผลกระทบกรณี TT&T ยื่นฟ้องร้อง เป็น 2 กรณี คือ 1.ผู้ถือหุ้น TT&T ได้สิทธิถือหุ้นใน TTT BB ราว 70 ล้านหุ้น หรือ 70% ของทุนจดทะเบียน 110 ล้านบาท ก่อนการเพิ่มทุนปี 2552 ทำให้ ACU จะถือหุ้นลดลงเหลือ 93.6% จากปัจจุบันถือหุ้น 99.2% ใน TTT BB รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ JAS โดยทำให้กำไรสุทธิลดลง 10% ตามสัดส่วนถือหุ้นที่ลดลง และกระทบมูลค่าเหมาะสม 1.00 บาท

และ 2.ผู้ถือหุ้น TT&T ได้สิทธิถือหุ้นใน TTT BB ราว 870 ล้านหุ้น หรือ 70% ของทุนจดทะเบียน 1,250 ล้านบาท เพิ่มทุนปี 2553 ทำให้ ACU จะถือหุ้นลดลงเหลือ 30% จากปัจจุบันถือหุ้น 99.2% ใน TTT BB รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของ JAS โดยทำให้กำไรสุทธิลดลง 60% และกระทบมูลค่าเหมาะสม 6.50 บาท ทั้งนี้มองว่า กรณี 2 มีความเป็นไปได้น้อย ขณะที่ JAS ยืนยันการเพิ่มทุนของ TTT BB ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย และมีหลักฐานครบถ้วนเพื่อพิสูจน์ในชั้นศาล ทั้งนี้ ยังคงประเมินผลกระทบจาก TT&T ฟ้องทั้ง 2 กรณีโดยเฉลี่ยผลกระทบกรณีละ 50% คิดเป็นมูลค่า 3.75 บาท/หุ้น จากมูลค่าเหมาะสมปี 2558 ที่ 11.90 บาท

ขณะที่ความเคลื่อนไหวราคาหุ้น JAS วานนี้ (9 ก.ย. 57) วิ่งทะยานรับข่าวศาลคำร้องคุ้มครองชั่วคราวของ TT&T โดยพุ่งขึ้น 8.21% ปิดตลาดที่ราคา 7.25 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.55 บาท มูลค่าการซื้อขาย 5,939.15 ล้านบาท

posted from Bloggeroid

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น