วันจันทร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557

บินไทยเผชิญศึกหนักสู่วิกฤติ นักวิเคราะห์ฟันธงปีนี้ขาดทุนหนัก-แนะปฏิรูปองค์กรลดขาดทุน

บินไทยเผชิญศึกหนักสู่วิกฤติ นักวิเคราะห์ฟันธงปีนี้ขาดทุนหนัก-แนะปฏิรูปองค์กรลดขาดทุน

แกะรอยงบการเงินการบินไทย พบเริ่มเข้าสู่วิกฤติ เหตุผลการดำเนินงานขาดทุน จากปัญหาการเมืองแทรกแซง-องค์กรขัดแย้งหนักเผยมาร์เก็ตแคปที่เคยแตะแสนล้านบาท สิ้นปี 2556 เหลือเพียง 3 หมื่นล้าน ส่งผลขาดทุนกว่า1.2 หมื่นล้าน นักวิเคราะห์ประเมินปี 2557 ขาดทุนหนักกว่าปีที่ผ่านมา แนะปฏิรูปองค์กรลดขาดทุน ต้องลดต้นทุนพนักงาน-น้ำมัน

บริษัท การบินไทย (THAI) เป็นหนึ่งใน “เป้าหมาย” ที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีแผนจะปรับโครงสร้าง ตามแผนปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ผ่านมา การบินไทย มีผลการดำเนินงานที่ย่ำแย่ ฐานะทางการเงินอ่อนแอ แม้ว่าส่วนหนึ่งจะเกิดจากสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศ

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ประเมินรัฐวิสาหกิจในรายงานข้อมูลสำคัญของรัฐวิสาหกิจไทย ฉบับที่ 1/2557 โดยระบุว่าผลการดำเนินการอยู่ระดับ "วิกฤติ" และเสนอแนะว่าควรควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น แต่ต้องไม่กระทบต่อประสิทธิภาพในการให้บริการบนเครื่องบินและความปลอดภัยด้านการบิน รวมทั้งควรบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ขณะที่การประเมินเมื่อไตรมาส 3 ปี 2556 การประเมินอยู่ในระดับ "มีปัญหาบางเรื่อง" โดยมีข้อเสนอแนะว่าแม้จะมีการบริหารจัดการด้านความเสี่ยงในด้านความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมัน แต่ควรมีมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและไม่เกี่ยวกับธุรกิจหลักให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ควรเร่งปรับปรุงระบบการจำหน่ายตั๋วโดยสารเครื่องบินผ่านช่องทางต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ internet เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้โดยสารและเป็นการลดต้นทุนการจำหน่ายตั๋วโดยสาร โดยเฉพาะการขายตั๋วโดยสารผ่านเอเย่นต์

ทั้งนี้ การประเมินรัฐวิสาหกิจของ สคร. แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ ไม่มีปัญหา มีปัญหาบางเรื่อง ระมัดระวัง และ วิกฤติ ซึ่งจะเห็นว่าผลประเมินการบินไทยลดลงอย่างรวดเร็ว

แต่ต้องยอมรับว่าสาเหตุที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง เกิดการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง และฝ่ายบริหาร จนทำให้ประสิทธิภาพในการทำธุรกิจค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน

หากย้อนดูฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของบริษัทการบินไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในแต่ละรัฐบาลนับตั้งแต่รัฐบาลทักษิณ 1 จนมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ การบินไทยมีทั้งช่วงรุ่งโรจน์ และตกต่ำรุนแรง จากกำไร ในระดับหมื่นล้านบาท จนขาดทุนสูงสุดกว่า 2 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2551

รัฐบาลทักษิณ(2544-2549) ผลการดำเนินงานของการบินไทย ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว จากระดับ 4.7 พันล้านบาท ปรับขึ้นอยู่ระดับมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ถึง 3 ปีติดต่อกัน (2545-2547) ขณะที่หนี้สินต่อทุน (ดีอี) ลดลงจากระดับ 12.79 เท่าในปี 2544 มาอยู่ระดับ 2.92 ก่อนที่กำไรจะปรับลดลงมาอยู่ในระดับ 4.8 พันล้านบาทอีกครั้งในปี 2548 เพราะว่าเป็นปีที่มีการชุมนุมประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลขิงแก่ (2549-2551) ปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เกิดรัฐประหาร ระหว่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปต่างประเทศ มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในปีนั้นผลการดำเนินงานของการบินไทยฟื้นตัว มีกำไรเพิ่มขึ้น 89% จาก 4.8 พันล้านบาท เพิ่มเป็น 9.2 พันล้านบาท อัตราหนี้สินต่อทุนอยู่ในระดับเดิม คือ 2.92 เท่า

ขาดทุนหนัก ปี 2551 กว่า 2 หมื่นล้าน

โดยปี 2550 ผลการดำเนินงานของ การบินไทย กลับเข้าสู่ช่วงย่ำแย่อีกครั้ง มีกำไรเพียง 1.83 พันล้านบาท ลดลงถึง 80% เพราะว่าเริ่มมีปัญหาการชุมนุมประท้วงภายในประเทศอีกครั้ง โดยกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ตามสถานที่ต่างๆ และเป็นจุดเริ่มต้นของ “เสื้อแดง”

รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ปี (2551) หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และพรรคพลังประชาชน หรือ เพื่อไทยเดิม ชนะการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง โดยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนถูกถอดจากตำแหน่งในปีเดียวกัน จากนั้นนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นมารับตำแหน่งแทน ปีนั้นนอกจากจะมีความวุ่นวายจากสถานการณ์การเมืองภายในประเทศแล้ว ยังเป็นปีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐครั้งใหญ่

มาร์เก็ตแคปหายไปกว่า 5 หมื่นล้าน

กลุ่มพันธมิตรฯ หรือ ม็อบเสื้อเหลือง ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งกระทบต่อธุรกิจการบินทั้งหมด นอกจากนี้ยังเป็นปีที่เกิดวิกฤติเศษฐกิจในสหรัฐครั้งใหญ่ หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้การบินไทยขาดทุนอย่างหนัก ถึง 2.13 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับราคาหุ้นที่ร่วงแรง ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) หายไปกว่า 5 หมื่นล้านบาท จากระดับ 6.66 หมื่นล้านบาท ลดลงเหลือ 1.31 หมื่นล้านบาท

รัฐบาลอภิสิทธิ์ (2551-2554) หลังจากการบินไทยขาดทุนอย่างหนัก ในปีต่อมา (2552) ผลการดำเนินงานเริ่มฟื้นตัว กลับมามีกำไรได้ในระดับ 7.43 พันล้านบาท ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนขั้วการเมือง จากรัฐบาลพรรคพลังประชาชน เป็นรัฐบาลประชาธิปัตย์ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

"ปิยสวัสดิ์" พลิกฟื้นกลับมาทำกำไร

ขณะเดียวกัน ก็มีการเปลี่ยนกรรมการผู้อำนวยการ หรือ ดีดีการบินไทย เป็น “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” โดยมี “อำพน กิตติอำพน “นั่งเป็นประธานบอร์ด

ในระหว่างที่รับตำแหน่ง “ปิยสวัสดิ์” ปรับโครงสร้างการบริหารงานภายในของการบินไทยอย่างหนัก เน้นการลดต้นทุน บริหารเชื้อเพลิง จนสามารถทำให้การบินไทยกลับมามีกำไรในระดับ 1 หมื่นล้านบาทได้อีกครั้งในปี 2553 โดยมีกำไรสุทธิ 1.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้นการบินไทยก็พุ่งกระฉูด ดันมาร์เก็ตแคปให้ขึ้นมาแตะระดับแสนล้านบาทเป็นครั้งแรก

ขาดทุนเช่นเคย ปี 2556 กว่า 1.2 หมื่นล้าน

รัฐบาลยิ่งลักษณ์ (2554-2557) หลังการเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยมี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างนั้นก็เริ่มมีกระแสกดดันการทำงานของ “ปิยสวัสดิ์” จนในที่สุดบอร์ดการบินไทยก็มีมติเลิกจ้าง “ปิยสวัสดิ์” โดยให้เหตุผลว่า ไม่สามารถสื่อสารกับบอร์ดได้ เพราะมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องการจัดหาเครื่องบินลำใหม่

ขณะที่ผลการดำเนินงานในปี 2554 การบินไทยขาดทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท แม้ผลการดำเนินงานจะพลิกฟื้นมามีกำไรได้ในปีต่อมา แต่ในปี 2556 ก็ยังขาดทุนสุทธิถึง 1.2 หมื่นล้านบาท สวนทางกับธุรกิจสายการบินอื่นๆ ที่มีผลการดำเนินงานเป็นบวก ส่งผลให้ราคาหุ้นร่วงแรง มาร์เก็ตแคปที่เคยแตะ 1 แสนล้านบาท ล่าสุด ณ สิ้นปี 2556 เหลือเพียง 3 หมื่นล้านบาทเท่านั้น

นักวิเคราะห์ฟันธงปีนี้ขาดทุนหนัก

สำหรับทิศทางหลังจากนี้ไป “เบญจพล สุทธิวนิช” นักวิเคราะห์กลุ่มสายการบิน บล.เคเคเทรด มองว่า ปี 2557 การบินไทยมีแนวโน้มที่จะขาดทุนมากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะต้องเจอศึก 2 ด้าน ทั้งปัญหาภายในองค์กร ฐานะทางการเงินที่อ่อนแอสะสมมาในอดีต โครงสร้างของธุรกิจที่มีจำนวนเครื่องบินเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้โดยสารกลับลดลง

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาจากสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่ไม่เอื้ออำนวย ทั้งจากปัญหาความขัดแย้งการเมืองในประเทศ การประกาศกฎอัยการศึกที่ยังไม่ได้ยกเลิก ทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วนยังไม่กล้าเดินทางมาไทย ขณะเดียวกันการแข่งขันในธุรกิจสายการบินระหว่างประเทศ มีแนวโน้มแข่งขันกันมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันทางด้านราคา จากจำนวนเครื่องบินที่เข้ามาในตลาดมากขึ้น

แนะปฏิรูปองค์กรลดขาดทุน

“การบินไทยมีต้นทุนสูงมาก เมื่อเทียบกับสายการบินอื่นๆ ด้วยฐานะทางการเงินที่อ่อนแอ หนี้สินสูง ขณะที่เงินสดมีน้อยมาก ทำให้แข่งขันกับสายการบินอื่นลำบาก ช่วงที่เกิดสงครามราคาแบบนี้ ส่วนการชะลอแผนการซื้อเครื่องบินใหม่ในอนาคตออกไปก่อน อาจจะทำให้ความกังวลเรื่องหนี้ลดลงบ้าง แต่การบินไทยก็จำเป็นที่ต้องมีการปฏิรูปองค์กร”

ส่วนนโยบายของ คสช. ที่จะปรับลด และยกเลิกสิทธิประโยชน์ของผู้บริหารนั้น ส่งผลดีด้านจิตวิทยาต่อราคาหุ้นของการบินไทยระยะสั้น เพราะเกิดความคาดหวังว่าจะมีการปรับลดต้นทุนให้กับองค์กรได้ แต่จะยังไม่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อผลประกอบการ เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการให้สิทธิประโยชน์ด้านบัตรโดยสารที่ให้กับกรรมการบริษัท คิดเป็น 3-4% ของค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน ขณะที่ค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน คิดเป็น 14% ของค่าใช้จ่ายรวม

ระบุต้องลดต้นทุนพนักงาน-น้ำมัน

แม้ว่าต้นทุนด้านพนักงานเป็นต้นทุนที่สูงมาก แต่ก็เป็นส่วนที่ปรับได้ลำบาก การบินไทยต้องบริหารให้เกิดประสิทธิภาพมากกว่านี้ คือ ต้นทุนด้านน้ำมัน สามารถบริหารให้เกิดประสิทธิภาพได้ แม้จะอยู่ในช่วงที่ราคาน้ำมันแพง มีตัวอย่างให้เห็นในช่วงที่ “ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์” เข้ามาบริหาร

นอกจากการลดต้นทุนแล้ว การบินไทยยังต้องมีแผนการเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาฐานะทางการเงินที่อ่อนแอ หากปล่อยให้ฐา

posted from Bloggeroid

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น