กทค.ร่นประมูลคลื่น900 เร็วขึ้น1เดือน12พ.ย.นี้ 4 ค่ายมือถือคุณสมบัติผ่านฉลุย! พร้อมลงสนาม
กทค.ร่นวันประมูลคลื่น 900 MHz เร็วขึ้นเป็น 12 พ.ย.นี้ จากเดิม 15 ธ.ค. 58 จ่อคิวต่อจากคลื่น 1800 MHZ ที่ประมูล 11 พ.ย. 58 มั่นใจคลอดใบอนุญาต 4G ได้ พ.ย. 58 และเริ่มเปิดให้บริการม.ค. 59 ล่าสุดประกาศ 4 เอกชนค่ายมือถือ “ADVANC-DTAC-TRUE-JAS” ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมประมูลได้
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กิจการโทรคมนาคม (กทค.) เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2558 ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมมีมติเลื่อนวันประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เร็วขึ้นเป็นวันที่ 12 พ.ย. 2558 จากเดิมกำหนดไว้วันที่ 15 ธ.ค. 2558 ต่อจากคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่จะจัดประมูลในวันที่ 11 พ.ย. 2558 พร้อมทั้งมีมติให้แจ้งการเลื่อนประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป
ทั้งนี้ จะสามารถออกใบอนุญาตทั้งคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ให้แล้วเสร็จภายในเดือนพ.ย. 2558 ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค เนื่องจากกสทช.จะสามารถนำเงินรายได้จากการประมูลคลื่นส่งรัฐได้เร็วขึ้น เบื้องต้นคาดว่าจะมีรายได้ส่งรัฐไม่ต่ำกว่า 73,379 ล้านบาท และคาดว่าผู้ประกอบการสามารถเปิดให้บริการทั้ง 2 คลื่นได้ภายในเดือนม.ค. 2559 รวมถึงมีเม็ดเงินของผู้ประกอบการลงทุนเพื่อให้บริการประมาณ 160,000 ล้านบาท จากการขยายโครงข่ายให้บริการ
ส่วนงบประมาณในการจัดประมูลทั้ง 2 คลื่นความถี่ กสทช.จะหักจากรายได้หลังการประมูลเสร็จสิ้น คาดว่าใช้งบประมาณดังกล่าวอยู่ที่ 110 ล้านบาท แบ่งเป็นการประชาสัมพันธ์จำนวน 64 ล้านบาท, การจ้างให้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ทำการสำรวจ วิเคราะห์ข้อมูลตลาดและหาราคาคลื่นจำนวน 30 ล้านบาท และการจัดจ้างบริษัท สหการประมูล จำกัด (มหาชน) หรือ AUCT ซึ่งดูแลจัดการประมูลจำนวน 16 ล้านบาท หลังจากหักค่าใช้จ่ายเรียบร้อยแล้ว กสทช.จะนำส่งรายได้ที่เกิดขึ้นให้เป็นรายได้แผ่นดินทันที
“คลื่น 900 MHz เปิดให้ยื่นซองประมูลในวันที่ 22 ต.ค.นี้ และจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลได้ไม่เกินวันที่ 7 พ.ย.นี้ และรับรองผลการประมูลได้ภายในวันที่ 19 พ.ย.นี้ ต่อจากรับรองผลประมูลคลื่น 1800 MHz วันที่ 18 พ.ย.นี้” นายฐากร กล่าว
สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz กำหนดให้มีการประมูลจำนวน 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz และกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดการจัดให้มีโครงข่ายเพื่อให้บริการอย่างน้อย 50% ภายใน 4 ปี และไม่น้อยกว่า 80% ภายใน 8 ปี เพื่อเป็นการประกันการใช้งานคลื่นความถี่และให้มีการกระจายบริการให้ทั่วถึงเพิ่มขึ้น
โดยราคาขั้นต่ำในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลมากกว่า 2 ราย จะอยู่ที่ 12,864 ล้านบาทต่อใบอนุญาต เคาะราคาเพิ่มครั้งละ 5% คิดเป็น 644 ล้านบาท ทำให้เคาะราคาครั้งแรกราคาประมูลจะอยู่ที่ 13,508 ล้านบาท ส่วนกรณีที่มีผู้เข้าร่วมน้อยกว่า 2 ราย ราคาเริ่มต้นประมูลจะอยู่ที่ 16,080 ล้านบาท เคาะราคาเพิ่มครั้งละ 2.5% คิดเป็น 322 ล้านบาท ทำให้เคาะราคาครั้งแรกราคาประมูลจะอยู่ที่ 16,402 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังกำหนดเงื่อนไขมาตรการทางสังคมและการคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อเปิดให้บริการแล้วอัตราค่าบริการทั่วไปจะต้องถูกลงกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของอัตราค่าบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1GHz ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทุกแพ็กเกจจากที่อัตราค่าบริการเสียงเฉลี่ยอยู่ที่ 0.69 บาทต่อนาที และอัตราค่าบริการดาต้าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.26 บาทต่อเมกะบิต และต้องมีแพ็กเกจพิเศษที่มีราคาถูกกว่าปกติสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส
ขณะเดียวกันที่ประชุมยังอนุมัติรายชื่อผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติการเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ตามที่คณะทำงานได้ทำการตรวจสอบแล้ว 4 ราย คือ ได้แก่ 1.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทในเครือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC 2.บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัทในเครือบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ DTAC 3.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัทในเครือบมจ.ทรู คอปอร์เรชั่น หรือ TRUE และ 4.บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด บริษัทในเครือบมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น