วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ตลาดหุ้นสวิง ขาใหญ่ 'ได้' หรือ 'เสีย'

ตลาดหุ้นสวิง ขาใหญ่ 'ได้' หรือ 'เสีย'

วัชระ แก้วสว่าง
ล้วงกระเป๋าตังค์ '4 ขาใหญ่ตลาดหุ้น' ใครกำไร ใครขาดทุน เมื่อดัชนี 6 เดือนแรก 'ผันผวนหนัก' 'เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง' ยืดอกยอมรับ เศรษฐกิจไทย
'ตลาดปราบเซียน' เซียนหุ้นรายใหญ่ นิยาม SET INDEX ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2558 เช่นนั้น
โดยในช่วงที่ผ่านมา หุ้นไทยออกอาการผันผวนอย่างหนัก ตามตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศที่ออกมาหดตัว เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงติดต่อกัน 4 เดือน ,ตัวเลขการ ลงทุนของภาคเอกชน และตัวเลขส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้พอร์ตหุ้นของนักลงทุนหลายราย 'ติดลบ' บางคนถึงขั้นเอ่ยปากว่า 'เล่นหุ้นช่วงนี้ไม่ง่ายเหมือนปีก่อนที่จิ้มตัวไหนก็ขึ้น' 
สอดคล้องกับคำบอกเล่าของ 'เสี่ยป๋อง-วัชระ แก้วสว่าง' เซียนหุ้นเทคนิคชื่อดัง ที่ว่า ตลาดหุ้นในช่วงเกือบ 6 เดือนที่ผ่านมา ออกแนว 'ขึ้นเร็วลงเร็ว' หลังภาวะเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ขณะที่ประชาชนยังคงขาดความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอย
เมื่อตลาดหุ้นผันผวนเช่นนี้ แน่นอนว่า พอร์ตหุ้นของผมย่อม'ติดลบ' ถือเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 8 ปี แม้จะเป็นการขาดทุนเพียงเล็กน้อย แต่ก็ทำให้ใจสั่นได้ ปัจจุบันตัดสินใจลดพอร์ตหุ้นเหลือเพียง 30% และหันมาถือเงินสดมากถึง 70%
'การถอยออกมาถือเงินสดมากขึ้น เพื่อหาจังหวะเข้าซื้ออีกครั้งในช่วงที่ราคาหุ้นลดลง ตอนนี้มันเป็นตลาดปราบเซียน อย่าเสี่ยงดีที่สุด' 
'เสี่ยป๋อง' ยอมรับว่า ผมยังพอมีหวังว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2558 ตลาดหุ้นไทยอาจเข้าสู่ 'แดนบวก' หากรัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินลงทุนเข้าสู่ระบบ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
ฉะนั้นในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวนเช่นนี้ นักลงทุนอาจใช้เวลาหาข้อมูลเกี่ยวกับ 'หุ้นรายตัว' หรือ 'หุ้นรายกลุ่ม' เก็บไว้ในสต็อกก่อน เพราะหุ้นบางตัวยังให้ผลตอบแทนที่ดี โดยเฉพาะกลุ่มรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ แม้วันนี้ราคาจะปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างสูงแล้ว แต่เมื่อไหร่ที่รัฐบาลลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน โอกาสที่ราคาหุ้นกลุ่มนี้จะไปต่อมีแน่นอน
ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ 'เสี่ยป๋อง' ถือหุ้นหลากหลายกลุ่ม เช่น หุ้น บางกอกแลนด์ หรือ BLAND จำนวน 220 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.06% หุ้น คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ หรือ CGD จำนวน 50 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.72% หุ้น ช.การช่าง หรือ CK จำนวน 8.8 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.52% 
หุ้น ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง หรือ ECL จำนวน 6.5 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.09% หุ้น เจ มาร์ท หรือ JMART จำนวน 10 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.91% เป็นต้น ล่าสุดยังได้เข้าไปซื้อ ซิงเกอร์ ประเทศไทย หรือ SINGER ราคาหุ้นละ 14 บาท จำนวน 3 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.11% ซึ่งเป็นล็อตเดียวกับที่บมจ.เจมาร์ท เข้าซื้อจำนวน 24.99%
'ซัน-กระทรวง จารุศิระ' เจ้าของแชมป์สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ตลาดหุ้นไทย 2013 ในฐานะ 'เทรดเดอร์มืออาชีพ' เล่าว่า แม้ตลาดหุ้นจะผันผวน แต่พอร์ตลงทุน 'บวกค่อนข้างมาก' โดยเฉพาะ 'พอร์ตลงทุนระยะยาว' ซึ่งได้กำไรแล้วประมาณ 200% ส่วน 'พอร์ตเก็งกำไร' ผลตอบแทนเป็นบวกเช่นกัน
ตลาดหุ้นเวลานี้ เหมาะสำหรับ 'การเล่นรอบ' มากกว่า 'ถือลงทุนระยะยาว' เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเช่นนี้ อาจทำให้นักลงทุนไม่สามารถทำกำไรได้ครั้งละ 200-300% เหมือนก่อน แต่หากใครไม่ถนัดแนวเล่นสั้น ก็ต้องพิจารณาพื้นฐานของหุ้นและราคาเข้าซื้อให้ดีๆ เพราะหุ้นบางตัวอาจใกล้เต็มมูลค่าแล้ว
สำหรับวิธีการ 'เล่นรอบ' คือ เล่นตามกระแสข่าวต่างๆ ผสมกับการดูเส้นเทคนิค เพื่อที่จะได้รู้จังหวะเข้าและออก เพราะจังหวะเข้าสำคัญเสมอ จะได้กำไรมากน้อยอยู่ที่ตรงนี้แต่นักลงทุนไม่ควรทุ่มเงินเล่นสั้นมากเกินไป ต้องกระจายความเสี่ยงด้วย
เขา แนะนำว่า สำหรับหุ้นที่ยังลงทุนได้ คือ 1.กลุ่มท่องเที่ยว หลังการท่องเที่ยวในเมืองไทยเริ่มฟื้นตัวแล้ว 2.กลุ่มขนส่ง เมื่อท่องเที่ยวดีขึ้น แน่นอนว่า หุ้นกลุ่มขนส่งย่อมได้รับอานิสงส์ด้วย เพราะจะมีคนเดินทางมาเมืองไทยมากขึ้น 3.กลุ่มโรงพยาบาล ธุรกิจดังกล่าวยังคงเติบโตต่อเนื่อง หลังหลายคนเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น
4.กลุ่มพลังงานทดแทน แม้หุ้นกลุ่มนี้จะมีค่า P/E ค่อนข้างสูง แต่ก็ยังลงทุนได้โดยเฉพาะบริษัทที่ได้ใบอนุญาตและมีการลงทุนในพลังงานทางเลือกแล้ว รวมถึงบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนโครงการของภาครัฐ อย่างไรก็ดีนักลงทุนต้องเลือกลงทุนเป็นรายตัว เน้นตัวปลอดภัย และพื้นฐานดี
'หุ้นไทยมีโอกาสแตะ 1,700 จุดได้ แต่อาจยืนอยู่ได้ไม่นาน เว้นแต่มีปัจจัยใหญ่สนับสนุน ส่วนตัวเชื่อว่า ดัชนีคงไม่ไหลลงไประดับต่ำอีกแล้ว เพราะเมื่อดูจากพฤติกรรมจะพบว่า เมื่อตลาดลง วันต่อมาจะมีแรงซื้อกลับทันที' 
'ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร' ผู้เผยแพร่แนวคิดการลงทุนแบบเน้นคุณค่าคนแรกในประเทศไทย หรือ วีไอ เล่าว่า ผลตอบแทนในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้อยู่ในระดับ 'บวกเล็กน้อย' ในสายตาของนักลงทุนระยะยาวมองว่า การที่ดัชนีผันผวนเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับนักลงทุนระยะสั้น หากเข้าออกไม่ถูกจังหวะโอกาสขาดทุน 20-30% มีสูงมาก
แม้ตลาดหุ้นในวันนี้จะทำกำไรไม่ง่ายเหมือนก่อน แต่การลงทุนในตลาดหุ้นยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ท่ามกลางดอกเบี้ยต่ำ ทองคำผันผวน ไม่ได้ให้ผลตอบแทนสูงเช่นนี้ ฉะนั้นหากนักลงทุนหาข้อมูลดีๆจะพบว่า มีหุ้นบางตัวที่ยังให้ผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ย 4-5% ถือเป็นระดับที่น่าพอใจ 
'ปีนี้ใครสามารถสร้างผลตอบแทนจากตลาดหุ้นได้ 10% ถือว่า เก่งมากแล้ว' 'อาจารย์นิเวศน์' มีความเชื่อเช่นนั้น 
'กูรูหุ้น' บอกว่า ตลาดหุ้นไทยที่ผันผวนเช่นนี้ นักลงทุนควรถือลงทุนระยะยาว 1 ปีขึ้นไป โดยเลือกซื้อหุ้นเป็นรายตัวในราคาต่ำๆ และเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดี ฉะนั้นแนะนำลงทุนหุ้นที่มีความแข็งแกร่ง ท่ามกลางเศรษฐกิจอ่อนแรง ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจโดดเด่น และมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง 
จากการสำรวจการครอบครองหุ้นของ 'ดร.นิเวศน์' พบว่า ในครึ่งปีแรกมีหุ้นในพอร์ตหลากหลายตัว เช่น หุ้น บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ หรือ BAFS จำนวน 4 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.78% หุ้น จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ EASTW จำนวน 10 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.60% หุ้น เอ็ม บี เค หรือ MBK จำนวน 10 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.53% หุ้น มูราโมโต้ อีเล็คตรอน หรือ METCO จำนวน 1.2 แสนหุ้น คิดเป็น 0.57% หุ้น ทุนธนชาต หรือ TCAP จำนวน 7 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.55% 
'นพ.บุญ วนาสิน' ประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี ในฐานะ 'นักลงทุนรุ่นลายคราม' พูดในทำนองเดียวกันว่า แม้ตลาดหุ้นจะไม่ดีเหมือนปีก่อน แต่พอร์ตลงทุนก็ 'บวกเล็กน้อย'เนื่องจากต้นปีที่ผ่านมา ได้กำไรค่อนข้างมากจากหุ้นหนึ่งตัว (ไม่ขอเปิดเผยชื่อ)
ปัจจุบันมูลค่าพอร์ตลงทุนเหลือเพียง 'หลักร้อยล้าน' หลังเมื่อ 6-7 เดือนก่อนมีการปรับลดพอร์ตหุ้นไทย เพราะต้องการโยกเงินไปลงทุนในตลาดต่างประเทศ ซึ่งเป็นการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ เนื่องจากให้ผลตอบแทนค่อนข้างดีประมาณ 6%
สาเหตุที่ลดพอร์ตลงทุนในหุ้นไทย เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจหลายๆตัวของเมืองไทยอยู่ในเกณฑ์ไม่ดีมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ประกอบกับค่า P/E ตลาดหุ้นไทยที่ระดับ 15-16 เท่า ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูง เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ฉะนั้นเมื่อตลาดหุ้นไทยยังไม่มีสิ่งจูงใจใหม่ ขณะที่ผลตอบแทนก็ไม่สูงมาก จึงตัดสินใจไปหาเงินนอกบ้าน 
'ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ในช่วงไตรมาส 3 ปี 2558 น่าจะออกมาไม่ดี ฉะนั้นนักลงทุนอาจต้องใช้ 'ความระมัดระวัง' ในการลงทุนอย่างมาก' 
'หมอบุญ' แนะนำการลงทุนว่า สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนต่างประเทศให้เลือกลงทุนในกองทุนต่างประเทศเป็นหลัก เนื่องจากเศรษฐกิจในหลายประเทศกำลังดีขึ้น โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงสิ้นปีนี้ ขณะที่สกุลเงินยูโรก็กำลังจะฟื้นตัว
สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ยอมรับว่า 'เป็นการลงทุนที่อาจทำกำไรได้ลำบาก' แต่กลุ่มที่ยังลงทุนได้ คือ 'กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง' เพราะหากภาครัฐมีการอนุมัติโครงการเมกะโปรเจคออกมา ไม่ว่าจะเป็นโครงการรถไฟฟ้า งานก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูม เฟส 2 หรือโครงการมอเตอร์เวย์ หุ้นกลุ่มนี้ไปแน่ นอกจากนั้นยังมี 'กลุ่มส่งออก' และ 'กลุ่มท่องเที่ยว' 
ส่วนหุ้น 'กลุ่มธนาคาร' ปีนี้ค่อนข้างลำบาก เพราะว่าผลประกอบการที่ประกาศออกมามี 'กำไรสุทธิลดลง' หลังกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว โดยภาคประชาชนยังไม่มีความมั่นใจว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวช่วงไหน ส่งผลให้ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย
                                                   'ดัชนี' มีลุ้นแตะ 1,700 จุด 
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) หรือ KGI วิเคราะห์ว่า ในช่วงระยะสั้น SET INDEX ยังมีโอกาสปรับตัวในลักษณะ 'ผันผวน' ในกรอบแคบๆ เนื่องจากนักลงทุนยังคงรอดูว่าจะมีเหตุการณ์ใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนตลาดหรือไม่
ขณะเดียวกันก็มีความเป็นไปได้ที่ดัชนีจะย่อตัวลงอีก เนื่องจากยังมีแรงกดดันจากแนวโน้มการปรับลดคาดการณ์รายได้ในปี 2558 ของบริษัทจดทะเบียนในบางกลุ่มอุตสาหกรรม และมีแนวโน้มว่า ทางการอาจปรับลด GDP ปี 2558 ลงอีก หลังตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรกออกมาต่ำกว่าคาด รวมทั้งแรงขายของนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง หลังค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ส่วนใหญ่ย้ายเงินลงทุนจากภูมิภาคเอเชียใต้ไปยังเอเชีเหนือ โดยเฉพาะจีนและญี่ปุ่น ซึ่งมีมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนและเริ่มเห็นเป็นรูปธรรม
สำหรับมูลค่าหุ้นไทยปัจจุบันนับว่า ยังอยู่ในระดับไม่แพงมากนัก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยภูมิภาค หลังจากที่ดัชนีได้มีการปรับตัวย่อฐานลงมาอยู่ที่ระดับ 1,510-1,520 จุด ปัจจุบันราคาหุ้นเมื่อเทียบกับกำไร (P/E) อยู่ที่ระดับ 15.07 เท่า เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยภูมิภาคที่ 15.22 เท่า และระดับอัตราการเติบโตของกำไร (EPS Growth) ที่ระดับ 32.57% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยภูมิภาคที่ 13.76% ทำให้มองว่า ตลาดหุ้นไทยยังเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าทยอยลงทุนในช่วงเวลานี้
'ดัชนีมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบ 1,450-1,650 จุด และมีโอกาสปรับตัวขึ้นทดสอบระดับ 1,700 จุด ได้ภายในปีนี้' 
นักวิเคราะห์ บอกว่า ครึ่งหลังของปีนี้ ดัชนียังคงมีแนวโน้มดีกว่าครึ่งปีแรก หลังเศรษฐกิจไทยน่าจะเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัว และอาจผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ขณะที่การท่องเที่ยวและส่งออกน่าจะดีขึ้น จากอานิสงส์ของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยมีมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์
ขณะเดียวกันยังมีแรงสนับสนุนจากปัจจัยต่างประเทศ เช่น แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และการผ่อนคลายนโยบายการเงินเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางหลักบางประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นและยูโรโซน
รวมทั้งการชะลอขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ก็ยังผลักดันให้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นมีความน่าสนใจอยู่ในช่วงนี้ ขณะที่ความกังวลเรื่องความสามารถในการชำระหนี้สาธารณะของกรีซ น่าจะเป็นเพียงแรงกดดันต่อ Sentiment ในบางจังหวะเท่านั้น
'ดัชนีจะมีแนวโน้มปรับตัวได้ดีขึ้นมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความรวดเร็วของการผลักดันโครงการต่างๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อดึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนภายในประเทศและต่างชาติ โดยเฉพาะการเร่งผลักดันในส่วนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ และการเร่งประมูล 4G ให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้' 

วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ชำแหละ "แอร์ไลน์ไทย" ธุรกิจสร้าง "เงิน" หรือ (แค่) สร้างภาพ?

ชำแหละ "แอร์ไลน์ไทย" ธุรกิจสร้าง "เงิน" หรือ (แค่) สร้างภาพ?

"ประชาชาติธุรกิจ" ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผลประกอบการสายการบินบางส่วนพบว่า ผู้ประกอบการสายการบินที่ได้รับอนุญาตให้บินอยู่ในขณะนี้ส่วนใหญ่มีกำไรอยู่ในระดับเล็กน้อยมาก มีเพียงแค่สายการบินโอเรียนท์ไทย บิสซิเนสแอร์ และเอ็มเจ็ทเท่านั้นที่ดูดี มีผลกำไรอยู่ในระดับ 50-60 ล้านบาทขึ้นไปถึงกว่า 100 ล้านบาท


แอร์ไลน์ใหญ่-กำไรแค่หยิบมือ

บริษัท โอเรียนท์ไทย แอร์ไลน์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2535 ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้นรวม 3 ราย ประกอบด้วย นางนิดา ตันติประสงค์ชัย 93.98% นางสาวมนัสนันท์ ตันติประสงค์ชัย 4% และนายขจิต หัพนานนท์ 2.02% ผลประกอบการปี 2556 กำไร 8.68 ล้านบาท ปี 2555 กำไร 11.76 ล้านบาท ปี 2554 กำไร 9.27 ล้านบาท ปี 2553 กำไร 173.58 ล้านบาท และปี 2552 กำไร 58.64 ล้านบาท บริษัท กานต์นิธิ เอวิเอชั่น จำกัด (กานต์แอร์) จดทะเบียนเมื่อ 10 มีนาคม 2551 ปัจจุบันทุนจดทะเบียนรวม 200 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้นรวม 3 ราย ประกอบด้วยนางอรสา แก้วประพาฬ 99.99% นายวิรัชสุคนธ์กิตติ 0.0001% และนายสมพร จิรวณิชโรจนกุล 0.0001% ผลการดำเนินงานปี 2556 กำไร 3.82 ล้านบาท ปี 2555 กำไร 9.99 แสนบาท ปี 2554 กำไร 3.57 ล้านบาท ปี 2553 กำไร 1.02 แสนบาท และปี 2552 กำไร 3.64 หมื่นบาท

นอกจากนี้ยังมีสายการบินอีกจำนวนมากที่ผลประกอบการไม่น่าจะยืนหยัดให้บริการมาถึงทุกวันนี้ได้ อาทิ บริษัท ไทย ฟลายอิ้งเซอร์วิส จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2521 ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นรวม 14 ราย โดยรายหลักประกอบด้วย นางศิริลักษณ์ ไม้ไทย 40% นายธีเดช ไม้ไทย 21.22% นางภคนงค์ สุทธสิทธิ์ 15% นายกฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา 7.523% นางสาวกิตติมา คุณะเกษม 6.1126% นายปิยะ ภิรมย์ภักดี 3.7616% บริษัท ศรีราชา เอวิเอชั่น จำกัด 3.76% บริษัท ขอบฟ้าสมุทรบริการ จำกัด 2.142% พลอากาศโทศิระ อิศรางกูร ณ อยุธยา 0.4% นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา 0.08%

ผลการดำเนินงานปี 2556 กำไร 3.42 ล้านบาท ปี 2555 กำไร 1.22 ล้านบาท ปี 2554 กำไร 1.81 ล้านบาท ปี 2553 กำไร 43.74 ล้านบาท และปี 2552 กำไร 3.78 ล้านบาท

บริษัท แอร์ อินเตอร์ ทรานสปอร์ต จำกัด จดทะเบียน 21 พฤษภาคม 2553 ทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ผู้ถือหุ้น 5 รายประกอบด้วย นาวสาววริษา เตนวงษ์ 43% นายทศพล วงศ์กิติกร 25% นายชัชชวลิต คูสมิทธิ์ 20% นายธนวัฒน์ อัมพุนันทน์ 8% และนายธานัท วรุณกุล 4%

ผลการดำเนินงานปี 2556 กำไร 9.23 หมื่นบาท ปี 2555 กำไร 5 พันบาท ปี 2554 กำไร 5 พันบาท และปี 2553 กำไร 1.83 หมื่นบาทบริษัท เอช เอส เอวิเอชั่น จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 1 ธันวาคม 2548 ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้นหลักประกอบด้วย นายสมยศ กระจ่างวงศ์ 25% นางสาวณัฐพร ปุญญทลังค์ 24% นางประภาพร ฐิตะฐาน 24% และนางสาววัชรี ประทีปเมธากุล 24% 

ผลการดำเนินงานปี 2556 กำไร 2.59 แสนบาท ปี 2555 กำไร 14.8 ล้านบาท ปี 2554 กำไร 10.72 ล้านบาท ปี 2553 กำไร 10.75 ล้านบาท และปี 2552 กำไร 5.9 ล้านบาท

บริษัท เอซี เอวิเอชั่น จำกัด จดทะเบียน 26 มีนาคม 2553 ทุนจดทะเบียน 44 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นประกอบด้วย นางปิยะมาศ ประสพบุญ49.77% นายยรรยง นิติสาโรจน์ 49.77% นายไชยาพร อิ่มเจริญกุล 0.45% ผลการดำเนินงานปี 2556 ขาดทุน 3.94 ล้านบาท ปี 2555 กำไร 7.37 ล้านบาท ปี 2554 กำไร 12.54 ล้านบาท ปี 2553 กำไร 10.63 ล้านบาท

บริษัท เค-ไมล์ แอร์ จำกัด จดทะเบียน 6 กันยายน 2547 ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้นไทย 2 ราย และสวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย ประกอบด้วย บริษัท สวนพลู นี จำกัด 55% ฟาร์นแอร์ สวิตเซอร์แลนด์เอจี 45% และนางภาวิณี มีนสุข 1 หุ้น (หุ้นละ 5 บาท) 

ผลการดำเนินงานปี 2556 กำไร 95.28 ล้านบาท ปี 2555 กำไร 17.42 ล้านบาท ปี 2554 กำไร 16.78 ล้านบาท ปี 2553 ขาดทุน 1.13 ล้านบาท ปี 2552 กำไร 26.56 ล้านบาท

"บิสซิเนสแอร์-เอ็มเจ็ท" รุ่ง

บริษัท บิสซิเนสแอร์ เซ็นเตอร์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 30 มกราคม 2540 ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 400 ล้านบาท ผู้ถือหุ้น 7 ราย ประกอบด้วย นางสาวนุชรีย์ พูลแก้ว43.15% นายอนุชา ตีวารี 25.5501% นายวชิร สิริสิงหล 11.5999% นายกริช สุธีรชัย 10% นางสาวแสงจันทร์ จันทร์ขัน 6.925% นางพรพรหม อุตตะมัง 1.775% และนายเจตพล คาร์น 1%

ผลการดำเนินงานปี 2556 กำไร 57.43 ล้านบาท ปี 2555 กำไร 53.01 ล้านบาท ปี 2554 กำไร 11.75 ล้านบาท ปี 2553 กำไร 8.83 ล้านบาท และปี 2552 กำไร 3.78 แสนบาท

บริษัท เอ็มเจ็ท จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2543 ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 150 ล้านบาท ผู้ถือหุ้น 6 ราย ประกอบด้วย บริษัท ไมเนอร์แอร์คราฟ โฮลดิ้ง จำกัด 49% นายวิลเลี่ยม เอ็ลล์วู้ด

ไฮเน็ต 25.4996% นางสาวนิชิต้า ซาห์ 8.5% นางสาวสมิหรา ซาห์ 8.5% เด็กชายอิสซาน ซาห์ 8.5% และนายสุพจน์ ทวีรัตน์0.0004%

ผลการดำเนินงานปี 2556 กำไร 77.7 ล้านบาท ปี 2555 กำไร 7.76 ล้านบาท ปี 2555 กำไร 92.04 ล้านบาท ปี 2553 กำไร 6.74 ล้านบาท และปี 2552 กำไร 59.82 ล้านบาท

บริษัท แอ็ดวานซ์ เอวิเอชั่น จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 8 ธันวาคม 2549 ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 375 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นมี 7 ราย ประกอบด้วย นายไชย ณ ศิลวันต์ 49.9185% บริษัท เอ็ม ไอ บี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 25% บริษัท ไอทาวน์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 24% นายทองสุข อุดมบุตร0.8147% พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ธีราฉัตร 0.2667% นายณพดล มหาพีราภรณ์ จำนวน 1 หุ้น (หุ้นละ 100 บาท) นางนพภาภรณ์มหาพีราภรณ์ 1 หุ้น นายไพรัช รัตนพิบูลย์1 หุ้น และนางสาวอาภาพร ศุภเวชปกรณ์1 หุ้น

ผลการดำเนินงานปี 2557 กำไร 20.80 ล้านบาท ปี 2556 กำไร 39.55 ล้านบาท ปี 2555 กำไร 9.03 ล้านบาท ปี 2554 กำไร 14.06 ล้านบาท และปี 2553 กำไร 18.51 ล้านบาท

จับตา "นกสกู๊ต-ไทย เอ็กซ์เพรส"

ในฟากสายการบินน้องใหม่อย่าง บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2556 ทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 1,500 ล้านบาท มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยจำนวน 5 ราย และสิงคโปร์ 1 ราย ประกอบด้วย บริษัท นกมั่งคั่ง จำกัด 4% สกู๊ต พีทีอี. แอลทีดี 49% นางสาวนิภสพร ดมฬีชาติ 1.1667% บริษัท เพื่อนน้ำมิตร จำกัด 0.3333% นายมณฑล วชิรกานต์ 0.25% และนายสุชาติ อังค์สุวรรณ 0.25% ผลดำเนินงานในปี 2556 ซึ่งเป็นปีแรกของการเปิดดำเนินธุรกิจ มีรายได้รวม 6.60 หมื่นบาท ขาดทุนสุทธิ 8.13 หมื่นบาทบริษัท ไทย เอ็กซ์เพรส แอร์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2556 

ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นไทย2 ราย ประกอบด้วย นายยงยุทธ เพ็ชร์สุวรรณ65% และนายโกสินทร์ เธียรสวัสดิ์กิจ 25% และชาวจีนอีก 1 ราย คือ นายมาริโอ เชน10% 

ผลการดำเนินงานปี 2556 ซึ่งเป็นปีแรกของการดำเนินธุรกิจ มีกำไร 1.95 ล้านบาทบริษัท สบายดี แอร์เวย์ส จำกัด จดทะเบียน 9 กรกฎาคม 2555 ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นสัญชาติไทย 4 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2 ราย จีน 1 ราย และเมียนมา 1 ราย ประกอบด้วยนายเชน เจิ้น 20% นางสาวนิตยา ขจรเกียรติชัย 20% บริษัท ชาเลนซ์ อินเวสเม้นท์ จำกัด 15% นายสัณห์ จุฑาวิชชาวุธ 15% นางสาวจุฑาทิพย์ วิลาด 12.5% นายประมุข ไชยวรรณ 7.5% นางฟาติมา เชฟ อัลลี อัลชามชี 7.5% และนายคินชู ไวท 2.5% ผลดำเนินงานปี 2556 กำไร 14.54 ล้านบาท ปี 2555 กำไร 2.59 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ข้อมูลเพียงบางส่วนที่ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า เหตุไฉนนักธุรกิจจึงแห่กันขอใบอนุญาตการบินกันมากมายขนาดนี้ ธุรกิจการบินเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ได้จริง หรือเป็นเพียงแค่ธุรกิจที่ช่วย "สร้างภาพ" กันแน่

ที่สำคัญ หลังได้รับผลกระทบจากมาตรการการตรวจสอบขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO สายการบินเหล่านี้จะยังยืนหยัดต่อไปได้หรือไม่ ยังเป็นประเด็นที่คนในแวดวงธุรกิจการบินจับตามองต่อไป...

ตลท.กระตุ้นรัฐเร่งลงทุน ดึงฟันด์โฟลว์เข้าตลาดฯ

ตลท.กระตุ้นรัฐเร่งลงทุน ดึงฟันด์โฟลว์เข้าตลาดฯ

2015-06-16

“สถิตย์” ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยเงินลงทุนไหลเข้าประเทศ ต่างรอการลงทุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ ส่วนมูลค่าการซื้อขายที่หดตัว ยอมรับมาจากมาตรการสกัดหุ้นร้อน แต่ก็ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีเสถียรภาพที่ดี ด้าน MBKET แนะเข้าสะสมหุ้นได้
นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) คาดว่า เงินทุนไหลเข้าหรือฟันด์โฟลว์ต่างรอการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล เพราะหากมีการลงทุนเร็วก็จะช่วยสร้างแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจในด้านอื่นๆ หรือการลงทุนของภาคเอกชนจะตามมา
“ฟันด์โฟลว์ยังคงรอโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งหากเกิดขึ้นก็จะผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่ฟันด์โฟลว์ก็ดูการเบิกจ่ายงบประมาณด้วยว่าเป็นไปตามกำหนดหรือไม่”
นายสถิตย์ กล่าวย้ำว่า ฟันด์โฟลว์ยังคงรอจังหวะเข้าลงทุนในบริษัทจดทะเบียนที่มีพื้นฐานดีและแข็งแกร่ง
ทางด้านแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ไม่ได้มีปัญหา ซึ่งหากภาครัฐมีการลงทุนจริงตามกำหนด ก็จะทำให้มีการลงทุนของภาคเอกชนตามมา ส่งผลต่อการฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศที่ดีขึ้น รวมถึงภาคการส่งออก ภาคการบริการ การท่องเที่ยวก็จะเป็นปัจจัยเสริมเข้ามาด้วย และหากเศรษฐกิจไทยโดยรวมครึ่งปีหลังดีขึ้น การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯก็จะโดดเด่นขึ้นมาเช่นกัน
ขณะที่มองว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล เงินเฟ้ออยู่ในระดับดี ฐานะการคลังยังดีอยู่ ตลอดจนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของทั้งระบบยังอยู่ในระดับเพียง 2% เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ยังอยู่ในระดับที่แข็งแรง ซึ่งปัจจัยทุกอย่างยังมีเสถียรภาพดี รอเพียงการลงทุนภาครัฐ ขณะที่ยังคาดว่าราคาพืชผลทางการเกษตรในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้นด้วย
นายสถิตย์ กล่าวว่า มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ปรับลดลงเหลือราว 40,000 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้จะอยู่ที่ราว 50,000 ล้านบาท เป็นผลจากมาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯและก.ล.ต.ร่วมมือกันออกมาตรการให้การซื้อขายในตลาดหุ้นมีเหตุผลมากขึ้น ทั้งมาตรการให้สมาชิกต้องดำเนินการให้ลูกค้าวางเงินสดไว้ล่วงหน้ากับสมาชิกเต็มจำนวนที่จะซื้อ(Cash Balance) และเกณฑ์ NET SETTLEMENT หรือการระงับการซื้อขายหุ้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้เป็นมาตรการที่ได้ผล รวมถึงการประชาสัมพันธ์ส่งเสริมให้การซื้อขายมีเหตุผล ได้มาตรฐาน นำไปสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯที่มั่นคง จะหนุนให้เกิดการลงทุนแบบมีเหตุผลในระยะยาว
ขณะที่หุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุดต่อวัน 5 อันดับแรกในช่วงนี้จะเป็นหุ้นพื้นฐาน และมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน จะอยู่ในกลุ่มรายย่อยราวครึ่งหนึ่ง หรือ 2 หมื่นล้านบาท/วัน ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มกองทุนในประเทศ, ต่างชาติ และพอร์ตโบรกเกอร์ ซึ่งถือว่ามีความสมดุลแล้ว จากที่ในช่วงครึ่งหลังปีที่แล้วหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรกเป็นหุ้นเก็งกำไร และมูลค่าการซื้อขายส่วนใหญ่จะอยู่ที่นักลงทุนรายย่อยราว 3 หมื่นล้านบาท/วัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยเริ่มมีเสถียรภาพ
ด้านนายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET กล่าวว่า ทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทยครึ่งปีหลังแม้มองอัพไซด์ไม่สดใสมากนัก โดยยังคาดดัชนีที่ระดับประมาณ 1,650 จุด เนื่องจากมีหลายสัญญาณทางเศรษฐกิจที่สะท้อนว่าดีขึ้นทั้งการบริโภคในประเทศ การท่องเที่ยว และสัญญาณการส่งออกที่กำลังจะฟื้นตัว
"ถ้าปรับทุกอย่างเข้าที่ก็น่าจะดี การใช้จ่ายภาครัฐกำลังจะเดินได้ และที่สำคัญดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ เพราะช่วงดอกเบี้ยต่ำแช่นานอยู่สักพักนักลงทุนก็คงอยากจะกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นอีกครั้ง ด้านดาวน์ไซด์ ขณะนี้หุ้นปรับลงมาเยอะแล้วที่ 1,400 จุดกว่า ตกลงมาเยอะก็เข้าสะสมได้" นายมนตรี กล่าว
นายมนตรี กล่าวว่า สำหรับส่วนแบ่งทางการตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ของบริษัทในบางช่วงอาจจะอยู่ในระดับต่ำกว่าตัวเลขสองหลัก แต่ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล เพราะสิ่งที่บริษัทมุ่งเน้นคือคุณภาพของงายวิจัย ทั้งการเลือกหุ้น, การพิจารณาทิศทางราคา รวมถึงการแนะนำนักลงทุนให้หลีกเลี่ยงหุ้นเสี่ยงบางตัว ซึ่งบางครั้งอาจกำหนดเป็นหุ้น Turnover List เพิ่มจากที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด เช่น ต้องให้วางหลักประกัน 100% ในการซื้อขายหุ้นดังกล่าว หรือถ้าหลุด Turnover List ของตลาดฯ แล้วก็ยังคงมีการเตือนอยู่เช่นกัน
"หลังเข้มงวดหุ้นเป็นหุ้น Turnover List อาจทำให้มาร์เก็ตแชร์หลุด 2 หลักไปบ้างก็ไม่น่าจะมีอะไรน่าหนักใจเพราะเราอนุรักษนิยม ดูแลลูกค้าไม่เสี่ยงเกินไป  ส่วนจะคุมต่ออีกนานหรือไม่นั้น ถ้าปัจจัยพื้นฐานไม่เปลี่ยนแปลงก็ไม่ปล่อยให้หลุดจาก Turnover List ของเรา แต่ถ้าเป็นหุ้นพื้นฐานเราก็สนับสนุน" นายมนตรี กล่าว